×

เปิด 2 มาตรการลดผลกระทบรีดภาษี Global Minimum Tax 15% ‘BOI’ ยัน ไม่สะเทือน FDI

14.01.2025
  • LOADING...

BOI วาง 2 มาตรการรองรับ 1,000 บริษัท ลดผลกระทบจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax (GMT) 15% ชี้เป็นแนวทางเปิดโอกาสให้เลือกรับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ในไทย พร้อมหนุน Entertainment Complex

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เปิดเผยว่า กรณีการบังคับใช้พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax (GMT) ในอัตราขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ว่า BOI อยู่ระหว่างการเตรียมออกมาตรการลดผลกระทบจากการเข้าร่วม OECD หรือการขึ้นภาษี GMT 15% จากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนการลงทุนแน่นอน ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 1,000 บริษัทที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ และอีกราว 100 บริษัทเป็นของไทย

 

“บริษัทส่วนใหญ่กังวลว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทยังสามารถแข่งขันได้ ในขณะที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมให้รัฐบาล BOI เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว คือเปิดโอกาสให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของอัตราปกติแทนการยกเว้นภาษี แต่จะให้เวลานานขึ้น 2 เท่าเพื่อให้การคำนวณอัตราภาษีใกล้เคียงกับ 15% มากที่สุด”

 

โดยหลักๆ จะมี 2 มาตรการคือ 1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ (ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2566 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566) เปิดโอกาสให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 50% ของอัตราปกติ แทนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยจะให้ระยะเวลานานขึ้น 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้การคำนวณอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate: ETR) ของบริษัทในแต่ละปีใกล้เคียง 15% ก็จะทำให้แต่ละบริษัทเสียภาษีส่วนเพิ่มลดลง และได้รับสิทธิประโยชน์ในระยะเวลานานขึ้น

 

2. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดย BOI จะขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นมาตรการเยียวยาชั่วคราวให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ในระหว่างรอกฎหมายใหม่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะให้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับการลงทุนหรือค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามที่กำหนด

 

เช่น ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับมาตรฐานที่เป็นสากล เป็นต้น โดยปัจจุบันกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมีเงินอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

 

“คงไม่ใช่ทุกบริษัทที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีส่วนนี้ เพราะบางบริษัทเสียภาษีเกิน 15% อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราสื่อสารกับบริษัทขนาดใหญ่ในเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งต้องเป็นไปตามกติกาสากล หากมองอีกแง่ก็สะท้อนว่านักลงทุนรายใหญ่ก็ยังเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง เพราะเรามีมาตรการที่พร้อม จากตัวเลขยอดการลงทุน FDI ก็ไม่หนีหาย ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสให้บริษัทลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยด้วย”

 

โดยเฉพาะปี 2568 จะเป็นปีที่ท้าทาย มีการย้ายฐานของการลงทุนมายังภูมิภาค ดังนั้นไทยต้องปรับตัวด้วยการสร้างจุดแข็งใหม่ๆ ใน 7 ด้านสำคัญ ได้แก่

 

  1. สร้างบุคลากรให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมใหม่
  2. พลังงานสะอาด
  3. ขยายพื้นที่รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่
  4. สร้างซัพพลายเชนใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่
  5. ขยาย FTA ไปตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดเดิม
  6. การลดข้อจำกัดของการลงทุน หรือ Ease of Investment
  7. Global Minimum TAX

 

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรกำลังพัฒนากฎหมายลูก 20-30 ฉบับ เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษี GMT รวมถึงมาตรการ ‘เครดิตภาษีคืน’ (Refundable Tax Credit) ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของ OECD และจะมีการหารืออีกครั้งในวันศุกร์นี้

 

นฤตม์กล่าวอีกว่า กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะให้มีการจัดตั้ง Entertainment Complex นั้น ถือเป็น ‘เรื่องที่น่าสนใจ’ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตมากขึ้น แต่ต้องไปดูว่าจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งหากมองในแง่การลงทุน BOI พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

 

ทำไมไทยเก็บภาษี Global Minimum Tax

 

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) 15% ตามแนวทาง 2 เสาหลักในการจัดการความท้าทายทางภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจยุคดิจิทัลภายใต้กรอบ OECD/G20 Inclusive framework on base erosion and profit shifting (Inclusive Framework for BEPS) ประกอบด้วย Pillar 1 การจัดสรรกำไรและสิทธิการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เป็นธรรมมากขึ้น และ Pillar 2 การจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ

 

Global Minimum Tax จะบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน EUR 750 Million (หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท) โดยมีประเทศสมาชิกกว่า 140 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลง Pillar 2 ไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 ทั้งนี้ OECD มีแผนเริ่มใช้ Global Minimum Tax สำหรับประเทศที่พร้อม โดยล่าสุดมี 55 ประเทศที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้

 

ภาพ: thitivong, Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X