วันนี้ (22 กรกฎาคม) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดคาดการณ์ว่า เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุเบตา (B.1.351) มีแนวโน้มที่อาจจะหายไปหรือยุติการแพร่ระบาด หลังเชื้อสายพันธ์ุเดลตา (B.1.617.2) ชิงพื้นที่แพร่ระบาดอย่างหนักในหลายประเทศทั่วโลก
โดยจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุเบตาลดลงอย่างมากในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโควิดสายพันธ์ุอัลฟา (B.1.1.7) และสายพันธ์ุเดลตา ซึ่งจากสถิติเคยมีจำนวนผู้ป่วยโควิดสายพันธ์ุเบตาสูงสุดในช่วงวันที่ 15-21 มีนาคมที่ผ่านมา สูงถึง 1,956 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาใต้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธ์ุเบตาในขณะนั้นคิดเป็น 2% ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก ก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลงเหลือเพียง 0.4% เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตามีเพียง 0.1% เท่านั้น ก่อนจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 70.4% เมื่อราวสัปดาห์ที่ผ่านมา และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 78.4% ในวันนี้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุอัลฟาก็ค่อยๆ ลดจำนวนลงเช่นกัน คิดเป็นราว 14.2% ในขณะนี้
ทางด้าน แอริส คัตซูราคิส อาจารย์ด้านพันธ์ุศาสตร์และวิวัฒนาการประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า “เบตาสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้ดีมาก แต่ต่างจากอัลฟาและเดลตาตรงที่ยังไม่มี หรืออย่างน้อยก็ยังไม่มีใครแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบในการแพร่เชื้อที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษของไวรัสตัวนี้ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่มันจะถูกแซงหน้าและแพ้ให้กับอัลฟาและเดลตา โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนโควิดประสิทธิภาพอาจไม่มากพอ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น”
แม้ที่ผ่านมาอาจจะมีงานวิจัยที่เชื้อเบตาอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดลง แต่ก็มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อต่ำกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธ์ุอัลฟาและเดลตา โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเชื้อเบตาอาจจะหายไปหรือยุติการแพร่ระบาดไปในอีกหลายเดือนข้างหน้าก็เป็นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจแนวทางการใช้วัคซีน mRNA เป็น ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ในประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac
- สำรวจ ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ หรือ ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ที่น่าสนใจในประชาคมโลก
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: angellodeco / Shutterstock
อ้างอิง: