เป็นธรรมเนียมของวันวาเลนไทน์ไปเสียแล้วที่คู่รักจะมอบช็อกโกแลตให้แก่กัน แต่สำหรับในญี่ปุ่นจะไม่ใช่แค่แบรนด์หรือความหวานเท่านั้นที่มีความสำคัญ แต่การใช้เมล็ดโกโก้ที่เหมาะสมไปจนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น
ที่ Amour du Chocolat งานช็อกโกแลตวันวาเลนไทน์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเจอาร์ โทไค ทาคาชิยามะ ของนาโกย่า ธีมในปีนี้คือ SDG หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“เราต้องการส่งเสริมช็อกโกแลตแบบยั่งยืนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น” ผู้จัดงานกล่าว
ตัวอย่างเช่น บามคูเฮนรสช็อกโกแลตของ Club Harie ถูกส่งจากโรงงานในจังหวัดชิงะไปยังสถานที่จัดงานโดยใช้วิธีการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
จากโรงงานไปยังสถานีรถไฟมีการใช้รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง Toyota Mirai ต่อมาก็ขึ้นรถไฟหัวกระสุนชินคันเซนไปนาโกย่า ซึ่งพบว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกขนาด 10 ตัน เส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 90% ต่อเที่ยว
ขณะที่ช็อกโกแลตเด่นอื่นๆ เช่น QUON ซึ่งมีรสชาติยอดนิยม เป็นช็อกโกแลตที่โรยด้วยผงจากชา Unjo ที่ปลูกแบบออร์แกนิกจากจังหวัดไอจิ ด้าน Dot Science ในโตเกียวใช้ดอกไม้ที่ปลูกแบบออร์แกนิกเพื่อตกแต่งช็อกโกแลต
นอกจากนี้ยังมีช็อกโกแลตที่ส่งเสริมความยั่งยืนได้เข้าไปขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศญี่ปุ่น เช่น Mother House ได้คิดค้นช็อกโกแลตแท่ง Irodori ที่มีการไล่เฉดสี 12 ระดับ โดยทั้ง 12 แท่งมีพื้นฐานมาจากไวต์ช็อกโกแลต รสชาติยอดนิยม Ouka หรือดอกซากุระเป็นส่วนผสมของราสป์เบอร์รีรสหวานอมเปรี้ยวกับชามัทฉะที่มีรสขมและฝาด
ที่น่าสนใจคือ เมล็ดโกโก้มีแหล่งที่มาโดยตรงจากชาวนาในอินโดนีเซียที่ตั้งใจปลูกต้นโกโก้ท่ามกลางพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งรูปแบบการปลูกเป็นการแสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ
อ้างอิง: