×

ธปท. สั่งแบงก์ปรับปรุงดอกเบี้ยผิดนัด-ค่าปรับไถ่ถอน-ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต

07.01.2020
  • LOADING...
ดอกเบี้ยผิดนัด

วันนี้ (7 มกราคม) วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชน SME และปรับปรุงให้เป็นธรรม รวมถึงสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงโดยมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2564

 

1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment) สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด จากเดิมที่ธนาคารบางแห่งคิดค่าปรับจากวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน โดยเกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ แต่ต้องกำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน ทั้งนี้ค่าปรับที่ไม่สูงมากทำให้ SME และประชาชนสามารถเลือกเงื่อนไขที่ดีที่สุด และส่งเสริมตลาด Refinance ในไทย 

 

2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมจะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานของเงินต้นคงเหลือ เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (Installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น ทั้งนี้หากผู้ให้บริการมีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามวิธีเดิม ขอให้ผู้ให้บริการพิจารณาปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร ขณะเดียวกันให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (Grace Period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน 

 

3. ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต จากเดิมที่ลูกค้ายกเลิกการใช้บัตรจะไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปทาง ธปท. ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 4 เรื่องดังต่อไปนี้มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ด้วย

 

(1) ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ

(2) ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ 

(3) ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน  

(4) ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน 

 

การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินของไทย และสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising