‘ปืน’ นับเป็นหนึ่งในอาวุธยอดฮิตที่ถูกใช้ลงมือก่อเหตุและป้องกันตัวมากที่สุดในโลก นอกจากจะสามารถใช้โจมตีได้ทั้งระยะไกลและระยะประชิดได้แล้ว โอกาสที่การโจมตีนั้นจะประสบผลสำเร็จก็มีค่อนข้างสูงอีกด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ยิ่งคนเราสามารถเข้าถึงอาวุธได้มากเท่าไร แนวโน้มที่บุคคลนั้นจะเลือกใช้ความรุนแรงผ่านอาวุธดังกล่าวก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
THE STANDARD จึงอยากจะชวนคุณร่วมสำรวจว่า ในต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย หากเราต้องการซื้ออาวุธปืนที่ถูกต้องตามกฎหมายสัก 1 กระบอก จะมีขั้นตอนอย่างไร ยากหรือง่ายมากน้อยแค่ไหน
กางแผนที่ พร้อมสำรวจขั้นตอนการขอซื้ออาวุธปืนทั่วโลก
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีพลเมืองครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในโลก คิดเป็น 48% ของพลเมืองที่มีปืนไว้ในครอบครองกว่า 650 ล้านคนทั่วโลก
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เดินหน้าเก็บข้อมูลด้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอาวุธปืนของสหรัฐฯ อย่าง Gun Violence Archive ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา มีการใช้ ‘ปืน’ เป็นอาวุธลงมือก่อเหตุมากกว่า 9,538 ครั้ง มีพลเมืองอเมริกันเสียชีวิตแล้วถึง 2,522 คน และได้รับบาดเจ็บสูงถึง 4,304 คน
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 (ที่แก้ไขเพิ่มเติม) ที่ให้สิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ในการครอบครองและพกพาอาวุธปืนได้ คนเหล่านี้จึงเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: โดยทั่วไปผู้ซื้อจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (กรณีปืนยาวที่เด็กอเมริกันส่วนใหญ่มักใช้ล่าสัตว์) หรือ 21 ปี ผ่านการตรวจสอบประวัติด้านต่างๆ ไม่มีความผิดปกติทางจิต ไม่มีประวัติอาชญากรรม จึงจะมีสิทธิ์ซื้ออาวุธปืนได้ อีกทั้งยังจะต้องลงทะเบียนอาวุธปืน จึงจะสามารถเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โดยในบางรัฐอาจจะเพิ่มเงื่อนไขในการซื้ออาวุธปืนแตกต่างกัน เช่น กำหนดระยะเวลา waiting periods หรือตรวจเช็กประวัติให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า มีพลเมืองอเมริกันที่ครอบครองปืนมากกว่า 1 ใน 3 ไม่ได้ผ่านการตรวจเช็กประวัติและได้ครอบครองปืนผ่านการให้เป็นของขวัญ มรดกตกทอด และแลกเปลี่ยนกับเพื่อน
ระดับความยากง่าย: ?
เยเมน ประเทศในแถบคาบสมุทรอาหรับที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการใช้ความรุนแรง ภัยสงคราม และต้องการความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน รัฐบาลไม่สามารถประกันความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมีลักษณะเข้าข่าย ‘รัฐล้มเหลว’ (Failed State) ซึ่งประเทศนี้นับเป็นหนึ่งในประเทศที่พลเมืองครอบครองปืนมากที่สุดในโลก เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะเดินทางไปยังตลาดซื้อขายปืนหรือจะสั่งซื้อปืนผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ แต่กฎหมายของเยเมนระบุว่า ผู้ซื้อจะต้องซื้ออาวุธปืนกับร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และดำเนินการลงทะเบียนปืนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เรียบร้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วกฎหมายนี้ยังมีช่องโหว่อยู่อีกมาก
ระดับความยากง่าย: ?
อังกฤษ หนึ่งในประเทศแถบยุโรปที่เผชิญกับเหตุรุนแรงและการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา แต่อาวุธที่ใช้ในการลงมือก่อเหตุส่วนใหญ่กลับเป็นมีด รถยนต์ และระเบิด จากสถิติของ Gun Control Network พบว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ที่อาวุธปืนถูกใช้เป็นอาวุธเพียง 154 ครั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับสหรัฐฯ
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องเข้าร่วมกิจกรรม หรือเป็นสมาชิกของชมรมยิงปืน หรือจัดเตรียมเอกสารแสดงความประสงค์ที่จะซื้อปืน พร้อมระบุและสอบถามเกี่ยวกับรุ่นและชนิดของปืนที่ต้องการจะซื้อ อีกทั้งยังต้องจัดเตรียมที่เก็บอาวุธปืนที่เหมาะสมให้เรียบร้อย และจะต้องผ่านการตรวจเช็กประวัติ ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์ที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอาจขอตรวจเช็กสถานที่เก็บอาวุธที่บ้าน ก่อนที่จะมีสิทธิ์ซื้อปืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ระดับความยากง่าย: ? ?
จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพลเมืองส่วนใหญ่ของจีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาและครอบครองอาวุธปืนไว้ภายในที่พักอาศัย โดยจะต้องเก็บไว้ในสถานที่ที่ทางการกำหนดหรือได้รับอนุญาตเท่านั้น อัตราการเกิดเหตุกราดยิงจึงถือว่าน้อยมาก
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องระบุถึงเหตุผลจำเป็นที่จะต้องซื้ออาวุธปืนกับทางการให้ชัดเจนว่า ปืนกระบอกดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด การกีฬา ล่าสัตว์ หรือป้องกันเหตุอันตรายในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งจะต้องจัดเตรียมสถานที่เก็บปืนที่เหมาะสมและอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โดยจะต้องสาธิตและอธิบายวิธีการใช้ประโยชน์จากตู้เซฟและสถานที่เก็บรักษาปืนกับทางเจ้าหน้าที่ รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจเช็กประวัติอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต มีประวัติก่ออาชญากรรมหรือใช้ความรุนแรง ก่อนที่จะมีสิทธิ์ซื้อปืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ระดับความยากง่าย: ? ?
เม็กซิโก ประเทศทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการก่อเหตุอาชญากรรมและการค้ายาเสพติด โดย gunpolicy.org เผยตัวเลขการคาดการณ์ว่า พลเมืองเม็กซิกันเป็นเจ้าของอาวุธปืนมากกว่า 15 ล้านกระบอก (2010) โดยในปี 2012 มีเพียง 3,118,592 กระบอกเท่านั้นที่ทำการขึ้นทะเบียนกับทางราชการ และมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงถึง 13,505 คนในปี 2014
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องได้รับหนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อยืนยันว่าตนไม่มีประวัติการก่ออาชญากรรมมาก่อน พร้อมต้องยื่นจดหมายแสดงสถานะการทำงานและค่าตอบแทนที่ได้รับ โดยจะต้องผ่านการตรวจเช็กประวัติจากทางการเม็กซิโกและแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืนที่เก็บสะสมไว้ในครอบครอง ซึ่งผู้ซื้อจะต้องเดินทางไปยังเมืองหลวงอย่างกรุงเม็กซิโกซิตี้ที่มีร้านขายอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการเปิดให้บริการอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่มีร้านขายปืนมากกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ซื้อจะต้องสแกนลายนิ้วมือก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้ซื้อปืนได้
ระดับความยากง่าย: ? ?
แคนาดา ประเทศที่มีผู้นำที่มีความสามารถและได้รับความนิยมจากมหาชนมากที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่าง จัสติน ทรูโด เป็นอีกประเทศที่ขั้นตอนการขอซื้ออาวุธเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากการเปิดเผยข้อมูลของ gunpolicy.org พบว่า พลเมืองแคนาดาเป็นเจ้าของอาวุธปืนมากกว่า 8,619,328 กระบอก (2011) โดยสำนักข่าว CBC News รายงานว่า เฉพาะเดือนมกราคม ปี 2018 ที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงในกรุงออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดามากถึง 13 ครั้ง ซึ่งคิดเป็น 40% ของเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดปี 2013 เลยทีเดียว
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องแสดงหลักฐานว่าเคยเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมยิงปืนมาแล้ว หรือมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเป็นนักสะสมปืนที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยปืนบางชนิดผู้ซื้อจะต้องเคยผ่านการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน รวมถึงการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติจากหน่วยงานที่ทางการรับรอง ที่สำคัญผู้ซื้อจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับรองจำนวน 2 คน โดยจะต้องเป็นผู้ที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างน้อย 2 ปี และลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มแสดงความจำนง ผู้ซื้อจะยื่นเอกสารนั้นต่อทางการ พร้อมรอเป็นระยะเวลา 28 วันก่อนที่กระบวนการรับคำร้องจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งจะต้องผ่าการตรวจเช็กประวัติอย่างละเอียด ก่อนที่จะสามารถซื้ออาวุธปืนได้ หากปืนดังกล่าวเป็นปืนพก จะต้องลงทะเบียนปืนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่จะนำปืนนั้นกลับไปยังที่พักอาศัย
ระดับความยากง่าย: ? ? ?
***หมายเหตุ: ขั้นตอนดังกล่าวคล้ายคลึงกับออสเตรเลีย ที่ผู้ซื้อจะต้องผ่านการตรวจเช็กประวัติอย่างละเอียด โดยเจ้าหน้าที่จะทำการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัว รวมถึงเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง ก่อนที่จะระบุสเปกของปืนที่ต้องการจะซื้อและรอเป็นระยะเวลา 28 วัน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนตามรุ่นและชนิดที่ระบุไว้ในขั้นตอนก่อนหน้าได้
ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการควบคุมและจำกัดอาวุธปืนที่รัดกุมมากที่สุดในโลก โดย Business Insider รายงานว่า ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 127 ล้านคนแห่งนี้ แทบจะมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเฉลี่ยไม่เกิน 10 คนต่อปี และจากผลสำรวจของ smallarmssurvey.org เมื่อปี 2007 พบว่า การครอบครองอาวุธปืนของชาวญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำมาก (คิดเป็น 0.6 คน จากประชากรทั้งหมด 100 คน)
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมหรือเป็นสมาชิกสมาคมยิงปืน โดยจะต้องเข้าร่วมอบรมตลอด 1 วันเต็ม และสอบผ่านข้อเขียนเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืน ที่จะจัดสอบขึ้นเพียง 3 ครั้งต่อปีเท่านั้น ผู้ที่สอบผ่านจะต้องได้คะแนนมากกว่า 95% ขึ้นไป หลังจากนั้นจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กระบบประสาทและจะต้องไม่มีประวัติเคยใช้สารเสพติด ก่อนที่จะยื่นแบบฟอร์มขอเข้าร่วมอบรมทักษะการใช้อาวุธปืนที่อาจจะจัดขึ้นในระยะเวลาอีก 1 เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะเข้าสัมภาษณ์กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องซื้ออาวุธปืน
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจเช็กประวัติอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติอาชญากรรม อาวุธปืนที่มีไว้ในครอบครองในปัจจุบัน การจ้างงานและความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากร ประวัติหนี้สินส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตครอบครองดินปืน ก่อนที่จะเข้าอบรมอีกครั้งและทดสอบภาคปฏิบัติ
ซึ่งผู้ซื้อจะได้รับใบรับรองสเปกปืนที่ต้องการจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งจัดเตรียมตู้เซฟเก็บปืนและซองกระสุนให้เรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอตรวจสอบที่เก็บอาวุธปืนอีกครั้ง และอาจมีการสัมภาษณ์เพิ่มเติม หากผ่านก็จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อปืนอย่างถูกกฎหมาย
โดยชาวญี่ปุ่นจะได้รับอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนจำพวกปืนไรเฟิลและปืนลูกซองเท่านั้น (ไม่อนุญาตให้ซื้อปืนพก ยกเว้นในกรณีที่อาจจะได้รับอนุญาตจากทางการญี่ปุ่น) และจะต้องเข้ารับการอบรมและทดสอบการใช้อาวุธปืนอีกครั้งทุกๆ 3 ปี นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกกฎให้กรุงโตเกียวสามารถมีร้านจำหน่ายอาวุธได้มากที่สุดเพียง 3 แห่งเท่านั้น และอนุญาตให้ซื้อซองกระสุนเปล่าเพิ่มได้เพียง 1 ซองเท่านั้น รวมถึงอาวุธปืนของบุคคลในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว ครอบครัวจะต้องส่งมอบปืนดังกล่าวให้แก่ทางการอีกด้วย
ระดับความยากง่าย: ? ? ? ? ?
ขั้นตอนการดำเนินการขอซื้อปืนถูกกฎหมายในประเทศไทย ต้องทำอย่างไร?
ผู้ซื้อจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้: จะต้องบรรลุนิติภาวะ (มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ผ่านการตรวจเช็กประวัติเบื้องต้น ไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาหรือมีคดีความติดตัว ไม่เป็นคนสติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถ ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง มีเงินหรือหลักทรัพย์และต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง (โดยจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยื่นเรื่องขอซื้อปืนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน)
หากผู้ที่ต้องการซื้อปืนอาศัยอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ไปติดต่อดำเนินการที่ ศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ ถ้าหากผู้ซื้ออาศัยอยู่ต่างจังหวัด ให้ไปติดต่อดำเนินการที่ที่ว่าการอำเภอในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ (ตามทะเบียนบ้าน)
เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้ ในกรณีที่ผู้ซื้อเป็นประชาชนทั่วไปหรือเป็นข้าราชการบำนาญมีดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริงพร้อมสำเนา) หากผู้ซื้อเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการอื่นๆ หรือ พนักงานองค์กรของรัฐ, รัฐวิสาหกิจทหาร, ตำรวจ สามารถยื่นบัตรประจำตัวข้าราชการ, เจ้าหน้าที่ของรัฐ, รัฐวิสาหกิจ แทนได้
- ทะเบียนบ้าน (ตัวจริงพร้อมสำเนา)
- หนังสือรับรองความประพฤติจากหัวหน้างาน, ผู้บังคับบัญชา (ออกให้ไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
- หลักฐานประกอบอาชีพ เช่น ใบทะเบียนพาณิชย์ หนังสือรับรองตำแหน่งหน้าที่ เงินเดือน หากประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ค้าขาย เร่ขายของ หรือรับเหมาต่างๆ โดยไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ให้ใช้ถ่ายภาพกิจการนั้นๆ จำนวน 2-4 ภาพ
- สำเนาบัตรสมาชิกกีฬายิงปืน ซึ่งเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน เพื่อประกอบการพิจารณา (ถ้ามี)
- สำเนาหลักทรัพย์ เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน รายการเงินฝาก สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร หรือหลักฐานอื่นๆ
- หลักฐานที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน (ถ้ามี)
- สำเนาใบ ป.4 ทุกใบ ที่อยู่ในความครอบครอง (ถ้ามี)
- ค่าธรรมเนียม 1. ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
- 1.1) ปืนยาวบรรจุปาก ปืนอัดลม ฉบับละ 100 บาท
- 1.2) ปืนชนิดอื่นๆ ฉบับละ 500 บาท
- ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน กระบอกละ 5 บาท
- ใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน ฉบับละ 1,000 บาท
ผู้ซื้อยื่นแบบคำขอ ป.1 ระบุสเปกของอาวุธปืนที่ต้องการจะซื้อ พร้อมเอกสารสำคัญข้างต้นแก่เจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบประวัติ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ถ้าผ่านการตรวจสอบประวัติ อำเภอจะออกใบ ป.3 (ใบอนุญาตให้สามารถซื้อหา มีไว้ในครอบครอง พกพา และใช้งานอาวุธปืนได้) โดยผู้ซื้อจะนำใบ ป.3 นี้ไปยังร้านจำหน่ายปืนและเลือกซื้อปืน ก่อนที่จะส่งใบสำคัญนี้กลับไปที่อำเภอ อำเภอจะออกใบคู่มือประจำปืนให้ร้านจำหน่าย ส่งมอบพร้อมกับอาวุธปืนและใบแทนระหว่างที่รอใบ ป.4 (ทะเบียนปืนที่แสดงความเป็นเจ้าของปืน) ก่อนที่จะได้รับเอกสารให้ไปดำเนินการติดต่อขอรับใบ ป.4 ตัวจริงจากอำเภอในที่สุด
คุณคิดว่าขั้นตอนการขอซื้อปืนถูกกฎหมายในประเทศไทยมีระดับความยากง่ายเท่าใด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก?
Photo: Shutterstock
อ้างอิง:
- www.thetrace.org/2015/10/private-sale-loophole-background-check-harvard-research/
- www.gunviolencearchive.org
- www.gun-control-network.org/press/gun-incidents-in-the-uk/?page=1&&issue_area=&issue_victim=&issue_gender=&issue_weapon=&issue_incident=&start_date=01/01/2018&end_date=06/03/2018
- www.gunpolicy.org/firearms/region/mexico
- www.nytimes.com/interactive/2018/03/02/world/international-gun-laws.html
- www.cbc.ca/news/canada/ottawa/gun-violence-crime-ottawa-police-1.4513477
- www.bbc.com/news/magazine-38365729
- www.businessinsider.com/gun-control-how-japan-has-almost-completely-eliminated-gun-deaths-2017-10
- ติดต่อสอบถามข้อมูลเรื่องการขอซื้อปืนได้ที่ www.dopa.go.th/public_service/service_guide25
- อีเมล [email protected] โทร. 0 2221 0151-8 หรือสายด่วน 1548