Bitcoin มักจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นสินทรัพย์ที่หลบภัยหรือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงกันแน่ ล่าสุดแผนเข้มงวดนโยบายการเงินและการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ตลาดคริปโตมีความอ่อนไหวมากขึ้น เช่นเดียวกับดัชนี S&P 500 ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสองสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 17 เดือนเลยทีเดียว นี่อาจทำลายภาพลักษณ์ของ Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์ที่หลบภัยหรือทองคำดิจิทัลได้
ราคา Bitcoin เคลื่อนไหวตาม S&P 500 มากขึ้น
ข้อมูลล่าสุดจาก Arcane Research แสดงให้เห็นว่า ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่าง Bitcoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และดัชนีหุ้น S&P 500 ได้เพิ่มขึ้นสู่ 0.49 เมื่อวันที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2020
ค่าสหสัมพันธ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง Bitcoin และตลาดหุ้น เคลื่อนไหวอย่างไร โดยปกติแล้วค่าสหสัมพันธ์ที่มากกว่าศูนย์ หมายถึงมีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างตลาดหุ้นกับราคาคริปโต
ขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ที่น้อยกว่าศูนย์หมายความว่า BTC ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของ S&P 500 ในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งในตอนนี้สหสัมพันธ์อยู่ที่ 0.49 หมายความว่า Bitcoin และ S&P 500 เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันนั่นเอง สิ่งนี้ทำให้มุมมองสถานะที่หลบภัย (Safe-Haven) ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษและสงครามรัสเซีย- ยูเครน แต่ราคา Bitcoin กลับปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ค่าสหสัมพันธ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับเส้นอัตราผลตอบแทนที่แคบลง โดยส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 2 ปี ขณะนี้เหลือเพียง 0.20% ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นความเชื่อในตลาดคริปโตที่มีมายาวนานว่า Bitcoin เป็นที่หลบภัยทางดิจิทัลอาจยังไม่เป็นจริง ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 สินทรัพย์ทั้งสองมีความสัมพันธ์กันอย่างแข็งแกร่ง ในช่วงปี 2020 ความสัมพันธ์ได้ลดลงเนื่องจากโควิด แต่ตัวบ่งชี้ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 และ 2022 จนถึงตอนนี้
ราคา Bitcoin ยังคงซื้อขายต่ำกว่าแนวต้านสำคัญที่ 40,000 ดอลลาร์ โดย ณ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 28 เมษายน BTC ซื้อขายที่ 39,805 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 2% ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
จากบล็อกของ โนเอล แอคสัน หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกของ Genesis Global Trading ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาคและภูมิรัฐศาสตร์ดูเหมือนจะทำให้ Bitcoin มีความต้องการน้อยลง นอกจากนี้แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยยังทำให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดอีกด้วย โดยปกติแล้วสภาวะแบบนี้จะทำให้ตลาดหุ้นและสกุลเงินที่มีความเสี่ยงอ่อนค่าลง ซึ่งตลาดอาจต้องการปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามาขับเคลื่อนตลาด แล้วคุณล่ะคิดว่า Bitcoin เป็นที่หลบภัยหรือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงกันแน่
อ้างอิง: