ปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ วันที่ 2-4 เมษายน 2025 ซึ่ง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปปิดงาน โดยที่ประชุมมีการรับรองเอกสารสำคัญ 6 ฉบับ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวในการขับเคลื่อนความร่วมมือของ 7 ชาติสมาชิกในอนุภูมิภาคอ่าวเบงกอล ท่ามกลางความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่กำลังดุเดือด
ไฮไลต์ข้อตกลงสำคัญของการประชุมปีนี้
- นายกฯ ได้ประกาศวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และถือเป็นวิสัยทัศน์ฉบับแรกของกลุ่มที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง ‘BIMSTEC ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง’ (PRO BIMSTEC) ภายในปี 2030 โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
- ที่ประชุมผู้นำยังรับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของกลุ่มในการส่งเสริม BIMSTEC และผลักดันวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
- ออกกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานของ BIMSTEC ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นระเบียบแบบแผนในการดำเนินงานของ BIMSTEC
- ออกรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางของ BIMSTEC ในอนาคต ซึ่งนำเสนอข้อเสนอแนะสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
- เหล่าผู้นำยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน
- ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ BIMSTEC ว่าด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ซึ่งเป็นการแสดงความเสียใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความมุ่งมั่นของ BIMSTEC ในการสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเป็นการยืนยันความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการจัดการภัยพิบัติ และเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยธรรมชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า กรอบแนวคิด PRO BIMSTEC จะทำให้ BIMSTEC สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์การระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศได้อย่างแข็งขันมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ประชาคมโลกได้ยินเสียงของเราในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ การค้า ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
นายกฯ กล่าวเสริมว่า ผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำครั้งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์โดยตรงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้สำหรับประชาชนไทย ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลจะลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสใหม่ด้านการตลาดและการลงทุน การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยและสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย
มิติคู่ขนาน: ความร่วมมือทวิภาคีที่น่าจับตา
มีการประชุมคู่ขนานที่สำคัญจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการหารือทวิภาคีระหว่างผู้นำไทยกับแขกพิเศษของรัฐบาล คือ ผู้นำเนปาล และอินเดีย
- เค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 2 เมษายน นับเป็นการเยือนทางการครั้งแรก นายกฯ ระบุว่า ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือหลากหลายด้าน รวมถึงการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมให้การทำธุรกิจง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเกษตร การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่เนปาลมากกว่า 50 ปี และในระหว่างการเยือนนี้ มีการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือด้านต่างๆ รวม 8 ฉบับ
- นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 3-4 เมษายน โดยได้หารือร่วมกับผู้นำไทยในหลายมิติ ทั้งการเกษตร การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การค้า การลงทุน ตลอดจนมีการประกาศการยกระดับความสัมพันธ์ไทย – อินเดียสู่ความเป็น ‘หุ้นส่วนยุทธศาสตร์’ ซึ่งนายกฯ เผยว่า ไทยกับอินเดียตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงความร่วมมือด้านการเมืองและการป้องกันประเทศ การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยงทางกายภาพ ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคและประเด็นระดับโลกต่างๆ นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองยังได้แสดงความยินดีต่อการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและอินเดียที่สำคัญหลายฉบับ
นายกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การประชุม BIMSTEC ปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทนำของไทยในการผลักดัน BIMSTEC ให้กลายเป็นกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคที่สร้าง “ประโยชน์ที่จับต้องได้” แก่ประชาชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ โอกาสทางการค้า และการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับ ‘บังกลาเทศ’ ประธานบิมสเตคประเทศต่อไป
BIMSTEC ย่อมาจากคำว่า Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ’ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1997 ปัจจุบันมีสมาชิก 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา ภูฏาน และเนปาล มีประชากรรวมกัน 1.8 พันล้านคน หรือ 22% ของประชากรโลก มี GDP รวม 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกว่า 1.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนในระดับโลก
FTA ยังไม่คืบ
ปลายทางของความร่วมมือทางการค้าในกรอบ BIMSTEC คือการค้าเสรี (FTA) ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าไม่คืบหน้าเท่าที่ควร รวมถึงในการประชุมระดับผู้นำปีนี้ที่ไม่มีข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม โดยเอกสารที่ได้รับจากกองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า BIMSTEC ได้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (BIMSTEC Trade Negotiation Committee: TNC) มาแล้ว 21 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดย้อนกลับไปในปีที่บังกลาเทศเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงธากา ในปี 2018 ซึ่งครั้งนั้นสามารถสรุปข้อบทในการเจรจาความตกลงด้านกระบวนการและกลไกระงับข้อพิพาท และสามารถสรุปประเด็นสำคัญในความตกลงด้านการค้าสินค้าและความตกลงด้านความร่วมมือด้านศุลกากร
ส่วนการเจรจาความตกลงด้านการค้าบริการ ความตกลงด้านการลงทุน และความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้ามีความคืบหน้าตามลำดับ โดยภูฏานมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC TNC ครั้งที่ 22 ตามระเบียบการเวียนประเทศเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษร โดยคาดว่าจะจัดภายในปี 2025
เอกสารระบุว่า ปัจจุบัน BIMSTEC ให้ความสำคัญกับการเจรจาข้อบทภายใต้ความตกลงการค้าสินค้า (Agreementon Trade in Goods) โดยเฉพาะการเร่งสรุปผลข้อบทว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเปิดเสรีการค้า
ส่วนความท้าทายของการเจรจาความตกลง FTA ของกลุ่ม BIMSTEC นั้น แม้ว่าจะมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 รอบ แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เนื่องจากบางประเทศสมาชิกยังมีความกังวลในเรื่องการขาดดุลการค้า นอกจากนี้ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดได้ส่งผลกระทบให้กระบวนการเจรจาต้องหยุดชะงักด้วย อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ เชื่อว่า หากมองภาพรวมในระยะยาว การจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายใต้ BIMSTEC FTA จะเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างมหาศาลแก่ทุกรัฐสมาชิก
อีกโครงการสำคัญคือการเชื่อมโยงทางบกผ่านทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมา-ไทย (Trilateral Highway) ซึ่งปัจจุบันเส้นทางในส่วนของเมียนมายังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบจากสงครามกลางเมือง ส่งผลให้โครงการนี้มีความล่าช้า
ผู้นำ BIMSTEC ไม่ได้คุยเรื่องภาษีทรัมป์
มีความคาดหวังว่า ท่ามกลางสงครามการค้าและมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ที่สะเทือนไปทั่วโลก จะผลักให้การประชุมปีนี้หารือประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับการรับมือมาตรการภาษีและการส่งเสริมความร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิก ทว่า นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุในการแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำวันนี้ (4 เมษายน) ว่า ในที่ประชุมผู้นำเช้านี้ ไม่มีการหารือกันในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ประเด็น มิน อ่อง หล่าย เยือนไทย ท่ามกลางกระแสคัดค้าน
อีกหนึ่งประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจในการประชุม BIMSTEC ปีนี้คือ การเข้าร่วมของ มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามกลางเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อน โดยก่อนหน้านี้รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ยังมี สส. ฝ่ายค้าน รวมถึงนักวิชาการหลายคนที่คัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าเวทีนี้อาจช่วยสร้างความชอบธรรมให้ มิน อ่อง หล่าย และแม้ว่ารัฐบาลทหารจะประกาศหยุดยิงชั่วคราวระหว่างวันที่ 2-22 เมษายน เพื่อเปิดทางให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว แต่ก็มีรายงานว่า ทหารยังคงเดินหน้าโจมตีคู่ขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ตามกฎบัตร BIMSTEC นั้น ถือเป็นพันธกรณีที่เจ้าภาพจะต้องเชิญผู้นำจากทั้ง 6 ประเทศสมาชิกมาร่วมประชุม ซึ่งการเชิญครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของไทยในฐานะเจ้าภาพเพื่อให้เกิดฉันทามติและนำไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือในมิติต่างๆ และปีนี้มีวาระเรื่องของสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมาต้องการความช่วยเหลือ
อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจคือ ผู้นำไทยและเมียนมาคุยกันเรื่องอะไรบ้างในระหว่างการหารือนอกรอบที่กรุงเทพฯ ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบว่า ทั้งสองมีการหารือกันหลายประเด็น ประเด็นแรกคือสถานการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา โดยเฉพาะที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก และมีการหารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากนี้ผู้นำเมียนมายังกล่าวขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือเป็นประเทศแรกๆ
ประเด็นที่สองที่หารือกันคือความมั่นคงทางชายแดน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกองทัพ โดยจัดการประชุมอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังคุยกันถึงการแก้ปัญหาการลักลอบขนอาวุธ ยาเสพติด และสแกมเมอร์
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่มีการหารือกันคือการควบคุมการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมายผ่านแม่น้ำเมย การสกัดสารเคมีตั้งต้นสำหรับการผลิตยาเสพติด นอกจากนี้ยังคุยกันเรื่องความร่วมมือแก้ปัญหา PM2.5 และ มิน อ่อง หล่าย ยังฝากไทยดูแลแรงงานชาวเมียนมาในไทย
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ผู้นำไทยและเมียนมาไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับแผนจัดการเลือกตั้งในเมียนมา
นี่คือภาพรวมของการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งแม้จะเป็นเวทีที่สร้างโอกาสให้ไทยในด้านการค้าและการลงทุนในตลาดภูมิภาคอ่าวเบงกอลที่มีศักยภาพ แต่ก็ยังมีความท้าทายในเรื่องการขับเคลื่อนวาระต่างๆ สู่เป้าหมายระหว่างประเทศสมาชิก เช่น กรณีของ FTA ที่ไม่คืบหน้ามาหลายปี ส่วนไทยในฐานะสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อดูจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ก็มีโจทย์สำคัญในการคว้าโอกาสจากประเทศตลาดเกิดใหม่แห่งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่ผันผวน
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา, ทำเนียบรัฐบาล