ถ้าเราลองสังเกตในออฟฟิศของเราจะพบว่าวันๆ หนึ่งเราได้ยินคนบ่นเรื่องของชาวบ้านให้เราฟังเยอะมาก จนดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว
จริงๆ เรื่องนี้เป็นกันทั่วโลก แต่บ้านเราก็คงไม่แพ้ใครแน่ๆ ครับ
ส่วนตัวผมเองก็เป็นเหมือนกันครับ แต่เมื่อเข้าใจสาเหตุแล้ว ตอนนี้พยายามแก้อยู่ เพราะพอถอยออกมามอง การบ่นกันไปกันมาเป็นปัญหาระดับองค์กรเลยนะครับ ที่สำคัญคือมันไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใครเลย แม้แต่คนที่เอ่ยปากบ่นก็ตาม
แถมที่หนักกว่านั้นคือ หลายครั้งเรายังสับสนว่าการบ่นเรื่องคนอื่นคือส่วนหนึ่งของการทำงานอีกต่างหาก
ลองนึกถึงเหตุการณ์สมมตินี้นะครับ มีเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าคุณพูดแทรกทุกคนในห้องประชุม โดยไม่สนใจเลยว่าคนอื่นกำลังพูดอะไรอยู่
ประชุมเสร็จคุณจะไปบ่นเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงานที่คุณสนิทด้วย แถมยังบอกว่าหมอนี่นอกจากนิสัยในห้องประชุมยังแย่แล้ว เรื่องอื่นก็ยังแย่ด้วย ตอบเมลก็ช้า พูดจากระโชกโฮกฮากไม่น่าฟัง แถมมารยาทไม่ดีชอบเคี้ยวอาหารเสียงดังอีก
เพื่อนคุณก็รับฟัง พยักหน้าหงึกๆ และอาจจะสมทบด้วยว่า จริงด้วย วันก่อนเพิ่งเจอหมอนี้เลยตอนกินข้าว พูดจาแย่มากทำฉันกินข้าวแทบไม่ลงเลย
ฟังดูคุ้นๆ ใช่ไหมครับ แต่คุณรู้ไหมครับว่าในทางกลับกันคนที่คุณบ่นถึง เขาก็บ่นคุณเหมือนกัน
เขาอาจจะบอกว่าคุณจู้จี้จุกจิก ทำหน้าเหวี่ยงตลอดเวลา แถมชอบพูดจาประชดประชันแดกดันชาวบ้านและอะไรอีกมากมาย
แล้วเขาก็บ่นคนอื่นด้วย อาจจะบ่นหัวหน้าของเขาอีกทีว่าบ้าอำนาจ หรือ Micro Manage มากเกินไป ฯลฯ
มีเรื่องแบบนี้เกินขึ้นมากมายในบริษัททุกวันที่น่าสนใจคือ ‘มันแทบไม่เคยเกิดขึ้นต่อหน้าคนที่ถูกพูดถึงแบบตรงๆ’
Peter Bregman ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจใน Harvard Business Review ว่า ครั้งหนึ่ง Marshall Goldsmith นักเขียนชื่อดัง ได้ทำการสัมภาษณ์ลูกค้ากว่า 200 คนของเขาแล้วพบว่า คนที่ทำงานในออฟฟิศใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงต่อเดือนในการบ่นหรือฟังคนอื่นบ่นเรื่องหัวหน้า และกว่า 33% ใช้เวลาเกิน 20 ชั่วโมงต่อเดือนในการบ่น หรือกว่า 12.5% ของเวลาทำงานทั้งหมด!
นี่ยังไม่รวมเวลาบ่นเรื่องเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องนะครับ
ถ้าหากเราลองสังเกตเวลาที่เราใช้ในแต่ละวันก็จะพบว่าตัวเลขนี้ใกล้เคียงความจริงมากเลยทีเดียว เราสูญเสียเรื่อง Productivity ไปกับเรื่องนี้อย่างมากมายมหาศาลมากครับ และที่สำคัญคือมันไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาแม้แต่น้อย
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมเราถึงชอบบ่นเรื่องคนอื่นมากนัก?
คำตอบเพราะมันทำให้เรารู้สึกดี มันไม่เสี่ยง และมันก็ง่ายดีด้วย
กระบวนการของการบ่นมันเป็นแบบนี้ครับ มีใครสักคนทำอะไรสักอย่างให้เราไม่พอใจ โกรธ กลัว หรือขายหน้า อะไรก็แล้วแต่
ความรู้สึกนี้มันเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นในร่างกายและส่งผลให้เรารู้สึกอะไรบางอย่างที่แสดงออกได้ทางร่างกายเลย เช่น มือชา หน้าชา ตัวสั่น หัวร้อน
เมื่อเราได้บ่นเรื่องราวความไม่พอใจของเรา อาการที่ว่าเหล่านี้จะเริ่มหายไป ราวกับว่าพลังงานแห่งความโกรธนั้นได้สลายตัวลงไป
แต่ในความเป็นจริงแล้วพลังงานนั้นไม่ได้หายไปไหน มันแค่กระจายไปและขยายตัวใหญ่ขึ้นด้วย
นอกเหนือไปจากนั้นแล้วเวลาเราบ่นกับใครที่ดูเหมือนจะเห็นดีเห็นงามไปกับเราด้วย (และเรามักจะบ่นกับคนที่จะเห็นดีเห็นงามกับเราด้วยเสมอ) ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกโล่ง รู้สึกมีพวก ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกแย่ๆ (มือชา หน้าชา ฯลฯ) หายไป และได้ความรู้สึกที่ดีมาแทนที่
แต่ความรู้สึกดีนั้นอยู่เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่ความรู้สึกดีชั่วคราวแบบนี้เป็นความรู้สึกที่สมองเสพติดด้วย ไม่ต่างอะไรกับสิ่งเสพติดประเภทอื่นๆ เลยครับ
ปัญหาที่น่ากลัวอยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะการบ่นนอกจากเสียเวลาแล้วมันยังทำให้เราเสพติดด้วย และเหมือนสิ่งเสพติดทุกอย่างมันสร้างวงจรอุบาทว์ขึ้นครับ คือพอรู้สึกแย่แล้วบ่น จะทำให้รู้สึกได้ปลดปล่อย มีความสุขขึ้นมา แต่มัน ‘ชั่วคราว’ เดี๋ยวก็ต้องกลับไปบ่นอีก เพราะต้องการวงจรเดิมกลับมาอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นี่คือวงจรของการเสพติด และเมื่อยิ่งทำแบบนี้นานๆ เข้า แทนที่จะรู้สึกดี ในระยะยาวเราจะรู้สึกแย่กับตัวเอง
สาเหตุก็เพราะว่าเวลาปล่อยพลังงานแห่งความไม่พอใจนี้ออกไป เราปล่อยมันไป ‘ข้างๆ’ เสมอ นั่นคือการไปบ่นให้คนที่ไม่ใช่ต้นเหตุฟัง เราไม่เคยปล่อยมันไป ‘ตรงๆ’ กับคนที่เป็นต้นเหตุแห่งการบ่นของเรา
ดังนั้น เมื่อทำแบบนี้จริงๆ เราไม่ได้อยากแก้ปัญหา แต่เราอยาก ‘หาพวก’ และอยากปลดปล่อยความรู้สึกแย่ๆ ออกไปเท่านั้นเอง แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม
นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้วยังมีผลข้างเคียงหลายอย่างมาก นอกจากเรื่องที่เห็นชัดๆ อย่างเรื่องการเสียเวลาแล้ว
การบ่นยังลด Engagement ในการทำงาน ขยายเรื่องความน่ารำคาญโดยลากคนที่ไม่เกี่ยวเข้ามา เสริมความไม่พอใจในที่ทำงานให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก และสร้างความไม่ไว้วางใจในหมู่เพื่อนร่วมงาน
พูดง่ายๆ คือมันเป็นการเสริมพลังลบ หรือ Negative Reinforcement ที่เข้มแข็งมาก
คนที่บ่นมากๆ จะได้รับการมองทั้งจากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้องเป็นลบด้วย แต่เจ้าตัวอาจจะไม่รู้เท่านั้น
การบ่นคือ Inaction แต่เราต้องการ Action แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?
จริงๆ มันก็ง่ายๆ ครับคือ พูดกับเจ้าตัวที่เป็นต้นเหตุตรงๆ เลย ขอแค่ทำอย่างมีสติ ควบคุมอารมณ์ให้ดี และเลือกคำพูดให้รอบคอบ
แน่นอนมันเป็นทางที่ยาก แต่คนที่อยากจะโตต่อไปได้ต้องเลือกที่จะทำครับ เพราะนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าความกล้าหาญทางอารมณ์ (Emotional Courage) เพราะมันทั้งเสี่ยงและน่ากลัว
สำหรับคนส่วนใหญ่มันอยู่นอก Comfort Zone ไปไกลเลยครับ แต่เหมือนทุกอย่างดีๆ ในชีวิตครับ มันฝึกกันได้
กลับมาที่ตัวอย่างการประชุมของเราครับ เราพูดกับคนที่มีปัญหาตรงๆ เลยครับ จะพูดทันทีที่เหตุการณ์เกิด หรือพูดหลังจากการประชุมจบก็ได้
เส้นทางนี้ยากแต่มันจะสร้างพัฒนาการได้อย่างมาก และจากคนขี้บ่นที่เต็มไปด้วยพลังงานลบคุณจะกลายเป็นผู้นำที่มี EQ สูงครับ
นี่คือการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรสมัยใหม่ ซึ่งต้องบอกว่าเหมาะกับ Context ของบริษัทในบริบทใหม่มาก เพราะการวัฒนาแบบนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็ว ลดเรื่องการเมืองภายในได้เยอะ
สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ ผู้ใหญ่ ผู้บริการทั้งหลายต้องสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมนี้ด้วย
เริ่มด้วยการตัดอีโก้ทั้งหมดออกให้ได้ โดยหัวอย่างซีอีโอต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะเวลามีใครมาพูดกับเราตรงๆ แบบนี้ Amygdala จะทำงานเพราะรู้สึกเหมือนโดนโจมตี ดังนั้น ต้องฝึกลดอีโก้ครับ ยิ่งเป็นผู้ใหญ่เท่าไรต้องพยายามลดอีโก้ให้ได้เท่านั้น พอลดอีโก้ลง ทุกคนจะเห็น Blindspot ของตัวเองได้ชัดขึ้น
Ray Dalio เคยเขียนไว้ในหนังสือ Principle ว่า สิ่งที่ทำให้คนไปได้ไม่ถึงศักยภาพของตัวเองมีสองตัวคือ อีโก้ กับ Blindspot นี่แหละครับ
สำหรับตัวผม และผมเชื่อว่าหัวหน้าส่วนใหญ่ใจกว้างพอที่จะรับฟังข้อเสียของตัวเองครับ เพราะจริงๆ แล้วมันมีแต่ประโยชน์กับผู้ฟังครับ
ยากครับยาก แต่ผมเชื่อว่าทำได้ และมันจะดีขึ้นเมื่อได้ฝึกเรื่อยๆ ครับ
ถ้าคุณเจอหัวหน้าที่ไม่รับฟังอะไรใครเลย อาจจะต้องลองพิจารณาที่ทำงานใหม่แล้วละครับ อันนี้พูดจริงๆ นะครับ
ทันทีที่ความรู้สึกอยากบ่นของคุณเกิดขึ้น ให้เปลี่ยนความรู้สึกนั้นมาเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาและสร้างสรรค์โดยคุณอาจจะลองทำแบบนี้ดูครับ
- ทันทีที่ Adrenaline ของคุณหลั่งออกมาเพราะความโกรธ ไม่พอใจ เสียหน้า ฯลฯ ให้รู้สึกถึงการมาถึงของอาการนี้ครับ
- หายใจลึกๆ แล้วให้จับอาการของตัวเองไม่ให้ความรู้สึกมันล้นหรือเยอะไปจนคุณทำอะไรล้นๆ ออกมา หรือนิ่งทำอะไรไม่ออกเลย รักษาอาการให้นิ่งให้ได้มากที่สุด
- ทำความเข้าใจกรอบของเรื่อง เอาเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่เยอะไป ไม่ตีกิน ไม่เหมารวม และพูดออกไปตรงๆ กับคนนั้นเลยว่า “สถานการณ์จะดีกว่านี้ถ้า…”
แน่นอนว่าการทำแบบนี้ยากกว่าบ่นเฉยๆ เยอะ แต่ว่ามีค่าและสร้าง Productivity ได้ดีกว่าเยอะ
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนก็ต้องคิดว่า เดี๋ยวนะ ถ้าคนที่เราต้องพูดด้วยเป็นเจ้านายเรา มันจะได้เหรอวะ
คำตอบคือ ส่วนใหญ่ได้ครับ
ในความเป็นจริงคือคนที่รับฟังสิ่งที่เราจะพูดนั้น แม้ตอนแรกเขาอาจจะรู้สึกเหมือนถูกโจมตีและจู่โจม เพราะมันเป็นการตอบสนองขั้นพื้นฐานต่อมนุษย์ต่อสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นลบ
แต่เมื่อฟังเหตุผลแล้วคนส่วนใหญ่ ขอเน้นว่าส่วนใหญ่จะเข้าใจครับ เขาจะขอบคุณและนับถือคุณมากขึ้นด้วย
ถ้าหากเป็นแบบนี้คุณสามารถเปลี่ยนการบ่นที่อาจจะเป็นการบ่นแบบเรื่อยเปื่อยเป็นเดือนๆ และไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร มาเป็นการใช้เวลาเพียง 3 นาทีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและ Productivity อย่างแท้จริงได้
ดังนั้น เมื่อคุณมีความรู้สึกอยากเริ่มบ่นอะไร ให้รับรู้อาการนี้และให้เห็นมันเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนะครับ
ถ้าเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ เราจะได้วัฒนธรรมองค์กรที่โคตรเจ๋ง และที่สำคัญคือทุกคนจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างมากมายมหาศาล
เรียกว่ามันคุ้มจริงๆ ที่จะเลิกบ่น และเผชิญหน้ากับปัญหาแบบตรงๆ ไปเลยครับ