×

วัคซีนที่ดีที่สุด คือ…? มุมมองของรัฐ vs. ประชาชน

21.05.2021
  • LOADING...
วัคซีนที่ดีที่สุด คือ…? มุมมองของรัฐ vs. ประชาชน

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • เมื่อกล่าวว่า ‘ดีที่สุด’ จึงเป็นการจัดอันดับวัคซีน เหมือนการจัดอันดับแม่น้ำที่ยาวที่สุด, ตึกที่สูงที่สุด หรือรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่การเปรียบเทียบแม่น้ำ/ตึก/รัฐสภามีเกณฑ์การเปรียบเทียบชัดเจน ในขณะ ‘ความดี’ ชั่งตวงวัดลำบาก แล้ววัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนอะไรกันแน่?
  • ความดีเป็นนามธรรม แต่วัคซีนผลิตขึ้นมาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงสามารถชั่งตวงวัดความดีได้ถ้ากำหนดคุณสมบัติขึ้นมาเป็นเกณฑ์ 

วัคซีนที่ดีที่สุด คือ…?

วัคซีนที่มี

วัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด

วัคซีนที่มีอยู่และสามารถฉีดได้ในเวลาที่เร็วที่สุด

 

วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

วัคซีนที่ประชาชนมั่นใจ

หรือไม่ได้อยู่ในขวด แต่คือหน้ากากอนามัย

 

ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็แล้วแต่ หรือเป็นคำเรียกโดยรวม เช่น ‘วัคซีนที่มี’ ซึ่งตอนนี้ไทยมีวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac แต่การกล่าวว่า ‘ที่สุด’ ย่อมเป็นการเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลก ณ ขณะนี้ ซึ่งถ้ายึดตามลิสต์ที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUL) แล้ว ได้แก่ 

 

  • Pfizer/BioNTech
  • AstraZeneca/Oxford
  • Janssen (Johnson & Johnson)
  • Moderna
  • Sinopharm

 

ถ้า ศบค./กระทรวงสาธารณสุข จะไม่เปรียบเทียบก็จบตรงนี้ เพราะวัคซีนทุกยี่ห้อที่อยู่ในลิสต์นี้ผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในเกณฑ์นั้นคือวัคซีนมีประสิทธิภาพ (Efficacy) เกิน 50% และมีช่วงความเชื่อ 95% ขั้นต่ำ (Lower Bound) ไม่ต่ำกว่า 30%

 

เมื่อกล่าวว่า ‘ดีที่สุด’ จึงเป็นการจัดอันดับวัคซีนในลิสต์นี้เหมือนการจัดอันดับแม่น้ำที่ยาวที่สุด, ตึกที่สูงที่สุด หรือรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่การเปรียบเทียบแม่น้ำ/ตึก/รัฐสภามีเกณฑ์การเปรียบเทียบชัดเจน ในขณะ ‘ความดี’ ชั่งตวงวัดลำบาก แล้ววัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนอะไรกันแน่?

 

ความหมายของ ‘วัคซีน’ ที่ไม่ใช่วัคซีน

ก่อนจะพูดถึงวัคซีนที่ดีที่สุด น่าจะต้องนิยามคำว่า ‘วัคซีน’ ให้ตรงกันก่อน เพราะความหมายอย่างแคบของวัคซีนก็คือ ‘วัคซีน’ ตามพจนานุกรม แต่เมื่อปีที่แล้วมีผู้ใช้คำนี้ในความหมายอย่างกว้างคือใช้เปรียบเทียบว่าเป็น ‘อุปกรณ์’ หรือวิธีในการป้องกันโรค เช่น

 

 

  • ‘หน้ากากคือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุด’ (ศูนย์ข้อมูล COVID-19, 28 กันยายน 2563) ซึ่งน่าจะดัดแปลงมาจากบทความ ‘หน้ากากอนามัยคือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุด’ ของ ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 
  • ‘วัคซีนที่ดีที่สุดของประเทศตอนนี้คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ’ (กรมอนามัย, 20 ธันวาคม 2563) แต่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครสื่อสารต่างออกไปคือ “วัคซีนรอปีหน้า หน้ากากผ้าใช้ได้เลย” (18 ธันวาคม 2564) 
  • หรือกรมสุขภาพจิตก็ใช้คำว่า ‘วัคซีนใจ’ มาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก เช่น ‘การฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) วัคซีนใจในบุคคล วัคซีนใจในครอบครัว วัคซีนใจในชุมชน 4 สร้าง 2 ใช้’ (กรมสุขภาพจิต, 23 พฤษภาคม 2563)

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนพูดถึงวัคซีนจริงมากขึ้นน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564 เพราะมีการระบาดที่จังหวัดสมุทรสาคร และในต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนรัฐบาลก็อนุมัติงบกลางในการจัดซื้อวัคซีน Sinovac มาเพิ่มเติมในระหว่างที่รอวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศซึ่งจะส่งมอบได้ช่วงกลางปี

 

แต่ก่อนที่จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ฝั่งรัฐยังมีการพูดถึงวัคซีนในความหมายอย่างกว้างอยู่ ถึงแม้จะเข้าใจได้ว่ารัฐต้องการส่งเสริมการสวมหน้ากาก หรือวัคซีนอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ก็ทำให้เข้าใจว่ารัฐไม่ให้ความสำคัญกับวัคซีน เช่น

 

 

  • “ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อ แต่จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตและป่วยรุนแรงได้ วัคซีนที่ดีที่สุดคือ อยู่ห่างไว้ ใส่มาสก์กัน หมั่นล้างมือ” (กรมควบคุมโรค, 1 กุมภาพันธ์ 2564) หมายเหตุว่าเดิมกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มแรกของไทยคือวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2564 
  • หรือ “วัคซีนจะมาช้าหรือเร็วแทบไม่มีผลกับคนไทย เพราะเรามีหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าในการป้องกันอนามัยส่วนตัว” (โฆษก ศบค., 9 กุมภาพันธ์ 2564) จึงไม่แปลกที่จะสร้างความไม่พอใจในสังคมออนไลน์ เพราะบางคนตีความว่า ศบค. ไม่ยอมรับว่าตนเองจัดหาวัคซีนล่าช้า

 

มีนาคมแล้ว แต่ยังไม่มี ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ 

เดือนมีนาคม 2564 เริ่มมีการฉีดวัคซีนในบางจังหวัด แต่เนื่องจากยังมีปริมาณวัคซีนจำกัด กลุ่มเป้าหมายจึงเป็นบุคลากรทางการแพทย์/เจ้าหน้าที่ด่านหน้าในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในพื้นที่ที่มีการระบาด เช่น ตลาดบางแค 

 

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ในวันที่ 16 มีนาคม เลื่อนมาจากวันที่ 12 มีนาคม เพราะข่าวการหยุดฉีดวัคซีน AstraZeneca ในยุโรปเพื่อสอบสวนผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน จนกระทั่งเมื่อองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปออกมายืนยันว่าไม่เกี่ยว* จึงฉีดต่อได้

 

(*เป็นผลการสอบสวนในขณะนั้น แต่ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการฉีดวัคซีน AstraZeneca เนื่องจากพบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่มีโอกาสพบน้อย และมีปัจจัยด้านพันธุกรรม/เชื้อชาติเกี่ยวข้องด้วย จึงต้องติดตามผลข้างเคียงในคนเอเชีย)

 

เท่าที่สืบค้นในช่วงเดือนมีนาคม ศบค./กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด” แต่น่าสนใจว่าถ้าตอนนั้นมีการรณรงค์ในทำนองนี้ นายกรัฐมนตรีจะยอมเลื่อนฉีด ‘วัคซีนที่มี’ หรือไม่ (คำถามนี้อาจถามเผื่อในอนาคตถ้ามีผลข้างเคียงรุนแรงเกิดขึ้นด้วย)

 

‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ ในระลอกเดือนเมษายน

อากาศร้อนไม่ได้ช่วยให้การระบาดลดลง ช่วงต้นเดือนเมษายนเริ่มมีการพูดถึง ‘วัคซีนทางเลือก’ และมีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนมากขึ้น เพราะไวรัสที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่ และในต่างประเทศ เช่น อิสราเอล เริ่มเห็นผลของวัคซีนว่ามีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลง

 

ในการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขจะมีแพทย์ที่พูดถึงวัคซีนเป็นประจำ 2 ท่านคือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาวัคซีนโควิด-19

 

โดยในวันที่ 11 เมษายน 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดถึงว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพอย่างไร สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 จะแบ่งเป็นการป้องกันอาการน้อยถึงปานกลาง และป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิต 

 

“จะพบว่าไม่ว่าวัคซีนที่ใช้ในยุโรป อเมริกา หรือไทย ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ไม่ว่าจะเป็น Sinovac หรือ AstraZeneca ก็ป้องกัน 100% แม้อเมริกันจะฉีดของ Moderna หรือ Pfizer แต่ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันเลย จึงขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย” 

 

วันต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2564 นพ.นคร เปรมศรี กล่าวในการแถลงข่าวว่า “วัคซีนที่ดี ณ เวลานี้ คือวัคซีนที่มาถึงแขนทุกท่านเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นวัคซีนที่ อย. ได้พิจารณาทบทวนคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพแล้ว ขึ้นทะเบียนแล้ว ถือเป็นวัคซีนที่ดี ใช้การได้”

 

ความดีเป็นนามธรรม แต่วัคซีนผลิตขึ้นมาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงสามารถชั่งตวงวัดความดีได้ถ้ากำหนดคุณสมบัติขึ้นมาเป็นเกณฑ์ วันที่ 13 เมษายน 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับ ‘วัคซีนในอุดมคติ’ ซึ่งระบุว่ามี 6 คุณสมบัติ ได้แก่

 

 

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังไม่ได้เป็นวัคซีนที่ดีที่สุดหรือวัคซีนในอุดมคติ… วัคซีนที่ใช้ขณะนี้มีมากกว่า 13 ชนิด โดยแต่ละชนิดยังมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก” ศ.นพ.ยง ระบุ “ช่วยกันลองพิจารณาดูว่าประเทศไทยจะใช้วัคซีนอะไรดี ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก”

 

เมื่อไม่นานมานี้ (10 พฤษภาคม) ศ.นพ.ยง ได้โพสต์เฟสบุ๊กถึง ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ อีกครั้ง โดยระบุว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดขณะนี้ คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด” 

 

“ในปีหน้าใครต้องการกระตุ้น วัคซีนยี่ห้ออะไร เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าวัคซีนจะมีจำนวนมากขึ้นและเพียงพอ” เพราะ “เราจะต้องได้รับวัคซีนหมู่มากให้เร็วที่สุดเพื่อลดความสูญเสียทางด้านสุขภาพ ร่างกาย เศรษฐกิจและสังคม ให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของทุกคน ตัวเราและส่วนรวม และประเทศชาติ”

 

ส่วน นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ได้ให้สัมภาษณ์ใน THE STANDARD VACCINE FORUM เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ว่าวัคซีนที่ดีในฐานะแพทย์ด่านหน้า (อาจเปรียบเทียบเป็น ‘วัคซีนในฝัน’ ตามหัวข้อการอภิปราย) จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ

 

  • ประสิทธิภาพสูงพอ 
  • ความปลอดภัยที่มากพอ 
  • กระจายการฉีดวัคซีนได้ทั่วถึง

 

ซึ่งจากความเห็นของแพทย์ทั้ง 3 ท่านที่ยกตัวอย่างมามีประเด็นร่วมกันอย่างน้อย 2 ข้อคือ ‘ความปลอดภัย’ และ ‘ประสิทธิภาพ’ ดังนั้นก่อนที่จะสรุปว่า ‘วัคซีนที่ดี (อาจไม่ที่สุด)’ คือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด ควรเป็นวัคซีนที่ได้รับการจัดหาอย่างรอบคอบแล้วว่ามีคุณสมบัติทั้งสองที่ ‘สูงมากพอ’ ด้วย

 

‘ประสิทธิภาพ’ ของวัคซีนที่เห็นไม่ตรงกัน

ในความคิดของผม ‘ตัวเลข’ ประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาเปรียบเทียบกันอาจเป็นเรื่องรอง แต่ ‘เป้าหมาย’ ของวัคซีนว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอะไร? เป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะตอนนี้ฝั่งรัฐ vs. ประชาชนส่วนหนึ่งกำลังเถียงกันคนละเป้าหมายอยู่ อย่างแรกน่าจะต้องตกลงกันเรื่องนี้ก่อน

 

  • ป้องกันอาการรุนแรง
  • ป้องกันการติดเชื้อ
  • ป้องกันสายพันธุ์ใหม่
  • ฯลฯ

 

โดยวัคซีนทุกยี่ห้อสามารถป้องกันอาการรุนแรง/เสียชีวิตได้ใกล้เคียงกัน ส่วนการป้องกันการติดเชื้อ วัคซีนชนิด mRNA น่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ส่วนสายพันธุ์ใหม่ วัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพลดลง วัคซีนชนิด mRNA อาจอัปเดตได้เร็วกว่า แต่ความปลอดภัยในระยะยาวยังบอกไม่ได้

 

จากนั้นรัฐต้องให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างรอบด้านที่สุด ทั้งข้อดี-ข้อเสีย เพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นความสมัครใจ การกล่าวในทำนองว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด” เปรียบเสมือนการมองวัคซีนโดยปิดตาข้างหนึ่งไว้ หากรัฐต้องการจูงใจควรใช้นโยบายอื่นควบคู่กันไปด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าของวัคซีนคือ เป้าหมายของการควบคุมการระบาดว่าในท้ายที่สุดแล้ว เรา vs. โควิด-19 จะชนะหรือเสมอกัน? เพราะการ ‘ชนะ’ หมายถึงผู้ป่วยรายใหม่เป็น 0 ราย ส่วนการ ‘เสมอ’ หมายถึงผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข 

 

แบบแรกเราจะกลับไปสู่ ‘ภาวะปกติ’ (Normalcy) ได้แบบปกติที่สุด ไม่ต้องกังวลเรื่องโควิด-19 อีกต่อไป แต่แบบหลังจะเหมือนกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กลายเป็นเชื้อประจำถิ่น และมีการระบาดตามฤดูกาล เรากลับไปสู่ภาวะปกติได้เหมือนกัน แต่กลุ่มเสี่ยงยังต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี

 

วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในป้องกันการติดเชื้อจะนำไปสู่ภูมิคุ้มกันหมู่และน่าจะชนะโควิด-19 ได้ แต่สิ่งที่เรายังไม่รู้คือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้นานเท่าไร และวัคซีนยังไม่เพียงพอ ทำให้ ‘ยังไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย’ (Nobody is safe until everyone is safe) 

 

ส่วนวัคซีนทุกยี่ห้อจะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่เปิดบริการได้ตามปกติ เพราะจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรง/เสียชีวิตลดลง ความต้องการใช้ ICU ลดลง ในระหว่างนี้ระบบเศรษฐกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ ถึงแม้จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะจะไม่มีการล็อกดาวน์จากภาวะระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว 

 

เป้าหมายที่ดีที่สุดคือ…

เป้าหมายไหนคือเป้าหมายของ ศบค./กระทรวงสาธารณสุข? เพราะถ้าเป้าหมายชัดเจนแล้วสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ความสับสนจะลดลง และความร่วมมือของประชาชนจะตามมา แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น ‘เป้าหมาย’ ใดก็ต้องการการบริหารจัดการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพในการไปถึงทั้งนั้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising