×

เสียงโอดครวญจากพนักงานลูกรัก ที่เอะอะหัวหน้าก็เรียกใช้ตลอดเวลา

07.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ถ้าปริมาณงานมากเกินกว่าจะรับไหว คุณภาพของงานก็จะน้อยลงไปด้วย พอคุณภาพงานด้อยลง ตัวคุณเองนี่แหละที่จะแย่ เพราะเมื่อรับจะทำงานนี้ก็ต้องแปลว่าเราทำได้ และคุณเองก็คงไม่อยากเสียชื่อในเรื่องนี้ในเมื่อทำดีมาตลอด
  • องค์กรที่แข็งแรงจะต้องไม่ฝากความหวังไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือคนไม่กี่คน  แต่ต้องให้โอกาสพนักงานทุกคนได้แสดงฝีมือ มีเวทีให้ส่องประกาย

Q: หัวหน้ามักจะเรียกใช้ผมอยู่ตลอด ทั้งๆ ที่มีลูกน้องหลายคน กลายเป็นว่างานของผมหนักมากกว่าคนอื่น แต่ผลตอบแทนเท่ากับคนอื่น ใครๆ ก็มองว่าการเป็นลูกรักเป็นเรื่องดี แต่ผมรู้สึกไม่ดีเลยที่งานหนักกว่าคนอื่น ผมรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันในออฟฟิศ และบางครั้งผมก็ได้รับสายตาแปลกๆ จากเพื่อนร่วมงานกันเองที่รู้สึกว่าผมเป็นลูกรักของหัวหน้า เพื่อนบางคนทำงานน้อยกว่าผมมากในขณะที่ผมทำงานหนักมากและไม่สามารถปฏิเสธงานได้ ผมเคยบอกหัวหน้าไปตรงๆ ว่างานผมหนักมาก หัวหน้าก็ขอร้องให้ผมช่วยหน่อย จนตอนนี้ผมรู้สึกอึดอัดกับการที่ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น และยังถูกมองจากคนรอบข้างแบบแปลกๆ อีก ผมควรทำอย่างไรดีครับ

 

A: อย่างแรกเวลาที่เกิดปัญหาใดๆ ก็ตาม ผมอยากให้มองเห็นเรื่องดีที่มันซ่อนอยู่ในแต่ละปัญหาก่อน อย่างแรกคือคุณไม่ควรรู้สึกไม่ดีที่ตัวเองมีความสามารถ คุณควรภูมิใจนะครับที่ความสามารถของคุณเป็นที่ยอมรับจากหัวหน้า เห็นได้ชัดว่าหัวหน้าไว้วางใจคุณจนคุณมักจะเป็นคนแรกๆ ที่เขามั่นใจว่าจะจัดการกับงานที่มอบหมายให้ได้ เอาว่ามีปัญหาแบบไหนมาก็ตามเขาก็เชื่อว่าคุณจะจัดการกับมันได้ ผมคิดว่าปัญหาที่คุณเผชิญอยู่นี้ก็อยากให้คุณรู้สึกว่าคุณจะจัดการได้เช่นกันครับ อย่ารู้สึกไม่ดีที่ตัวเองมีความสามารถเพียงเพราะเราต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น อย่ารู้สึกว่าเราน่าจะเก่งน้อยกว่านี้หรือทำดีให้น้อยกว่านี้จะได้ไม่ต้องเหนื่อย ผมว่าคนที่น่าจะรู้สึกไม่ดีคือคนที่ไม่ได้พยายามเท่าคุณมากกว่านะครับ (แต่ถ้าเขาจะไม่อายก็แล้วแต่เขาแล้วกันนะ ฮ่าๆ)

 

เรื่องท่าทีแปลกๆ ของเพื่อนร่วมงานที่มองว่าคุณเป็นลูกรักนั้น อันนั้นต้องปล่อยไปครับ ต้องทำใจ เรื่องคนนินทาลับหลังมีอยู่แล้ว เจอกันทุกคน คุณได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าก็มาจากผลงานของคุณ ถ้ามันจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี ผมว่าก็ต้องปล่อยนะครับ คุณทำงานได้ดีอยู่แล้ว ควรต้องรักษามาตรฐานที่ดีนี้ไว้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกไม่ดีเพราะคนอื่นรู้สึกไม่ดีกับการที่คุณมีผลงานที่ดี จะให้ทำผลงานให้ดีน้อยลงเพื่อให้คนอื่นชอบ ผมว่ามันคงไม่ใช่สิ่งที่คนเก่งอย่างคุณอยากจะทำหรอกใช่ไหมล่ะครับ อย่าใส่ใจไปครับ

 

อีกอย่างคือ คุณควรแยกให้ออกว่าคนแบบไหนควรใส่ใจ มิตรที่ดีจะชื่นชมยินดีเมื่อมิตรทำสิ่งที่ดี เห็นเพื่อนก้าวหน้า เพื่อนมีโอกาสที่ดี ก็จะเป็นกำลังใจให้ด้วย แต่คนที่เห็นคนอื่นทำดีแล้วรู้สึกไม่ดี รู้สึกหมั่นไส้ คนแบบนั้นเราควรใส่ใจไหมล่ะครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนแบบหลังมีเยอะไหมในที่ทำงานคุณจนคุณรู้สึกเปล่าเปลี่ยว แต่ยอมอยู่กับความดีอย่างโดดเดี่ยวน่าจะดีกว่ายอมอยู่กับความเลวร้ายเพียงเพื่อให้ได้อยู่ท่ามกลางผู้คน คุณว่าไหมล่ะครับ และผมก็เชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกแปลกๆ กับคุณแบบนั้น ต้องมีคนที่ชื่นชมความสามารถของคุณ และมองคุณด้วยความยินดีและเห็นใจคุณอยู่ เอาเป็นว่าอย่างน้อยก็มีผมคนหนึ่งที่เป็นกำลังใจให้นะครับ

 

เรื่องความสามารถที่คุณมีก็ขอให้คุณพัฒนามันต่อไป ทำดีแล้วขอให้ทำดียิ่งขึ้นไปอีก ตอนนี้ที่เหลือคือการหาวิธีการจัดการกับงานที่ทำอยู่ให้ไม่หนักเกิน เพราะแน่นอนครับว่าถ้าปริมาณงานมากเกินกว่าที่คนหนึ่งคนจะรับไหว คุณภาพของงานก็จะน้อยลงไปด้วย พอคุณภาพงานด้อยลง ตัวคุณเองนี่แหละครับที่จะแย่ เพราะเมื่อรับแล้วว่าจะทำงานนี้ก็ต้องแปลว่าเราทำได้ และคุณเองก็คงไม่อยากเสียชื่อในเรื่องนี้ในเมื่อทำดีมาตลอด

การปฏิเสธบางครั้งก็เพื่อปกป้องคุณภาพงาน คุณต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าทำได้ขนาดไหน เมื่อไรที่รับปากที่จะรับงานนั้นแปลว่าคุณมั่นใจว่าจะรับผิดชอบได้

ลองเอางานทั้งระบบมากางเลยครับ ว่าถ้างานจะสำเร็จได้ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง หารือกับหัวหน้าและลูกน้องร่วมกันเลยว่าคุณต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น ต้องการให้ช่วยกระจายงานออกไป ต้องการขอกำลังสนับสนุน ต้องการข้อมูลบางอย่าง ต้องการการตัดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนล่าช้าออก ฯลฯ ยิ่งคุณสามารถมีปัจจัยที่เอื้อต่อการทำงานให้ดีได้มากขึ้นเท่าไร ความเหนื่อยความหนักที่คุณรู้สึกว่าต้องแบกในงานนี้ก็จะน้อยลง   

 

บางครั้งเราอย่าเป็น Mr.Yes อย่างเดียวนะครับ ต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธให้เป็น (แต่ไม่ได้แปลว่าต้องเป็น Mr.No ที่เอะอะก็ “ไม่” ไว้ก่อนนะครับ) การปฏิเสธบางครั้งก็เพื่อปกป้องคุณภาพงาน คุณต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าทำได้ขนาดไหน เมื่อไรที่รับปากที่จะรับงานนั้นแปลว่าคุณมั่นใจว่าจะรับผิดชอบได้ ถ้างานมันเยอะเกินไปแล้วคุณควบคุมคุณภาพไม่ได้ ทุกอย่างมันจะเสียหมด งานก็เสีย ชื่อเสียงคุณก็เสีย หัวหน้าก็เสีย ลูกน้องก็เสีย และใจคุณนี่แหละครับที่จะเสียไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าประเมินด้วยเหตุผลแล้วมันมากเกินไปก็ต้องหนักแน่นที่จะขอปฏิเสธ หรือให้การช่วยเหลือด้วยวิธีอื่นแทน เรื่องนี้จำเป็นต้องคุยกับหัวหน้าครับ

 

แทนที่จะรู้สึกเสียกำลังใจ ผมอยากให้คุณลองมองในมุมว่าคุณได้รับโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือมากเลยนะครับ และบางทีนี่อาจเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งว่าคุณจะก้าวไปอีกขั้นได้หรือเปล่า คุณยิ่งทำคุณยิ่งเก่ง ประสบการณ์ยิ่งเยอะ เพียงแต่คุณต้องหาทางบริหารงานที่มีอยู่ในมือให้ออกมาดี รู้ว่าอะไรควรปล่อย อะไรควรพอ อะไรควรเอาไว้ มันมีทางออกครับ

 

ข้อดีอย่างหนึ่งคือคุณมีผลงานที่ดีให้เห็นอยู่แล้ว ใช้โอกาสนี้ในการปรึกษาเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณไปด้วยเลยครับ การที่คุณรู้ว่าหลักไมล์ต่อไปของคุณคืออะไร คุณจะรู้ว่าคุณจะทุ่มเทหรือยอมเหนื่อยเพื่ออะไร หรือประเมินได้ว่าคุ้มหรือไม่คุ้มกับที่ต้องทุ่มเท ถ้าบริษัทเห็นความตั้งใจของคุณ และคุณสามารถไปถึงเป้าหมายตามที่ตกลงกันได้ ก็จะเป็นความสำเร็จของคุณไปด้วย แต่ถ้าทำงานขนาดนี้แล้วบริษัทไม่ได้มีแผนรองรับด้านความก้าวหน้าให้คุณ คนทำงานหนักแต่ไม่ได้การตอบแทนที่คุ้มค่า หรือไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะเติบโตไปเป็นอะไร ผมก็อยากบอกคุณว่าอย่าเพิ่งเสียกำลังใจไป เพราะตอนนี้ต้นทุนความสามารถที่คุณมีในมืออยู่แล้วสามารถทำให้คุณไปเติบโตที่ไหนก็ได้ ผมถึงบอกว่างานเป็นสิ่งที่ยิ่งทำก็ยิ่งได้กับตัวเราเองครับ เพียงแค่เราต้องอยู่ในที่ที่เรามีคุณค่า และไม่เอาเปรียบเรา อย่าให้เรากลายเป็นคนดีคนเก่งที่ถูกรังแก

 

ในมุมของหัวหน้า ผมก็เข้าใจนะครับว่ามันง่ายและสบายใจที่เราจะมอบหมายงานให้คนที่เรารู้ว่าให้ทำอะไรก็จะไม่มีปัญหา ให้ทำอะไรทำได้หมด และทำได้ดีด้วย แถมหัวหน้าไม่ต้องลงไปดูตลอดให้เหนื่อยแรง แต่อย่างที่คุณได้แชร์ให้พวกเรานี่แหละครับ บางทีการมอบหมายให้ใครคนหนึ่งทำงานอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้องค์กรเสียไปด้วย เพราะคนที่ทำงานก็จะได้ทำงานเป็นบ้าเป็นหลังเหลือเกินจนบางทีมันเหนื่อยเกิน เอะอะก็เราตลอด วันหนึ่งเขาก็อาจจะหาทางไปที่อื่นเพราะแบกงานตรงนี้ไม่ไหวก็ได้เพราะงานก็หนัก ผลตอบแทนก็ไม่ก้าวหน้าตาม สุขภาพก็เสีย และลองคิดถึงว่าถ้าที่ผ่านมาเราให้คนคนหนึ่งทำทุกอย่างจนเขาแทบจะแบกอนาคตขององค์กรเอาไว้ แล้วเกิดเขาลาออกไปขึ้นมาองค์กรจะอยู่ต่ออย่างไรครับ เช่นเดียวกัน พนักงานบางคนอาจจะมีความสามารถซ่อนอยู่ แต่ถ้าหัวหน้าไม่ให้โอกาสเขาได้มีเวที หรือให้โอกาสเรียนรู้งาน พนักงานบางคนอยากทำงานเหลือเกินแต่หัวหน้าไม่ให้โอกาสเขาสักที เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าในสายตาองค์กร อยู่ไปก็ไม่โต ท้ายที่สุด องค์กรก็จะเสียพนักงานดีๆ ไป

 

นั่นแปลว่าองค์กรที่จะแข็งแรงต้องไม่ฝากความหวังไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือคนไม่กี่คน แต่ต้องให้โอกาสพนักงานทุกคนได้แสดงฝีมือ มีเวทีให้ส่องประกาย บางทีหัวหน้าอาจจะต้องยอมเหนื่อยหน่อยในการสร้างคนเก่งให้เพิ่มขึ้นหลายคน ต้องยอมเสี่ยง บางครั้งเราต้องเอานักรบที่ไม่ได้เก่งที่สุดไปสู้เพื่อให้เขาได้ฝึก และพอเขาฝึกฝนได้มากพอเขาก็จะกลายเป็นนักรบที่เก่งขึ้น แต่หัวหน้าต้องเชื่อก่อนนะครับว่าคนทุกคนพัฒนาได้ ทุกคนเก่งขึ้นได้ถ้าเราให้โอกาส เราอาจจะมีเพชรที่ยังไม่ได้รับการเจียระไนอยู่แล้วในมือเต็มไปหมดก็ได้นะครับ

 

และสำหรับคนเป็นหัวหน้า ในขณะที่เราสร้างลูกน้อง ลูกน้องก็กำลังสร้างเราให้เป็นหัวหน้าด้วย เราฝึกการเป็นหัวหน้าได้จากการสร้างลูกน้อง จะเป็นหัวหน้าที่ดีได้ถ้าเราเริ่มจากให้โอกาสลูกน้องก่อน ฝึกเขา ขัดเกลาเขา มันเหนื่อยแน่ครับแต่มันคุ้ม และในระยะยาวถ้าเราสร้างคนเก่งในองค์กรได้มากขึ้น องค์กรก็จะก้าวไปได้ไกล หมั่นให้กำลังใจลูกน้องบ่อยๆ เขาจะได้รู้ว่าเขามีความหมาย และรู้ว่ามีคนเฝ้ามองเขาอยู่

 

เป็นกำลังใจให้ทั้งคนเป็นหัวหน้าและคนเป็นลูกน้องครับ

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising