BJC ยื่นไฟลิ่งขาย IPO ‘บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น’ ไม่เกินจำนวน 3,729.99 ล้านหุ้น หรือสัดส่วนไม่เกิน 29.98% พร้อมเข้าจดทะเบียนใน SET หวังนำเงินระดมทุนคืนหนี้ รวมทั้งใช้ขยายธุรกิจ
บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนเวอร์ชันแรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 3,729.99 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท คิดเป็นไม่เกิน 29.98% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลัง IPO รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย, บล.บัวหลวง, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บล.ฟินันซ่า เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนเพื่อลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจ ‘BRC’ ร่างใหม่หุ้นบิ๊กซี ที่จะรีเทิร์นเข้า SET ไตรมาส 3 ปีนี้
- BJC แต่งตั้ง ‘อัศวิน เตชะเจริญวิกุล’ นั่งเก้าอี้ซีอีโอและเอ็มดีใหญ่คนแรกของ BRC
- ‘CPF’ ขยายอาณาจักร! ดัน ‘CPFGS’ เรือธงธุรกิจร้านอาหารในไทย ขาย IPO ไม่เกิน 500.01 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจค้าส่ง รวมถึงสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิมของกลุ่ม BJC และกลุ่ม TCC ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พอร์ตโฟลิโอเป็นร้านค้าหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบรนด์บิ๊กซี ร้านค้าปลีกและผู้เช่าพื้นที่ในร้านค้าต่างๆ โดยนอกจากเป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ แล้ว รูปแบบร้านค้าดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนธุรกิจการขายส่งให้กับลูกค้าผ่านการดำเนินธุรกิจแบบ B2B และธุรกิจสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ของบริษัท
โดยการดำเนินธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งของบริษัทยังครอบคลุมไปถึงการสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีกและ/หรือการค้าส่งของกลุ่มบริษัท
บริษัทดำเนินธุรกิจหลากหลายรูปแบบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
- ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่
- ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม
- ธุรกิจอื่นๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย และมีธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่บางส่วนในประเทศกัมพูชา
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่ 200 แห่งในประเทศไทย และร้านค้าขนาดใหญ่ 1 แห่งในประเทศกัมพูชา รวมทั้งบริษัทมีรูปแบบร้านค้าขนาดเล็กรวม 1,509 สาขา โดยรูปแบบร้านค้าขนาดเล็กของบริษัทประกอบด้วยร้านค้าบิ๊กซี มินิ 1,430 สาขาในประเทศไทย และ 17 สาขาในประเทศกัมพูชา และร้านค้า Kiwi Mart จำนวน 2 สาขาในประเทศกัมพูชา อยู่ระหว่างการรีแบรนด์เป็นร้านค้าภายใต้แบรนด์บิ๊กซี และบริษัทยังได้มีการให้สิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า B’smart แก่บุคคลภายนอกเพื่อดำเนินงานร้านสะดวกซื้อในประเทศเวียดนาม ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีร้านค้า B’smart จำนวน 78 สาขา ทั้งนี้ บริษัทได้รับโอนเครื่องหมายการค้า B’smart จาก BJC ในปี 2566
นอกจากนี้บริษัทดำเนินธุรกิจตลาด Open-Air เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีก (Retail Space) เพื่อจำหน่ายอาหารสด อาหารปรุงสุก และสินค้าอุปโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารหลากหลายประเภท โดยในปัจจุบันบริษัทดำเนินงานตลาด Open-Air 2 รูปแบบ ได้แก่
- ตลาดกลางคืน (ภายใต้แบรนด์ตลาดเดินเล่น) และ
- ตลาดสดกลางวัน (ภายใต้แบรนด์ตลาดครอบครัวและตลาดทิพย์นิมิตร)
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินงานตลาด Open-Air จำนวน 7 แห่งในประเทศไทย
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ของบริษัทยังรวมถึงร้านค้าบิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส ร้านค้าบิ๊กซี ดีโป้ และ Omni-Channel Platform บริษัทมีร้านค้าบิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส 3 สาขาในประเทศไทย ร้านค้าบิ๊กซี ดีโป้ 11 สาขาในประเทศไทย นอกจากนี้ยังให้บริการผ่าน Omni-Channel Platform ด้วยช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์บิ๊กซีออนไลน์ แอปพลิเคชันบิ๊กซี พลัส (Big C PLUS)
บริษัทยังดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) หลากหลายประเภทของร้านค้าบิ๊กซีของบริษัท (ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่ ร้านค้าบิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส และร้านค้าบิ๊กซี ดีโป้) โดยบริษัทให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกภายในพื้นที่ร้านค้าดังกล่าวกับกลุ่มผู้ประกอบการภายนอกและแบรนด์ร้านค้าของบริษัท นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่นๆ ได้แก่
- ร้านขายยาเพรียว เป็นเครือข่ายร้านขายยาที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ร้านค้าของบิ๊กซี ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา สินค้าด้านสุขภาพและความงาม และให้บริการด้านเภสัชกรรมแก่ลูกค้ารายย่อย โดยมีร้านขายยาเพรียว 146 สาขาในประเทศไทย
- ร้านขายยาสิริฟาร์มา ซึ่งเป็นร้านขายยานอกพื้นที่ร้านค้า มี 1 สาขาในประเทศไทย
- ร้านกาแฟวาวี ในประเทศไทยทั้งหมด 60 สาขา (ประกอบด้วยร้านที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานเอง จำนวน 52 ร้าน และร้านแฟรนไชส์ จำนวน 8 ร้าน)
- บริษัท เอเซียบุ๊คส จำกัด นำเข้าและจัดจำหน่ายหนังสือและนิตยสารผ่านเครือข่ายร้านหนังสือภายใต้แบรนด์ ‘เอเซียบุ๊คส’ และ ‘บุ๊คกาซีน’ ในประเทศไทย และจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าองค์กรในประเทศอื่นๆ เช่น สปป.ลาวและกัมพูชา โดยมีร้านหนังสือ 54 สาขาในประเทศไทย
อีกทั้งบริษัทยังมีรายได้จากการให้บริการสนับสนุนด้านต่างๆ โดยให้บริการรับชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ Big Service แก่ลูกค้าในร้านค้าบิ๊กซี และให้บริการด้านทรัพยากรบุคคลในการส่งผู้บริหารเพื่อให้บริการบริหารจัดการแก่กลุ่ม TCC ในการดำเนินงานของร้านค้า MM Mega Market ของ MMVN ในประเทศเวียดนาม บริษัทยังให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ผู้จัดหาสินค้า (Supplier) ของร้านค้าบิ๊กซีบางราย โดยวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บและรวบรวมจาก Omni-Channel Platform นอกจากนี้บริษัทยังให้เช่าพื้นที่โฆษณาภายในพื้นที่ร้านค้าด้วย
ผลประกอบการในช่วงปี 2563-2565 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้า 100,534.2 ล้านบาท 91,678.0 ล้านบาท และ 96,984.7 ล้านบาท ตามลำดับ และรายได้จากค่าเช่าและบริการ 8,924.7 ล้านบาท 7,802.7 ล้านบาท และ 9,099.4 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีผลขาดทุนสุทธิในปี 2563 ราว 709.5 ล้านบาท ก่อนจะพลิกมามีกำไรในปี 2564 ที่ 7,332.8 ล้านบาท และปี 2565 ที่ 6,756.8 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 336,832.5 ล้านบาท หนี้สินรวม 155,659.6 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้นรวม 181,172.9 ล้านบาท
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปัจจุบันมี BJC ถือหุ้นทั้ง 100% โดยกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทใช้หลักเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิของผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มบริษัท โดยไม่รวมกำไรหรือขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและข้อบังคับบริษัทกำหนดไว้