×

พื้นที่พิพาทชายแดน ‘จีน-อินเดีย’ ระอุ ทหารปะทะเดือดรอบใหม่ ส่งสัญญาณตึงเครียด

16.12.2022
  • LOADING...

เหตุขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียในพื้นที่พิพาทชายแดนรัฐอรุณาจัลประเทศปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังทหารทั้งสองฝ่ายเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด จนได้รับบาดเจ็บหลายราย 

 

โดยอินเดียอ้างว่า กองทัพของตนพยายามต่อต้านทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army: PLA) ที่เปิดฉากโจมตีเพื่อหวังเปลี่ยนสถานภาพที่เป็นอยู่ (Status Quo) ในพื้นที่พิพาท

 

ขณะที่เหตุปะทะในพื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยครั้งล่าสุดนี้แม้จะไม่มีรายงานความสูญเสียที่รุนแรง แต่ก็ส่งผลให้บรรยากาศความสัมพันธ์บริเวณชายแดนระหว่างจีนและอินเดียร้อนระอุขึ้นไม่น้อย

 

การปะทะรอบล่าสุด

ข้อมูลเหตุปะทะดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย รัชนาถ สิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินเดีย ในการชี้แจงต่อสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ธันวาคม) โดยเขายืนยันว่า ทหารอินเดียได้ต่อต้านความพยายามของ PLA ที่รุกล้ำเส้นแบ่งพื้นที่พิพาทบริเวณพื้นที่แยงซี เขตตาวัง รัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่เกิดการปะทะบ่อยครั้งระหว่างสองฝ่ายตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 

 

The Indian Express อ้างข้อมูลแหล่งข่าวระบุว่า การปะทะเกิดขึ้นในเวลา 03.00 น. โดยทหารจีนราว 300 นายได้รุกล้ำเข้ามาในฝั่งอินเดีย และเกิดการ ‘ตะลุมบอน’ กันขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า

 

แต่เนื่องจากข้อตกลงไม่ใช้อาวุธปืนที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกัน เพื่อจำกัดขอบเขตของความขัดแย้ง ทำให้อาวุธที่ใช้ในการปะทะคือท่อนไม้และไม้ตะพด

 

หลังถูกโจมตี ทหารอินเดียราว 70-80 นาย ได้ระดมพลอย่างรวดเร็ว และพยายามผลักดันทหารจีน ซึ่งการต่อสู้เกิดขึ้นราว 2-3 ชั่วโมง 

 

ผลจากการปะทะไม่มีทหารฝ่ายไหนเสียชีวิต แต่มีรายงานว่า ทหารอินเดียได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 20 นาย และกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนทหารจีนไม่มีรายงานปรากฏ 

 

ขณะที่กองทัพอินเดียระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ว่า หลังเกิดเหตุ ทหารของทั้งสองฝ่ายได้ออกจากพื้นที่พิพาททันที

 

เหตุปะทะรอบนี้ถือเป็นการเผชิญหน้าที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ปะทะนองเลือดที่หุบเขากาลวานในภูมิภาคลาดักห์ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2020 

 

ในครั้งนั้นทหารสองฝ่ายมีการใช้อาวุธที่ร้ายแรงกว่า อย่างเช่น ก้อนหินและท่อนเหล็กติดตะปู ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบราย โดยอินเดียเปิดเผยว่า ทหารของตนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 20 นาย ส่วนฝ่ายจีนเผยว่า มีทหารที่เสียชีวิต 4 นาย

 

หลังเกิดเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ทางผู้บัญชาการกองทัพอินเดียได้ประชุมร่วมกับผู้บัญชาการของ PLA เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ซึ่งอินเดียขอให้จีนรักษาสันติภาพในพื้นที่ชายแดน ขณะที่ประเด็นนี้ยังถูกหยิบยกในการพูดคุยระดับการทูตระหว่างสองประเทศเช่นกัน

 

อินเดียเลี่ยงพูดสถานการณ์จริง

The Telegraph รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อาวุโสกองทัพอินเดีย ซึ่งระบุว่า อินเดียมักจะปกปิดข้อมูลจริงของเหตุการณ์ปะทะกับทหารจีน

 

โดยที่ผ่านมาแทบทุกเดือนเกิดการเผชิญหน้าและการปะทะหลายครั้งระหว่างทหารจีนและอินเดียในพื้นที่พิพาทรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทัพอินเดียได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการไม่ให้พูดถึงเหตุการณ์และผลกระทบจากการปะทะ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณชน

 

“การเผชิญหน้ากับ PLA กลายเป็นลักษณะทั่วไปที่พบได้ตามแนวชายแดนรัฐอรุณาจัลประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แยงซี ซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน” เขากล่าว พร้อมยืนยันว่า ทหารจีนรุกได้ล้ำพื้นที่พิพาทฝั่งอินเดียบ่อยขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา”

 

ภูมิหลังความขัดแย้ง

สำหรับพื้นที่พิพาทพรมแดนจีน-อินเดียที่เรียกว่า เส้นแบ่งแนวควบคุมตามจริง (Line of Actual Control: LAC) มีความยาว 4,056 กิโลเมตร เกิดขึ้นหลังสงครามจีน-อินเดียในปี 1962 ซึ่งอินเดียเป็นฝ่ายแพ้ 

 

เส้นแบ่ง LAC นั้นส่วนมากเป็นเพียงเส้นลากในแผนที่และเป็นพื้นที่ตามธรรมชาติที่ไม่มีการแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ไว้ จึงมักเกิดเหตุปะทะกัน โดยแต่ละฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายละเมิดเส้น LAC เมื่อมีการลาดตระเวนมาเจอกัน หรือเกิดความเข้าใจผิดในแนวปฏิบัติของหน่วยทหารในพื้นที่

 

ขณะที่ทั้งสองฝ่ายยึดถือความยาวของเส้น LAC ต่างกัน ฝั่งอินเดียระบุว่า LAC มีความยาวทั้งสิ้น 3,488 กิโลเมตร แต่จีนยืนยันว่า มีความยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร และอ้างสิทธิ์ครอบครอง โดยระบุในแผนที่เส้นแบ่งเขตแดน ซึ่ง LAC มีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่

 

  • ส่วนตะวันออก แบ่งดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐสิกขิมของอินเดียกับจีน 
  • ส่วนกลาง แบ่งรัฐหิมาจัลประเทศและรัฐสิกขิมของอินเดียกับจีน 
  • ส่วนตะวันตก แบ่งดินแดนสหภาพลาดักของอินเดียกับจีน

 

ในปี 2021 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังประกาศว่า พื้นที่รัฐอรุณาจัลประเทศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยอ้างว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของทิเบตใต้

 

ซึ่งการควบคุมรัฐอรุณาจัลประเทศจะทำให้รัฐบาลปักกิ่งสามารถโอบล้อมภูฏาน และแยกรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียได้

 

ความพยายามของจีนยิ่งซับซ้อนขึ้น โดยปักกิ่งถูกกล่าวหาว่าพยายามส่งคนเลี้ยงสัตว์ชาวจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐานและหาพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ในรัฐอรุณาจัลประเทศ และสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร อาทิ คอกม้า ก่อนที่กองกำลังทหาร PLA จะเข้าไปในพื้นที่ภายใต้เงื่อนไขการป้องกันพลเรือน และเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่ของพื้นที่พรมแดนไปโดยปริยาย

 

“พวกเขาใช้วิธีการต่างๆ เพื่อยึดครองดินแดนของเรา บางครั้งพวกเขาส่งคนเลี้ยงแกะของพวกเขาเข้าไปในดินแดนของเรา และสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับพวกเขาเอง จากนั้น PLA จึงเข้าอ้างสิทธิ์ในดินแดนดังกล่าว” หนึ่งในเจ้าหน้าที่อินเดียกล่าว และเปิดเผยว่า “PLA ยังมาในช่วงกลางคืนและวางก้อนหินบนดินแดนของอินเดีย ซึ่งในระหว่างการลาดตระเวนช่วงกลางวัน พวกเขาได้รวบรวมก้อนหิน เพื่อทำให้มีรูปร่างเหมือนกำแพง และใช้อ้างสิทธิ์ในดินแดนของเรา”

 

นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังเปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ว่า มีหมู่บ้านที่จีนสร้างขึ้น 2 แห่งภายในดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย

 

อินเดียทดสอบมิสไซล์ข้ามทวีป โจมตีได้ทั่วจีน

ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดที่เป็นอยู่ ล่าสุดวานนี้ (15 ธันวาคม) อินเดียยังได้ประกาศความสำเร็จในการทดสอบยิงมิสไซล์ข้ามทวีปอัคนี-วี ที่มีศักยภาพสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ และมีพิสัยโจมตีไกลถึง 5,400 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมเกือบทั้งแผ่นดินจีน 

 

การทดสอบมิสไซล์อัคนี-วี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งก่อนการทดสอบ ทางการอินเดียได้ประกาศเขตห้ามบินในอ่าวเบงกอล โดย ปราลฮัด โจชิ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการรัฐสภา เปิดเผยว่า มิสไซล์ถูกยิงทดสอบจากเกาะอับดุลคาลัม ทางตะวันออกของรัฐโอริสสา 

 

ขณะที่การทดสอบมิสไซล์ข้ามทวีปดังกล่าวเป็นไปตามความพยายามของรัฐบาลนิวเดลี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศของกองทัพ

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามแสดงแสนยานุภาพนี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลดทอนบรรยากาศตึงเครียดและการเผชิญหน้าระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องจับตามองว่าสถานการณ์อันร้อนระอุครั้งนี้จะปะทุขึ้นอีกหรือไม่ 

 

โดยที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย และประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ได้พบปะและทักทายกันระหว่างการประชุมผู้นำ G20 ที่เกาะบาหลี เมื่อเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ไม่ได้มีการพูดคุยหรือเริ่มต้นความพยายามเพื่อหาทางออกในข้อพิพาทชายแดนนี้แต่อย่างใด

 

ภาพ: Photo credit should read Sanjay Baid / Eyepix Group / Future Publishing via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising