Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงคำพูดของแหล่งข่าวที่ระบุว่า Big C ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ BJC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังถูกวางแผนแยกออกมาเพื่อกลับสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง โดยหวังการระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท
รายงานระบุว่า Big C กำลังพิจารณาจากวาณิชธนกิจสำหรับข้อเสนอในการ IPO ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีในปีหน้า แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า การ IPO จะเป็นไปตามคำพูดของแหล่งข่าวหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กางแผน 5 ปีของ ‘BJC-Big C’ เทงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท หวังปั้นยอดขายให้ทะลุ 2.7 แสนล้านบาท
- เดี๋ยว 7-Eleven เหงา! Big C ชิมลาง เปิด ‘Mini Big C สาขาตลาดเดโป’ ร้านสะดวกซื้อสาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
- Big C ทุ่ม 350 ล้านบาท ลงทุนในไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขา 152 ที่ ‘นราธิวาส’ คาดสร้างยอดขายปีละ 400 ล้านบาท
สำหรับ Big C โดยกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2536 และเปิดร้านสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนจะระดมทุนได้ประมาณ 4.2 พันล้านบาทในการ IPO เมื่อปี 2555
ในปี 2559 บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด ของเจ้าสัวเจริญตกลงที่จะซื้อหุ้นของ Big C ในสัดส่วน 58.6% ด้วยมูลค่า 3.1 พันล้านยูโร ก่อนจะถูกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2560 และกลายมาเป็นบริษัทย่อยของ BJC หรือบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในที่สุด
Big C มีร้านค้า 1,792 แห่ง รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา ล่าสุดได้เข้าซื้อร้าน Kiwi Mart จำนวน 18 แห่งในประเทศกัมพูชา และวางแผนที่จะรีแบรนด์ร้านดังกล่าวเป็นร้าน Big C Mini
BJC รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า รายได้รวมในกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 27,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,597 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ต้นปีที่ผ่านมา อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่ม BJC ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565-2569 BJC ใช้เงินเฉลี่ยปีละ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุน โดยงบหลักกว่า 70% จะถูกใช้กับการขยาย Big C ซึ่งเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ทำรายได้หลักให้กับเครือ
เหตุผลที่ลงทุนกับ Big C เป็นจำนวนมากเพราะนี่คือรายได้หลัก ซึ่งปีที่ผ่านมากลุ่มสินค้าและบริการทางค้าปลีกสมัยใหม่ทำรายได้ 91,302 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% ที่สำคัญยังเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าในเครือ ซึ่ง BJC นั้นมีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้วางเป้ารายได้เฮาส์แบรนด์ให้ถึง 5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2569
ตามแผนการขยายร้านค้าภายในปี 2569 ประกอบด้วย ในไทยขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มเป็น 160 สาขา, บิ๊กซีมินิ เพิ่มเป็น 2,853 สาขา, บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และขายส่ง เพิ่มเป็น 84 สาขา ส่วนในกัมพูชาขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต เพิ่มเป็น 6 สาขา, บิ๊กซีมินิ เพิ่มเป็น 276 สาขา และใน สปป.ลาว ขยาย บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา กับ บิ๊กซีมินิ เพิ่มเป็น 245 สาขา
อ้างอิง: