Q: เวลาผมทำงาน บางทีก็มีความเห็นที่ขัดกับสิ่งที่หัวหน้าคิด แต่เพื่อนร่วมงานก็มักจะบอกว่าอย่าไปเห็นต่างกับหัวหน้าให้มากนักเดี๋ยวจะซวย และก็บอกให้ผมทำตามไปเถอะ เพราะมันเป็นคำสั่งที่หัวหน้าสั่งมา ผมเองก็เคยแสดงความเห็นทักท้วงหัวหน้าไปเหมือนกันว่าสิ่งที่เขาคิดมันยังมีช่องโหว่อยู่ ปรากฏว่าพอท้วงไปแบบนั้น ทั้งห้องประชุมเงียบกริบ หัวหน้าเองก็ไม่ฟัง และบอกให้ทำตามหัวหน้า บางทีผมก็ต้องทนทำๆ ไปทั้งๆ ที่มันไม่เวิร์ก ผมรู้สึกแย่มากเลยครับที่ต้องทำงานไม่ดีออกไป แต่เราต้องทำตามที่หัวหน้าสั่ง ผมควรทำตัวอย่างไรดีครับ
A: เรื่องดีมากๆ เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นจากเรื่องนี้ก็คือ ดีแล้วครับที่คุณรู้สึกไม่ดีที่ต้องทำงานไม่ดีออกไป เพราะถ้าคุณไม่รู้สึกอะไรที่ตัวเองต้องยอมทำงานแบบถีบๆ ส่งๆ ไปให้มันจบๆ ตามหัวหน้าสั่ง อันนั้นแปลว่าการทำงานมันกลืนกินความตั้งใจของคุณไปหมดแล้ว ซึ่งมันไม่เป็นประโยชน์กับทั้งคุณและองค์กรเลย เพราะฉะนั้น ผมดีใจที่คุณ ‘รู้สึก’ ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและอยากจะแก้ไขปัญหานี้
ผมคิดว่าหัวหน้ามีส่วนสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นได้ในสองทิศทางคือ สร้าง ‘Boss Culture’ หรือสร้าง ‘Leader Culture’ โดยทั้งสองแนวทางนี้มีความแตกต่างกันอยู่ครับ
Boss Culture คือวัฒนธรรมการทำงานแบบมองหัวหน้าเป็น ‘เจ้านาย’ คำสั่งของเจ้านายคือประกาศิตที่ลูกน้องต้องทำตามโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะผิดหรือถูก ภายใต้ Boss Culture นั้น ทุกอย่างเหมือนจะเงียบสงบเพราะไม่มีใครโต้แย้ง บอกให้หันซ้ายก็หันซ้าย บอกให้หันขวาก็หันขวา หัวหน้าบางคนจะชอบวิธีนี้เพราะบอกอะไรทุกคนทำตามหมด แต่ที่จริงแล้วในใจของคนทำงานอาจจะทุกข์มากเพราะรู้สึกเหมือนถูกบังคับ ถูกใช้อยู่ตลอด วิธีการทำงานแบบ Boss Culture นี้ไม่ได้ให้คุณค่ากับความสามารถของคนทำงานเท่าไรนัก แต่ให้ความสำคัญกับการทำตามคำสั่ง แต่ที่จริงพนักงานแต่ละคนมีความเก่ง มีความคิด เมื่อไรก็ตามที่เขาเหลือบทบาทเพียงแค่ทาสที่ต้องทำตามคำสั่งของนาย เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ใช้ความคิดอะไร สุดท้ายก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย
พนักงานหลายคนอาจจะเริ่มต้นจากการเป็นคนมีไฟ เข้ามาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่พอมาเจอการทำงานแบบ Boss Culture ไฟที่มีก็ดูจะมอดไหม้ลงไป เพราะเขาแทบไม่ต้องใช้ความคิดอะไร บางทีเขาอยากจะใช้ไฟที่เขามีให้เป็นประโยชน์นะครับ แต่พอบอกหัวหน้าไป ท้วงหัวหน้าไป ก็โดนยิงเสียเละ เสียกำลังใจไปหมด อุตส่าห์คิดมาดี อุตส่าห์ตั้งใจดี คนอื่นมาเห็นว่าคนที่คิดแตกต่างแล้วจะโดนเชือดแบบนี้ก็จะไม่อยากเอาตัวเองไปถูกเชือดแบบนั้น ก็จะอยู่แบบสงบปากสงบคำแทน ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว คิดไปหัวหน้าก็ไม่เอา หรือโดนสิ่งแวดล้อมสอนว่าให้ทำตามหัวหน้าสั่งไปเถอะ เถียงไปเดี๋ยวก็ซวย เขาก็จะรู้สึกแบบที่คุณเป็นอยู่แหละครับว่าไม่มีความสุขเลยเพราะไม่ได้ใช้ความสามารถของตัวเอง
ในทางการพัฒนาพนักงานเหมือนกันครับ Boss Culture ทำให้พนักงานอ่อนแอ เพราะเขาจะรอหัวหน้าสั่งอย่างเดียว ถ้าหัวหน้าไม่สั่งก็ไม่ทำ เขาอาจจะได้บทเรียนมาแล้วว่ากล้าคิดกล้าแสดงความเห็นไปก็เท่านั้น งั้นบอกเลยแล้วกันว่าจะให้ทำอะไร พอเป็นแบบนี้เราก็จะมีพนักงานที่ไม่มีความสุขในการทำงาน มาทำงานแบบซังกะตาย รอคำสั่งอย่างเดียว อย่าได้หวังว่าพนักงานจะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ เราก็จะได้พนักงานที่เหมือนไม้ตายซากมาทำงาน
สุดท้ายงานที่ออกมาก็เป็นงานที่ไม่มีประสิทธิภาพครับ เพราะไม่ได้ผ่านการช่วยกันคิดช่วยกันทำ ความคิดของหัวหน้าไม่ถูกที่สุดเสมอไป การทำงานเป็นทีมที่ดีคือการช่วยกันตีฟูความคิดให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนมีความสามารถของตัวเอง ถ้าได้นำมาใช้อย่างมีประโยชน์ งานมันก็จะดีขึ้นกว่าการคิดคนเดียวแน่นอน
ปัญหาของ Boss Culture ที่น่ากลัวคือการสืบทอดวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ จากหัวหน้าสู่ลูกน้องรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนฝังรากลึก องค์กรก็จะเต็มไปด้วยคนที่ไม่กล้าคิดอะไรใหม่ๆ เต็มไปด้วยคนที่กลัวหัวหน้า เต็มไปด้วยหัวหน้าที่น่าเกรงขามแต่ไม่ได้หัวใจของพนักงาน ไม่ได้ความเคารพจากพนักงาน คนจะเคยชินกับการใช้อำนาจในการทำงาน แต่คนเราทำงานด้วยกันใช่ว่าเราจะใช้แต่อำนาจอย่างเดียวเสียที่ไหนล่ะ ว่าไหมครับ
ส่วนการทำงานแบบ Leader Culture คือการมองหัวหน้าในฐานะ ‘ผู้นำ’ ผู้นำในที่นี้ไม่ได้แปลว่ามีใครโดดเด่นคนเดียว แต่หน้าที่ของผู้นำคือการสร้างผู้นำให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม ทุกคนต้องกล้าแสดงความคิดเห็น หรือถ้าเห็นว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ต่องานก็ต้องกล้าคิดกล้าพูดออกมาได้ ไม่เกี่ยวกับว่าคนพูดตำแหน่งอะไร และถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อการทำงาน ทุกคนจะต้องฟัง ผู้นำที่ดีจะไม่คิดว่าการถูกทักท้วงเป็นการแหกหน้า แต่เป็นการช่วยกันอุดรูรั่ว หรือเป็นการทำให้งานออกมาดีขึ้น ผู้นำที่ดีจะไม่คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด แต่ต้องให้พื้นที่ให้โอกาสคนทำงานที่มีความสามารถได้ทำงาน แน่นอนว่าหัวหน้าทำไม่ได้ทุกอย่างหรอกครับ แต่เขาต้องรู้ว่าถ้าจะเป็นผู้นำที่ดี เขาต้องทำให้คนทำงานที่มีความสามารถได้ทำงานเต็มที่ และต้องเปิดโอกาสรับฟังความเห็นที่แตกต่าง เพราะความเห็นที่แตกต่างนี่แหละที่จะช่วยให้เราพัฒนางานได้ดีขึ้น มองอะไรจากมุมของเราแค่คนเดียวอาจจะไม่ครบถ้วน แต่ถ้าเราอยากมองให้รอบด้าน เราต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นได้บอกสิ่งที่เป็นมุมมองของเขา แล้วกรองสิ่งที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงงานของเราด้วย เพราะสุดท้าย เมื่องานออกมาดี มันก็เป็นความภูมิใจของพวกเราทุกคน
ข้อดีของ Leader Culture ก็คือไม่ต้องรอให้หัวหน้าสั่ง คนก็สามารถทำงานได้ เพราะเขารู้ว่าเขามีความหมาย เขาสามารถใช้ความสามารถของเขาได้เต็มที่ คนมองมาที่หัวหน้าแล้วรู้สึกมีศรัทธา เขาทำงานไม่ใช่เพราะหัวหน้าสั่งมาว่าต้องทำ แต่ทำงานเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดี คนจะทำงานด้วยใจ ด้วยความสามารถ มากกว่าความรู้สึกว่าต้องถีบๆ มันส่งออกไปให้จบๆ
แต่แน่นอนครับว่า Leader Culture มันไม่ง่าย ว่ากันตามตรง สั่งเอาแบบ Boss สั่งน่าจะง่ายกว่า บอกมาคำเดียวทุกคนทำตามหมด แต่ประโยชน์ที่ได้กับองค์กรคงแตกต่างกัน
โดยส่วนตัว ผมคิดว่าการทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้น เราควรทำตามหัวหน้าไม่ใช่เพราะด้วยเหตุผลว่าหัวหน้าสั่งมา แต่เพราะสิ่งที่หัวหน้าบอกมาเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่หัวหน้าให้ทำเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือมันอาจจะไม่เวิร์ก เราก็มีสิทธิ์ทักท้วงได้ แต่เป็นการทักท้วงบนพื้นฐานของความตั้งใจอยากให้ผลงานออกมาดี และวิธีการทักท้วงก็ต้องเป็นในทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อการทำให้ใครขายหน้า ไม่ว่าใครก็ไม่อยากถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองโง่ทั้งนั้น สิ่งที่เขาผิดอาจจะผิด อาจจะไม่ครบถ้วน แต่ไม่ได้แปลว่าเราจำเป็นต้องไปแหกหน้าเขา ผมคิดว่าถ้าเราบอกด้วยความสุภาพและสื่อในเห็นเจตนาที่ดีของเรา หัวหน้าที่ดีก็ไม่ควรจะโกรธ แต่บอกแล้วเขาจะฟังไหมก็สุดแล้วแต่เขา
ผมคิดว่าถ้าเราเห็นเค้าลางว่างานที่ทำมันจะไม่เวิร์กแล้วหัวหน้าก็ยังดึงดันที่จะทำอยู่ ผมคิดว่าหน้าที่ของเราคือบอกผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับหัวหน้า และบอกว่ามันจะดีขึ้นได้ถ้าทำอย่างไร บอกด้วยเหตุผล ไม่ได้บอกไปแค่ลอยๆ ว่าเราแค่รู้สึกว่ามันจะไม่เวิร์กเฉยๆ ถือว่าเราได้บอกแล้ว และสุดท้ายถ้ามันไม่เวิร์กขึ้นมาจริงๆ อย่างที่เราได้บอกไว้ ผมคิดว่าหัวหน้าก็คงได้เห็นเอง และรู้สึกว่าเขามีส่วนทำให้งานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บางครั้งเราก็ต้องปล่อยให้เขาล้มบ้าง แต่ก่อนจะให้เขาล้ม เราบอกเขาแล้วว่าถ้าทำแบบนั้นแล้วจะล้มหน้าคะมำแล้วเขายังดึงดันที่จะทำก็ต้องปล่อยให้เป็นบทเรียนของเขา อย่างน้อยเราได้บอกแล้ว มันดีกว่าเราทำไปทั้งที่รู้ว่าไม่เวิร์กและก็เงียบมาตลอด สุดท้ายมันไม่เวิร์กจริงๆ หัวหน้าจะมาว่าเราอีกว่าทำไมไม่บอกเขา
ถ้าได้ลองแล้ว ทำสุดความสามารถแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสียใจ เพราะคนกล้าคิดกล้าพูดและอยากทำงานให้ดี ไปอยู่ที่ไหนที่เป็น Leader Culture ก็เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและเติบโตได้ครับ
ผมจะบอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับทุกงาน คนบางคนอาจจะเหมาะกับ Boss Culture คนบางคนอาจจะเหมาะกับ Leader Culture มันไม่มีผิดหรือถูก มีแต่ว่าองค์กรแบบไหนเหมาะกับเรา ถ้าอยากเติบโตใน Boss Culture หน้าที่ของเราคือทำทุกอย่างตามที่หัวหน้าสั่ง อวยหัวหน้าให้สุด ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาเห็นเราเป็นลูกรัก อย่าได้ขัดใจเขา เชื่องให้ได้มากที่สุด เขาไม่ได้ต้องการคนคิด เขาต้องการคนทำตาม แต่ถ้าอยากเติบโตใน Leader Culture หน้าที่ของเราคือกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ทำตัวเองให้เก่ง สนับสนุนให้คนอื่นเก่งขึ้น เป็นทั้งผู้นำและผู้ตามในคนเดียวกันได้
อยากโตแบบเป็น Boss หรือ Leader ให้เลือกไปอยู่องค์กรที่มี Culture แบบนั้นครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์