การประกาศล้มละลายของสภาเทศบาลเมืองเบอร์มิงแฮม เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษ พร้อมทั้งตัดการใช้จ่ายงบประมาณและยกเลิกบริการภาครัฐที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เนื่องจากเผชิญภาวะขาดดุลงบประมาณสำหรับปี 2023-2024 สร้างความตกใจแก่ประชาชน ซึ่งยากจะเชื่อว่าเมืองใหญ่ของประเทศมหาอำนาจจะเผชิญภาวะความยากลำบากทางการเงินเช่นนี้
สาเหตุของปัญหานี้เกิดจากอะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมเบอร์มิงแฮมเดินมาถึงจุดที่ล้มละลายได้
เบอร์มิงแฮมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่า ความขัดแย้งและปัญหาทางการเงินของเมืองเบอร์มิงแฮมมีมายาวนานกว่า 1 ทศวรรษแล้ว
โดยในเดือนเมษายน ปี 2010 ศาลการจ้างงานของอังกฤษ (Employment Tribunal) ตัดสินให้พนักงานหญิงของสภาเมืองกว่า 5,000 คน ชนะคดีเรียกร้องการจ่ายค่าแรงเท่าเทียม
ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานหญิงของสภาเมืองที่ทำงานบริการภาครัฐในด้านต่างๆ เช่น ผู้ช่วยสอน และพนักงานเสิร์ฟอาหาร ไม่ได้รับเงินโบนัสในแบบที่พนักงานชายได้รับจากการทำงานในตำแหน่ง เช่น พนักงานเก็บขยะ หรือทำความสะอาดถนน
หลังแพ้คดี ทางสภาเมืองต้องจ่ายเงินเกือบ 1.1 พันล้านปอนด์ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) ให้แก่พนักงานหญิงที่เรียกร้องค่าแรงเท่าเทียม จนถึงตอนนี้มีการขอรับเงินแล้ว 760 ล้านปอนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14 ล้านปอนด์ในทุกๆ เดือน
ขณะเดียวกัน สภาเมืองเบอร์มิงแฮมยังเผชิญปัญหาซ้ำเติมจากปัญหาในการติดตั้งระบบไอที ซึ่งเดิมควรจะมีค่าใช้จ่ายแค่ 19 ล้านปอนด์ แต่ความล่าช้าในการติดตั้งและปัญหาหลังการติดตั้งทำให้คาดว่าค่าใช้จ่ายจะพุ่งสูงถึง 100 ล้านปอนด์
นอกจากนี้ทางผู้นำสภายังชี้ถึงแรงกดดันด้านงบประมาณอื่นๆ เช่น ความต้องการการดูแลสังคมสำหรับผู้ใหญ่ที่เพิ่มขึ้น, การลดรายได้ตามอัตราธุรกิจ, ผลกระทบของเงินเฟ้อ และการตัดลดงบประมาณรัฐบาลท้องถิ่น
ปัญหาเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของสภาเมืองเบอร์มิงแฮมมาระยะหนึ่งแล้ว กระทั่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางสภาได้ตัดสินใจยุติการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็นทั้งหมด โดยมีผลในทันที
และเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา หัวหน้าฝ่ายการเงินของสภาได้ออกประกาศมาตรา 114 ซึ่งชี้ว่าไม่มีหนทางปฏิบัติตามความรับผิดทางการเงิน และไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณใหม่ๆ ได้
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปีที่แล้วเมืองเบอร์มิงแฮมยังตัดสินใจรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะชี้ถึงข้อดีจากการจัดการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพดังกล่าวว่า มีส่วนช่วยเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 870 ล้านปอนด์
แต่อดีตที่ปรึกษาของเมืองเบอร์มิงแฮมวิจารณ์ว่า การตัดสินใจรับเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ดังกล่าวถือเป็นปัญหาและความท้าทายที่มากเกินไปสำหรับสภาของเมืองที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน
ด้าน ฟิโอนา กรีนเวย์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของสภา ชี้แจงเหตุผลในการออกหนังสือประกาศมาตรา 114 เนื่องจากผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกมีความกังวลเกี่ยวกับเงินงบประมาณที่สภาจัดสรรไว้สำหรับการจ่ายค่าแรงเท่าเทียมในบัญชีสำหรับปี 2020-2021 และ 2021-2022 ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีตั้งคำถามว่า ทางสภาเมืองจะสามารถประหยัดเงินหรือหารายได้พิเศษที่จำเป็นเพื่อลดความท้าทายทางการเงินที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
ขณะที่กรีนเวย์เผยตัวเลขที่คาดการณ์ว่า จะมีการขาดดุลงบประมาณในปี 2023-2024 อยู่ที่ราว 87 ล้านปอนด์ ซึ่งสภาเมืองเบอร์มิงแฮมมีเงินสำรองไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานหญิงที่ขอรับค่าแรงเท่าเทียมในปีก่อนหน้า
บริการภาครัฐอะไรถูกตัดออกบ้าง?
ตามประกาศมาตรา 114 ที่สภาเมืองเบอร์มิงแฮมแจ้งและอธิบายเหตุผลว่า ทางสภากำลังจะ ‘ล้มละลายโดยพื้นฐาน (Essentially Bankrupt)’ หรือพูดง่ายๆ คือ กำลังจะต้องหยุดให้บริการภาครัฐที่ไม่มีความจำเป็นทั้งหมด แต่ไม่สามารถล้มละลายอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากยังมีบริการที่ต้องดำเนินการให้แก่ประชาชนต่อไป ซึ่งเรียกว่าบริการตามกฎหมาย โดยรวมถึง
- บริการด้านการศึกษา
- การคุ้มครองเด็กและการดูแลสังคม
- การดูแลสังคมผู้ใหญ่
- การเก็บขยะ/ถังขยะ
- การวางแผนและบริการที่อยู่อาศัย
- การบำรุงรักษาถนน (ไม่ใช่มอเตอร์เวย์)
- บริการห้องสมุด
อย่างไรก็ตาม การตัดบริการอื่นๆ ที่สภาเมืองเห็นว่า ‘ไม่จำเป็น’ ยังคงไม่ชัดเจนว่าคือบริการอะไรบ้าง
สำนักข่าว BBC ถามไปยังสภาเมืองเบอร์มิงแฮมว่า มีบริการใดบ้างที่อาจถูกลดขนาดลงหรือยุติลง และได้คำตอบว่า ประกาศตามมาตรา 114 นั้นหมายความว่าการใช้จ่ายงบประมาณใหม่ทั้งหมดจะต้องหยุดทันที ยกเว้นการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับปกป้องคุ้มครองบุคคลที่อ่อนแอและบริการตามกฎหมาย
ซึ่งกิจกรรมยอดนิยม เช่น ตลาดคริสต์มาสประจำปีอาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกยกเลิก ขณะที่การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ในปี 2026 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่เบอร์มิงแฮม ก็ยังมีคำถามว่าจะสามารถจัดได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่
จอห์น คอตตอน ผู้นำสภาเมืองเบอร์มิงแฮม ยืนยันว่า บริการภาครัฐที่สำคัญต่างๆ จะได้รับการคุ้มครอง แต่เตือนว่าจำเป็นต้องมี “การตัดสินใจที่ยากลำบาก”
ทั้งนี้ สภาเมืองเบอร์มิงแฮมอาจไม่ใช่สภาท้องถิ่นแห่งแรกของอังกฤษที่ประกาศว่าเงินหมดหรือล้มละลาย โดยสภาเธอร์ร็อคในเทศมณฑลเอสเซ็กซ์ก็เคยประกาศล้มละลายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ขณะที่ จอห์น เคนท์ ผู้นำฝ่ายค้านพรรคเลเบอร์ (Labour Party) กล่าวว่า ประชาชนภายในเมืองเบอร์มิงแฮมจะสังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นจากภาวะล้มละลายดังกล่าว ทั้งถนนที่สกปรกมากขึ้น, การตัดหญ้าและดูแลต้นไม้ที่ลดลง, โรงละครแห่งเดียวภายในเมืองเสี่ยงจะถูกปิด และเงินอุดหนุนสำหรับรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทางถูกยกเลิก
นอกจากนี้ การเก็บภาษีในพื้นที่ซึ่งเพิ่มขึ้นปีที่แล้ว 10% ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องจัดเก็บเพิ่มขึ้นอีกด้วยจำนวนเท่าเดิมในปีนี้
ปฏิกิริยาจากประชาชน-นักการเมือง?
สภาเทศบาลเมืองเบอร์มิงแฮมเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการโดยพรรคเลเบอร์ ดังนั้นจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอื่นมากมาย
โรเบิร์ต อัลเดน ผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมของสภาเมืองเบอร์มิงแฮม ชี้ว่า “สภาล้มเหลวในการแสดงความรวดเร็วและความเร่งด่วนที่เหมาะสมและจำเป็น ในการจัดการกับค่าแรงเท่าเทียม”
พรีต กิลล์ สส. พรรคเลเบอร์ จากเขตเอดจ์บาสตันในเมืองเบอร์มิงแฮม ชี้ว่า ยังมีหลายคำถามที่สภาเมืองต้องตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาทิ คำถามว่าทำไมเงินงบประมาณถึงไม่ถูกกันไว้ทุกปี โดยแยกจากเงินที่ต้องจ่ายค่าแรงเท่าเทียมจำนวน 760 ล้านปอนด์ที่สภากำลังเผชิญอยู่
เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ กล่าวว่า วิกฤตทางการเงินของเมืองเบอร์มิงแฮมเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเขาให้คำมั่นว่าจะพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาสำหรับหน่วยงานท้องถิ่น
หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?
ทางสภาเมืองเบอร์มิงแฮมจะจัดการประชุมฉุกเฉินในปลายเดือนนี้ และคาดว่าจะมีการหารือกับรัฐบาลกลางเพิ่มเติม เพื่อตัดสินใจถึงแนวทางแก้ไขปัญหา
ขณะที่รัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักรเผยว่า กำลังติดต่อกับสภาเมืองเบอร์มิงแฮม และขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่
สำหรับคำถามว่า รัฐบาลจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่สภาเมืองเบอร์มิงแฮมหรือไม่ โฆษกของ ริชิ ซูนัค นายกรัฐมนตรี ระบุว่า “สภาคือผู้ที่มีความรับผิดชอบเป็นอันดับแรกและสำคัญที่สุด” และรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในการ “เข้าถึงการสนับสนุนเพิ่มเติม”
ภาพ: Christopher Furlong / Getty Images
อ้างอิง: