อังกาบหนูกำลังเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดียเวลานี้ เนื่องจากมีการให้ข้อมูลในเชิงอวดอ้างสรรพคุณว่า สามารถรักษาโรคมะเร็งได้
ล่าสุดวันนี้ (23 ส.ค.) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย ในฐานะรองโฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและคณะ ร่วมแถลงข่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า
อังกาบหนูถือเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน พบทั่วไปในทุกภูมิภาคในประเทศไทย ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณพบว่า ทางอายุรเวทอินเดียใช้อังกาบหนูในตำรับยาของอินเดียหลายตำรับ แต่เท่าที่มีข้อมูลยังไม่มีตำราเล่มใดที่นำมาใช้ในเรื่องมะเร็ง เพียงแต่หลักทั่วไปของสมุนไพรจะพิจารณาจากตัวสมุนไพรว่ามีรสยาเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ ใบอังกาบหนูมีรสเย็น รสเบื่อเมา ซึ่งรสเบื่อเมาในตำรับยาหลายตำรับ นิยมนำมาปรุงเป็นตำรายาช่วยรักษามะเร็งอยู่หลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู
จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการศึกษาอยู่ ทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาซึ่งมีรสเบื่อเมาพบว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้
ทั้งนี้จะเห็นว่าสมุนไพรที่มีรสเบื่อเมาเกิดจากพิษ แต่การเป็นพิษต่อร่างกายก็จะเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน ดังนั้น ภูมิปัญญาแผนไทย การปรุงยาไม่นิยมทำเป็นสมุนไพรเดี่ยว นิยมทำเป็นยาตำรับผสมสมุนไพรหลายชนิดเพื่อลดพิษของสมุนไพรบางตัว เพื่อตัดพิษยาและแก้พิษยา ให้ยาสามารถใช้ได้ปลอดภัย เป็นต้น
ขณะที่อังกาบหนูจัดอยู่ตระกูลเดียวกันกับทองพันชั่ง ในอินเดียใช้น้ำคั้นจากใบหรือเคี้ยวสดรักษาปัญหาในช่องปาก เช่น เหงือกเป็นหนอง แผลในปาก ฟันผุ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่พบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้ หมอยาใช้ในการรักษาแผลทั้งภายในและภายนอก รักษาเริม งูสวัด หรือแม้แต่พิษงู สัตว์มีพิษ รวมถึงโรคริดสีดวงทวาร โรคกระเพาะอาหาร หมอยาพื้นบ้านในบ้านเราก็ใช้กันแพร่หลาย สังเกตได้จากการที่พบเห็นขึ้นได้ง่ายทั่วไปทุกพื้นที่ มักใช้ในตำรับยาพื้นบ้านรักษาฝี ซึ่งจากการตีความสามารถเทียบเคียงได้กับโรคมะเร็งในปัจจุบัน
จากการศึกษาพบว่า สารสกัดต้นอังกาบหนูมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งที่เด่นชัด แต่อาจจะเป็นผลดีกับผู้ป่วยกลุ่มนี้และอีกกลไกที่สำคัญคือ ฤทธิ์ต้านอักเสบ ช่วยลดปวดจากการอักเสบได้ ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้าน
การที่เกิดกระแสอังกาบหนูฟีเวอร์นี้นับเป็นการดีอย่างหนึ่งที่ทำให้สมุนไพรพื้นบ้านที่ถูกลืมกลับมาสู่สังคมอีกครั้ง แต่ทั้งนี้การเลือกกิน เลือกใช้สมุนไพรต่างๆ อยากให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยและข้อมูลที่ถูกต้องก่อนทุกครั้ง ต้องเลือกให้เหมาะกับเรา
ขอฝากเตือนถึงผู้จำหน่ายต้นสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่ารักษาโรคร้ายแรงให้หายขาดได้ คุณอย่าเอาความเจ็บป่วยของคนไข้ไปทำมาหากิน
ส่วนแนวทางต่อไปของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พยายามที่จะส่งเสริมและสนับสนุนภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทย เพียงแต่ว่าต้องมีการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และก็มีทางเลือกให้กับประชาชนในการดูแลรักษาโรค
ดังนั้น เมื่อตรวจพบเป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก ควรบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการรักษา และสามารถเลือกใช้สมุนไพรเพื่อช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงได้ ส่วนกรณีผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น การรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วย แต่ต้องปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน
ภาพ: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า