×

ภาคธุรกิจกระทบอย่างไรบ้าง หลัง ‘ไบเดน’ ออกคำสั่งห้ามลงทุนในชิป ควอนตัม และ AI ของจีน

11.08.2023
  • LOADING...

หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน ในที่สุดทางการสหรัฐฯ ก็ได้ออกคำสั่งพิเศษ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ลงทุนในอุตสาหกรรมชิป ควอนตัม และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน ทำให้หลายฝ่ายต่างจับตามองว่าบรรดาธุรกิจในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 สิงหาคม) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษที่มุ่งเน้นจำกัดการลงทุนของสหรัฐฯ ในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และปัญญาประดิษฐ์ของจีน เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ได้เปิดรับความคิดเห็นจากสาธารณะภายใน 45 วัน ทำให้นักลงทุนสหรัฐฯ มีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎระเบียบในขั้นสุดท้าย

 

ในประกาศได้ระบุคำสั่งยับยั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้

 

เซมิคอนดักเตอร์: กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาสั่งห้ามลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยในการผลิตหรือปรับปรุงชิปขั้นสูง การออกแบบชิป การประดิษฐ์ชิป บรรจุภัณฑ์สำหรับชิปขั้นสูง และการติดตั้งหรือขายชิปให้แก่ลูกค้าบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้องกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์บางรุ่น

 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาถึงข้อกำหนดการแจ้งเตือนสำหรับการทำธุรกรรมของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การประดิษฐ์ และการบรรจุชิป โดยในประกาศระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลโดยเฉพาะต่อเทคโนโลยีที่สนับสนุนนวัตกรรมทางทหาร

 

ควอนตัมคอมพิวติ้ง: กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาคำสั่งห้ามธุรกิจทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตควอนตัมคอมพิวเตอร์ เซ็นเซอร์ และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาว่านักลงทุนไม่จำเป็นต้องแจ้งการทำธุรกรรมในภาคส่วนนี้

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลต่อความกังวลในเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้งว่าอาจเป็นการบ่อนทำลายการเข้ารหัสและการควบคุมความปลอดภัยทางไซเบอร์ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อการสื่อสารทางทหาร

 

ปัญญาประดิษฐ์: กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาคำสั่งห้ามธุรกิจลงทุนในซอฟต์แวร์ AI ที่ออกแบบมาสำหรับการทหาร หน่วยข่าวกรองของรัฐบาล และหน่วยเฝ้าระวังของประเทศ

 

กระทรวงการคลังระบุว่า อาจกำหนดให้บุคคลในสหรัฐฯ ต้องแจ้งให้ทราบก่อนหากมีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI ด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เครื่องมือนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล การควบคุมระบบหุ่นยนต์ การจดจำใบหน้า และอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมไปยังบริษัทที่พัฒนาระบบ AI สำหรับแอปพลิเคชันของผู้บริโภคและการใช้งานอื่นๆ ที่ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เปิดรับความคิดเห็นต่อคำสั่งพิเศษที่เผยแพร่ออกไปภายในวันที่ 28 กันยายน และได้สอบถามไปยังบริษัทในสหรัฐฯ ว่า หากบริษัทต้องเผชิญกับข้อจำกัดบางอย่าง วิธีการระดมทุนจากนักลงทุนในสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร และการลงทุนดังกล่าวจะต้องให้ประโยชน์เชิงกลยุทธ์แก่สหรัฐฯ และไม่กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

 

ข้อมูลของ PitchBook พบว่า นักลงทุนในสหรัฐฯ กว่า 300 รายได้เข้าร่วมในข้อตกลงการระดมทุนของจีนตั้งแต่ปี 2016 แต่ในปีนี้เหลือผู้เข้าร่วมเพียง 64 ราย ขณะที่จำนวนข้อตกลงการระดมทุนของจีนในไตรมาส 2 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2017

 

ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนในสหรัฐฯ มีส่วนร่วมกับข้อตกลงการระดมทุนของจีนในธุรกิจ AI ลดลงตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2022 ด้านควอนตัมคอมพิวติ้งแทบไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2021 และเซมิคอนดักเตอร์ พบกิจกรรมการระดมทุนในระดับปานกลางตั้งแต่เริ่มปีนี้

 

Jonathan Levy ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าวว่า คำสั่งที่เผยแพร่ออกมาล่าสุดกำลังส่งสัญญาณว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใหม่กับจีนอีกต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนของสหรัฐฯ ในเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีขั้นสูงถือเป็นผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ของประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising