วันนี้ (30 เมษายน) ที่สวนโมกข์กรุงเทพ สวนรถไฟ เขตจตุจักร ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาในงาน ‘insKru Festival 2023 มหกรรมไอเดียการสอน ความหวังและพลังในตัวครู’ จัดโดย บริษัท อินสครู จำกัด ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท TCP กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศานนท์กล่าวว่า ปีหน้า 2567 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 100 คน จะมีประมาณ 60 โรงเรียน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อเทียบผลสัมฤทธิ์แล้วพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีผลสัมฤทธิ์การเรียนของเด็กนักเรียนต่ำกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะมีครูน้อยและครูต้องสอนหลายวิชาที่ตนไม่ถนัด
รวมถึงเรื่องงบประมาณที่ได้รับตามจำนวนนักเรียนก็จะน้อยตามไปด้วย จึงมีแนวทางในการที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีมาตรฐานมากขึ้น อาจปรับรวมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในเทอมการศึกษาหน้า กทม. เล็งที่จะปรับเพิ่มโรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
เนื่องจากเด็กวัย 2-6 ปี เป็นวัยที่กำลังมีพัฒนาการที่ดี มีความสำคัญสำหรับการเรียนรู้ หากมีการปูพื้นฐานที่ดีให้เด็กก็สามารถส่งต่อเด็กไปสู่การเรียนระดับประถมศึกษายังโรงเรียนสังกัดต่างๆ ได้ต่อไป
ศานนท์กล่าวต่ออีกว่า อยากให้การศึกษาเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ ครูก็สามารถเรียนรู้ได้ ถ้ามีการเปิดพื้นที่ให้ครูได้เรียนรู้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้
ทั้งนี้ การศึกษามีหลายมิติที่เป็นความท้าทายของ กทม. เช่น เรื่องกายภาพ มีการปรับกายภาพของโรงเรียนให้มีความเหมาะสม ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณดำเนินการให้ ที่สำคัญต้องให้โรงเรียนมีความคล่องตัวในการใช้งบปรับปรุงแก้ไข ต่อมาเรื่องวิทยฐานะของครู ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดอื่นมีการปรับแนวทางประเมินแล้ว แต่ของ กทม. ยังใช้แบบเดิม ก็จะมีการปรับแนวทางประเมินใหม่ แต่ยังคงมีมาตรฐานตามเกณฑ์
ด้านสื่อการเรียนการสอน กทม. โดยสำนักการศึกษาได้มีการออกหลักเกณฑ์กลางให้สำนักงานเขตกับโรงเรียนพิจารณาเลือกสื่อที่เหมาะสมกับโรงเรียนได้ โดยในปีนี้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแลมาตรฐานสื่อการเรียนการสอน ซึ่งคณะกรรมการจะมีการคัดเลือกสื่อการเรียนการสอนที่เข้าหลักเกณฑ์ไว้แล้วให้โรงเรียนมาดูจากตรงนี้ แล้วเลือกซื้อสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมจากตรงนี้ไป
แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วการเรียนรู้ปัจจุบันไม่ใช่อยู่แค่ในหนังสือ มีการเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ ได้ ครูอาจคิดขึ้นมาใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ได้ทดลองนำร่องนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเรียนการสอนผ่าน Google Classroom ในบางโรงเรียนพบว่าทำให้เด็กสนใจอยากเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็กได้เรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่เด็กให้ความสนใจ ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กสนใจเรียนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้