×

ธปท. จับตาผลกระทบโควิด-19 ภัยแล้ง งบฯ ช้า ชี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง

28.02.2020
  • LOADING...

ดอน​ ​นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปี 2563 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และต้องจับตาหลังจากนี้ แบ่งเป็น 3 ปัจจัยได้แก่ 

 

– โควิด-19 กระทบการท่องเที่ยวจะหดตัวรุนแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 นอกจากนี้ยังกระทบกลุ่มการบริโภค การลงทุน รวมถึงการผลิต/การส่งออก เช่น รถยนต์​ ผลไม้​ ฯลฯ  

 

– ภัยแล้ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภค โดยเฉพาะรายได้เกษตรที่ลดลง เพราะผลผลิตลดลง แต่ราคาไม่ปรับสูงขึ้นมาก และจะกระทบต่อกลุ่มการผลิต/ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี  

 

– พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2563 และมาตรการเพิ่มเติมของภาครัฐ ว่าจะช่วยพยุงการใช้จ่ายในประเทศบางส่วน ส่วนงบฯ ปี 2563 คาดว่าจะเร่งเบิกจ่ายในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมา ใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำหดตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัว เพราะได้รับผลจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2563 สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวเช่นกัน ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านพลังงานและด้านคมนาคม 

 

เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องโดยการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าหากไม่รวมการนำเข้าทองคำขยายตัว 1.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไม่รวมทองคำหดตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจาก 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่

 

– สินค้าหมวดที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบหดตัวต่อเนื่อง เช่น สินค้าเคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า 

 

– สินค้าเกษตร อย่างข้าว ได้รับผลกระทบการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ภัยแล้งยังส่งผลกระทบให้ผลผลิตลดลง 

 

– สินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน 

 

ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน ตามปัจจัยด้านรายได้ที่ยังอ่อนแอ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งสถาบันการเงินที่ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนหลังคุณภาพสินเชื่อด้อยลง แม้รายได้เกษตรกรจะขยายตัวสูงในเดือนนี้ แต่แนวโน้มทั้งปีคาดว่าจะหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง 

 

ด้านภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 2.5% ใกล้เคียงกับเดือนก่อน มาจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย รัสเซีย และฮ่องกง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัว เพราะทางการจีนประกาศให้บริษัทนำเที่ยวในจีนหยุดดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 เป็นต้นมา หลังการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงขึ้นในจีน 

 

ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.05%) ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ต่ำในปีก่อน

 

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ ทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการถอนเงินฝากในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และด้านหนี้สินตามการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกู้ยืมสินเชื่อระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินไทยเป็นสำคัญ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising