ช่วงนี้โรค Binge Eating Disorder (BED, โรคกินมากเกินไป หรือที่หลายคนเรียกว่า โรคกินไม่หยุด) กำลังเป็นที่พูดถึงในสื่อและสังคม จากการที่ ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช ออกมาเปิดเผยประสบการณ์ของเขากับโรคนี้ ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ และเราก็คิดว่าเป็นจังหวะที่ดีที่คนจะทำความรู้จักโรคนี้กัน
ไม่หิวก็กิน อิ่มแล้วก็กิน
Binge Eating Disorder เป็นโรคทางสุขภาพจิตอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกิน ที่พึ่งถูกบรรจุเป็นโรคใหม่ในคู่มือการวินิจฉัยโรคทางสุขภาพจิต ฉบับที่ 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition หรือ DSM-5) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดที่พึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2013 จึงไม่แปลกนักที่หลายคนอาจพึ่งได้ยินคำนี้ ในขณะที่เราอาจคุ้นหูกับโรคอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันอย่าง Anorexia Nervosa และ Bulimia Nervosa มากกว่า เพราะเคยมีข่าวเกี่ยวกับคนดังที่เป็นโรคเหล่านี้มาก่อน ทั้งยังมีตัวเลขจากการวิจัยพบว่า ประชากรมากกว่าร้อยละ 9 ของโลกประสบกับโรคทางสุขภาพจิตที่เกี่ยวกับการกิน
แล้วมันต่างกันอย่างไร?
Anorexia Nervosa (AN) มักเชื่อมโยงกับการกินน้อยแบบสุดโต่ง จนมักมีร่างกายซูบผอม และกลัวว่าการกินจะทำให้น้ำหนักขึ้น กลัวอ้วน (แม้ว่าความเป็นจริงจะผอมมากแล้วก็ตาม) ซึ่งมักมีความเกี่ยวข้องกับความกังวลเรื่องรูปร่างของตนเอง ในขณะที่ Bulimia Nervosa (BN) จะเป็นการรวมกันของการกินมากผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองระหว่างการกินได้ กับพฤติกรรมชดเชยการกินมากเกินไปนั้นในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการล้วงคอ ใช้ยาถ่าย ออกกำลังกายแบบหักโหม อดอาหาร หรือใช้วิธีการอื่นเพื่อไม่ให้น้ำหนักขึ้น
ส่วนเจ้า Binge Eating Disorder นี้จะมีลักษณะคล้าย BN ในส่วนของการกินมากผิดปกติ หยุดตัวเองในระหว่างการกินไม่ได้ แต่จะต่างกันตรงที่ไม่ได้มีพฤติกรรมชดเชยแบบผิดๆ อย่าง BN
กินเยอะเฉยๆ หรือว่าเป็นโรคแล้วนะ
หลายคนอาจคุ้นเคยกับการกินเยอะขึ้นเมื่อมีความเครียด กินเยอะผิดปกติในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือในการสังสรรค์ตามโอกาสต่างๆ และมีคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าข่ายเป็นโรคแล้ว
DSM-5 ระบุเกณฑ์การวินิจฉัยโรค BED ไว้ว่า
- มีพฤติกรรม ‘การกินไม่หยุด’ เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยให้ความหมายการกินไม่หยุดนี้ว่า เป็นการกินในปริมาณที่มากกว่าที่คนทั่วไปจะกินในช่วงระยะเวลาที่กิน และมีความรู้สึกควบคุมตัวเองในระหว่างการกินไม่ได้
- โดยการกินนั้นมีลักษณะอย่างน้อย 3 อย่างในเกณฑ์ต่อไปนี้ 1. กินเร็วมากๆ 2. กินอิ่มเกินปกติจนอึดอัด 3. กินทั้งๆ ที่ไม่หิว 4. กินคนเดียวเพราะรู้สึกอายถ้าคนอื่นมาเห็นปริมาณอาหารที่กิน 5. รู้สึกแย่ รังเกียจตัวเอง หรือรู้สึกผิดหลังจากการกิน
- มีความทุกข์ใจเกี่ยวกับอาการกินไม่หยุดที่เห็นได้ชัด
- พฤติกรรมการกินดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป
- อาการดังกล่าวไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโรค BN
โดยความหนักของโรคจะขึ้นอยู่กับความถี่ของการเกิดอาการกินไม่หยุดใน 1 สัปดาห์ ไล่ตั้งแต่แบบเบาๆ คือไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไปจนถึงขั้นสุดคือมากกว่า 14 ครั้งต่อสัปดาห์
สัญญาณอันตรายที่อาจบ่งบอกการเริ่มขึ้นของโรคนี้มีตั้งแต่
- พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป
- ความรู้สึกควบคุมการกินไม่ได้
- มีการซ่อนหรือกักตุนของกิน
- อายไม่กล้ากินอาหารกับคนอื่น
- โกหกเรื่องพฤติกรรมการกินของตนเอง
- หรือรู้สึกผิดอย่างมากกับการกินของตนเอง
หากเริ่มมีพฤติกรรมหรือความรู้สึกแบบนี้ก็อย่านิ่งเฉย ลองมองหาตัวช่วย เช่น จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยให้เราจัดการเรื่องนี้ได้ก่อนที่จะเกิดอันตรายกับร่างกายของตัวเอง
หากพบว่ามีอาการควรทำอย่างไร
Binge Eating Disorder อาจฟังดูไม่น่ากลัวเท่าโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วความน่ากลัวของโรคนี้ก็ไม่แพ้โรคอื่นเช่นกัน เพราะพฤติกรรมการกินที่เกิดขึ้นนี้มักเชื่อมโยงกับความรู้สึกเครียด กดดัน หรือความวิตกกังวลในหลากหลายเรื่อง และพอยิ่งกินก็ยิ่งส่งผลต่อความรู้สึกผิด เครียด วิตกกังวล ซ้ำไปจนสุดท้ายอาจนำมาซึ่งโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ และอาจมีผลต่อสุขภาพทางกายอย่างการเป็นโรคอ้วนร่วมด้วย
การรักษาโรคเกี่ยวกับการกินไม่มีวิธีใดที่ใช้ได้ผลกับทุกคน หากสงสัยหรือพบว่าตัวเองมีแนวโน้มเป็นโรคนี้ การเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการยอมรับและหาตัวช่วยจากผู้เชี่ยวชาญ (จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา) เพราะแต่ละคนมีสาเหตุการเป็น และความหนักเบาของโรคที่ต่างกัน บางคนอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย หรือบางคนอาจต้องการเพียงการบำบัดเท่านั้น ซึ่งการบำบัดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนก็ต่างกัน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้มักใช้เวลา และต้องอาศัยความต่อเนื่องในการบำบัด ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือความมุ่งมั่น ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจและให้การรักษาเหมาะสม และที่สำคัญคือกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้างที่ใกล้ชิด อีกหนึ่งสิ่งที่ทั้งคุณไอซ์และเราอยากย้ำก็คือ พวกคุณไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีคนอีกหลายคนที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์คล้ายๆ กัน และกำลังต่อสู้เช่นเดียวกับคุณ
หยุดเป็นสาเหตุของโรคเหล่านี้ (และอย่าทำให้มันแย่ลง)
ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องโรคที่เกี่ยวกับการกิน ประเด็นที่มักมาคู่กันคือบรรทัดฐานด้านรูปร่างที่มีอยู่ในสังคม
มีหลายงานวิจัยที่พบว่าโรคทางสุขภาพจิตที่เกี่ยวกับการกินเหล่านี้ มีศูนย์กลางที่เชื่อมโยงกับปัจจัยเชิงสังคม และจิตใจอันเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันทางสังคมที่จำกัดความรูปร่างที่ผอมเข้ากับความงาม การล้อเลียนหรือแปะป้ายใส่กันเรื่องน้ำหนักตัว หรือว่าลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ที่อาจนำมาซึ่งการที่บุคคลให้คุณค่ากับรูปลักษณ์ น้ำหนัก และการกินมากจนสร้างความรู้สึกด้านลบเกี่ยวกับตนเองผ่านการเปรียบเทียบทางสังคม รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า มีตำหนิ และน่าอับอาย จนนำไปสู่พฤติกรรมผิดปกติเกี่ยวกับการกินได้ในที่สุด
มาถึงตรงนี้ หากใครมีคนใกล้ตัวที่กำลังเผชิญโรคที่เกี่ยวกับการกินอยู่ เราเชื่อว่าคงไม่ต้องบอกแล้วว่า “ก็หยุดกินสิ” หรือว่า “ก็กินน้อยๆ หน่อย” หรืออะไรประมาณนี้ไม่ช่วยคนใกล้ชิดของคุณ แถมยังเป็นการบอกกลายๆ ว่าเรื่องที่เขากำลังเผชิญนั้นมันช่างเล็กน้อย แก้ไขได้ง่ายๆ ซึ่งจะยิ่งทำให้เขารู้สึกแย่ลงไปอีก สิ่งที่พวกเขาต้องการ นอกจากการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญก็คือกำลังใจจากคนรอบตัวนี่แหละ
เราต่างได้เรียนรู้จากเรื่องนี้แล้วว่า มุมมองของสังคมและคนรอบข้างสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนคนหนึ่งได้มากแค่ไหน ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเริ่มผลิบาน เราอยากชวนทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ วิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์กันน้อยลง ทักทายด้วยคำถามให้มากขึ้น เปิดใจยอมรับความแตกต่างและความสวยงามที่ไม่ยึดติดอยู่กับบรรทัดฐานรูปร่างในสื่อให้มากขึ้น หันมามองกันและกันมากว่ารูปลักษณ์ภายนอก และให้ความสำคัญกับความคิด จิตใจ และความเป็นคนของกันให้มากขึ้น
อย่าเข้าใจไปเองว่าเรื่องเล็กน้อยจะไม่สร้างบาดแผลให้ใคร และอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าโรคเกี่ยวกับการกินมีอยู่จริง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: