×

บิล เกตส์, อีลอน มัสก์ และเหล่าแม่ทัพทางธุรกิจอีก 4 คน ได้รับบทเรียนอันล้ำค่าอะไรจาก ‘สตีฟ จ็อบส์’ บ้าง?

21.10.2021
  • LOADING...
สตีฟ จ็อบส์

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ‘สตีฟ จ็อบส์’ ผู้ก่อตั้ง Apple และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในด้านของเทคโนโลยี เสียชีวิตด้วยวัย 56 ปี หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งมานานหลายปี ทั้งผู้ร่วมงานของจ็อบส์ และคู่แข่งมากมาย ต่างได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของจ็อบส์ ไม่ว่าจะเป็น ทิม คุก ประธานกรรมการบริหารคนปัจจุบันของ Apple ไปจนถึงเพื่อนซี้คู่แข่งอย่าง บิล เกตส์ และบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางเทคโนโลยีในปัจจุบันอย่าง อีลอน มัสก์ เอง หรือแม้แต่พนักงานตัวเล็กๆ ก็ตาม

 

มาดูกันว่าผู้นำและนักคิดทางธุรกิจ ได้บทเรียนอะไรจาก สตีฟ จ็อบส์ กันบ้าง

 

1. บิล เกตส์: “จ็อบส์สามารถสะกดความสนใจของผู้คนได้อย่างอยู่หมัด”

 

บิล เกตส์ และ สตีฟ จ็อบส์ ยังคงเป็นเพื่อนซี้คู่แข่งที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในวงการเทคโนโลยี โดยทั้ง Microsoft และ Apple ต่างต่อสู้กันมานานกว่า 30 ปี เกตส์และจ็อบส์ก็กลายเป็นเพื่อนกัน โดยหลังจากการเสียชีวิตของจ็อบส์ เกตส์โพสต์บน Twitter ว่า “ในฐานะที่เป็นคนที่โชคดีพอที่จะได้ร่วมงานกับสตีฟ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานด้วย ฉันจะคิดถึงสตีฟมากๆ” 

 

หลังจากนั้นเกตส์ก็ได้เปิดใจเกี่ยวกับความอิจฉาที่มีต่อสตีฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการพูดจูงใจ และการพูดในที่สาธารณะของสตีฟ 

 

“เขาเป็นพ่อมดที่สามารถจูงใจและสร้างแรงบันดาลให้คนได้อย่างใจนึก” เกตส์บอกกับพอดแคสต์ Armchair Expert “แต่ผมก็เป็นพ่อมดเช่นเดียวกัน เป็นแค่พ่อมดตัวน้อย ผมจึงไม่ได้ตกอยู่ในมนต์สะกดของสตีฟ แต่พอผมเห็นเขาร่ายคาถา ผมก็มักจะนั่งดูผู้คนมากมายถูกจ็อบส์สะกดจิต”

 

ในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนกันยายน 2019 กับ The Wall Street Journal เกตส์ตั้งข้อสังเกตว่าจ็อบส์มีพรสวรรค์โดยธรรมชาติในการดึงดูดผู้ชมเสมอ แม้แต่ในขณะที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพก็ตาม จ็อบส์ก็สามารถจูงใจผู้คนได้มากมาย

 

“จากที่ผมสัมผัส สตีฟ จ็อบส์ มักจะชอบพูดในที่สาธารณะมากกว่า” เกตส์กล่าว “อย่างกรณีของสินค้าอย่าง NeXT Computer เขาพูดออกมาว่านั่นไม่ใช่อุปกรณ์ที่ดีนัก แต่ก็ยังสามารถทำให้ผู้ชมหลงใหลในอุปกรณ์อย่างหัวปักหัวปำได้ หากผู้ชมเหล่านั้นอยู่ในหอประชุมด้วย”

 

2. ทิม คุก: “พี่เลี้ยงของคุณอาจช่วยให้คุณมีทักษะที่ดีพร้อม แต่ไม่สามารถช่วยให้คุณยืนหยัดด้วยตัวเองได้ คุณเท่านั้นที่จะต้องฝึกยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง”

 

ไม่นานก่อนที่เขาจะเสียชีวิต จ็อบส์ได้มอบบังเหียนซีอีโอของ Apple ให้กับ ทิม คุก โดยคุกใช้เวลาเพียง 14 ปีในการเรียนรู้โดยตรงจากจ็อบส์ ซึ่งคุกบอกว่าเขาไม่พร้อมจะเข้ามาแทนที่จ็อบส์

 

ในคำปราศรัยงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดปี 2019 คุกได้แบ่งปันบทเรียนอันล้ำค่าจากเมนเทอร์ของเขาอย่าง สตีฟ จ็อบส์ “14 ปีที่แล้ว สตีฟยืนอยู่บนเวทีนี้และบอกกับรุ่นพี่ของคุณว่า ‘เวลาของคุณมีจำกัด ดังนั้นอย่าเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตแบบคนอื่นเลย’ และนี่คือบทเรียนที่เขาให้กับผม: พี่เลี้ยงของคุณอาจช่วยให้คุณมีทักษะที่ดีพร้อม แต่ไม่สามารถช่วยให้คุณยืนหยัดด้วยตัวเองได้ คุณเท่านั้นที่จะต้องฝึกยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง”

 

คุกได้บรรยายถึงความเหงาที่เขารู้สึกหลังจากจ็อบส์เสียชีวิต โดยกล่าวว่าประสบการณ์ดังกล่าวสอนให้เขารู้ซึ้งถึงความแตกต่างระหว่าง ‘ทักษะที่มีพร้อม’ กับ ‘ความพร้อมจริงๆ’ เขาบอกกับผู้สำเร็จการศึกษาว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเป็นผู้นำ ไม่ว่าพวกเขาจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม นั่นไม่เป็นไร “จงค้นหาความหวังในสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึง ค้นหาความกล้าหาญในความท้าทาย ค้นหาวิสัยทัศน์ของคุณบนถนนที่ไม่มีใครเคยก้าวไป”

 

3. เม็ก วิทแมน: “เรียบง่ายอาจยากกว่าซับซ้อน”

 

จ็อบส์เสียชีวิต 9 เดือน หลังจากการดำรงตำแหน่งปีที่เจ็ดของ เม็ก วิทแมน ในฐานะซีอีโอของ Hewlett Packard หรือที่รู้จักกันในชื่อ HP บริษัทคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ระดับโลก จ็อบส์ได้ทิ้งร่องรอยไว้อย่างชัดเจนในปรัชญาความเป็นผู้นำของวิทแมน โดยไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากนั้น วิทแมนบอกกับ The Wall Street Journal ว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจต่างๆ มาจาก Apple 

 

วิทแมนกล่าวว่า “Apple ทำให้ทั่วทั้งตลาดพัฒนาไปสู่การออกแบบที่สวยงามกว่าเดิม และ Apple สอนให้เรารู้ว่าการออกแบบนั้นมีความสำคัญมากขนาดไหน” 

 

แนวทางของจ็อบส์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมรดกที่โด่งดังที่สุดของเขาชิ้นหนึ่ง “ความเรียบง่ายอาจยากกว่าความซับซ้อน” จ็อบส์บอกกับ BusinessWeek เมื่อปี 1998 “คุณต้องทำงานหนักเพื่อคิดและออกแบบสิ่งต่างๆ ให้เรียบง่ายยิ่งขึ้น แต่ความพยายามอย่างหนักนี้จะคุ้มค่าในท้ายที่สุด เพราะเมื่อคุณทำได้แล้ว คุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล”

 

4. จอนนี ไอฟ์: “ความอยากเรียนรู้ สำคัญกว่าความอยากที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้มันถูกต้องตามแบบแผน”

 

ที่งานศพของจ็อบส์ จอนนี ไอฟ์ หัวหน้าดีไซเนอร์ของ Apple ที่รู้จักกับจ็อบส์มาอย่างยาวนาน กล่าวยกย่องจ็อบส์ว่าเป็น “เพื่อนที่สนิทที่สุดและซื่อสัตย์ที่สุดของฉัน”

 

ความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับจ็อบส์ที่ฉันมีคือ วิธีที่จ็อบส์มองโลก “เขาเป็นมนุษย์ที่อยากรู้อยากเห็นที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมา” ไอฟ์เขียนไว้ใน The Wall Street Journal “ความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่รู้จักพอของเขาไม่ได้ถูกจำกัดและเบี่ยงเบนด้วยขอบเขตความรู้ ความเชี่ยวชาญของเขา ผมสัมผัสได้ถึงความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อย่างบ้าคลั่งของเขา ความอยากรู้ของเขาได้รับการฝึกฝนมาด้วยความตั้งใจอย่างเป็นจริงเป็นจัง”

 

ความอยากรู้อยากเห็นนี้มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของจ็อบส์ เนื่องจากคนอื่นๆ มักถูกล่อลวงให้สำรวจเฉพาะสิ่งที่พวกเขารู้แล้วหรือสิ่งเขาที่รู้สึกปลอดภัย “ความอยากรู้อยากเห็นของเราขอร้องให้เราเรียนรู้” ไอฟ์กล่าว “และสำหรับสตีฟ ความอยากเรียนรู้สำคัญกว่าการอยากทำสิ่งต่างๆ ตามแบบแผนให้ออกมาถูกต้อง”

 

5. อีลอน มัสก์: “ความสามารถในการดึงดูดและสร้างพลังใจให้กับคนที่มีคุณภาพ เป็นสิ่งสำคัญ”

 

อีลอน มัสก์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ Tesla ทวีตถึงความปรารถนาที่อยากจะพูดคุยกับจ็อบส์ให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต

 

ที่งาน Computer History Museum ในปี 2013 มัสก์เล่าว่า แลร์รี เพจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Google เคยพยายามแนะนำให้เขารู้จักกับจ็อบส์ในงานปาร์ตี้ แต่จ็อบส์กลับเย็นชาและเฉยเมยต่อมัสก์ “ผมพยายามคุยกับเขาในงานปาร์ตี้ครั้งหนึ่ง และเขาก็หยาบคายกับผมมาก” มัสก์พูดติดตลก “แต่ผมไม่คิดว่าเป็นแค่กับผมคนเดียว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ”

 

มัสก์มักถูกเปรียบเทียบว่าจะเป็นจ็อบส์คนต่อไปในด้านวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจ โดยในการให้สัมภาษณ์กับ Autobild.tv ปี 2018 มัสก์กล่าวว่าเขาชื่นชมจ็อบส์มาอย่างยาวนาน ทั้งความสามารถของเขาในการขยายบริษัท Apple และยังสามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถสูงให้มาทำงานด้วย 

 

รวมถึงการได้รับความภักดีจากพนักงานหลากหลายคน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มัสก์พยายามทำที่ Tesla “ความสามารถในการดึงดูดและสร้างพลังใจให้กับคนที่มีคุณภาพนั้น มีความสำคัญต่อความสำเร็จของบริษัท เพราะบริษัทเป็นสถานที่ที่กลุ่มคนมารวมตัวกัน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ” มัสก์อธิบาย 

 

6. บ็อบ ไอเกอร์: “มันยากที่จะจินตนาการถึงคนจะที่เสนอขายสิ่งต่างๆ ได้เก่งกว่าจ็อบส์อีกแล้ว”

 

ในปี 2006 จ็อบส์ขายสตูดิโอแอนิเมชันอย่าง Pixar ให้กับ Disney ในราคามากถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นดีลที่ บ็อบ ไอเกอร์ ซึ่งเป็นซีอีโอในขณะนั้นกล่าวว่า ถือเป็นดีลที่ช่วยเหลือ Disney ไว้ได้ในปัจจุบันเลยทีเดียว

 

ไอเกอร์และจ็อบส์รู้จักกันอยู่แล้ว ตามข้อมูลของ Fortune ในปี 2005 และตอนที่ไอเกอร์รู้ว่าเขาได้งานตำแหน่งระดับสูงที่ Disney เขาได้โทรหาคนไม่กี่คนเพื่อบอกข่าวดีนี้ มีทั้งครอบครัวของเขา อดีตเจ้านายของเขา และ สตีฟ จ็อบส์

 

“สตีฟ จ็อบส์ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ธรรมดา เป็นทั้งเพื่อนรักของเรา และเป็นแสงสว่างนำทางของครอบครัว Pixar” ไอเกอร์กล่าวในแถลงการณ์ปี 2011 หลังจ็อบส์เสียชีวิต “จ็อบส์มองเห็นศักยภาพของสิ่งที่ Pixar อาจเป็นได้ ซึ่งเกินกว่าพวกเราหรือคนอื่นๆ จะจินตนาการถึง”

 

ในบทความ Vanity Fair ปี 2019 ไอเกอร์จำได้ว่าเคยดูจ็อบส์เสนอให้คณะกรรมการของ Disney ซื้อกิจการ Pixar “มันยากที่จะจินตนาการถึงคนจะที่เสนอขายสิ่งต่างๆ ได้เก่งกว่าจ็อบส์แล้ว” ไอเกอร์กล่าว

 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 ตุลาคม) ไอเกอร์ระลึกถึงพลังแห่งการโน้มน้าวและความสร้างสรรค์ของจ็อบส์ เพื่อนที่เก่าแก่ของเขา โดยเขียนว่า “กาลเวลาไม่ว่าจะพึ่งผ่านมาหรือผ่านมาแล้วนานเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้ความรู้สึกสูญเสีย ความโศกเศร้าว่างเปล่าของเราจืดจางลง เมื่อเราสูญเสียเพื่อนรักและเพื่อนร่วมงาน ที่เป็นดั่งขุมพลังแห่งจินตนาการอันทรงพลัง การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ความอยากรู้อยากเห็น และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X