×

กทม. เตรียมตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องมลพิษ-ความปลอดภัยลูกจ้าง

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วานนี้ (3 สิงหาคม) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 เพื่อพิจารณาจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเรื่องดังกล่าว และให้การดำเนินงานเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 

 

รวมทั้งเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพแก่ลูกจ้าง หรือโรคจากสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากมลพิษ โดยมี พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย, คณะกรรมการ และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล

 

ในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญของการประชุม ได้แก่ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562, ความก้าวหน้าของการจัดทำอนุบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562, แผนการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับชาติ (พ.ศ. 2564-2580) และกลไกการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562

 

ซึ่งผู้แทนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมแรงงาน กรมอนามัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการจัดทำอนุบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 รวมทั้งให้ข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย 

 

โดยมติประชุมได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม กทม. ซึ่งจะได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ต่อไป 

 

ชัชชาติกล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ที่ประชุมจัดแยก 7 โรคที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ 5 โรค ได้แก่ 1. โรคจากฝุ่นซิลิกา 2.โรคจากแอสเบสตอส (ใยหิน) 3. โรคจากตะกั่ว (จากการทำงาน) 4. โรคจากภาวะอับอากาศ 5.โรคพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และโรคจากสิ่งแวดล้อม 2 โรค ได้แก่ 1. โรคจากตะกั่ว 2. โรคจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)  

 

ซึ่งในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ เพื่อดูแลความปลอดภัยในมิติต่างๆ ตาม พ.ร.บ. ซึ่งมีหลักๆ 2 ส่วน คือ เน้นเรื่องมลพิษที่มีผลกระทบกับประชาชนทั้งหมด และความปลอดภัยในพื้นที่ทำงานของลูกจ้างให้เข้มข้นขึ้น มีเรื่องสุขภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ กทม. ด้วย เช่น โรงงานหรือสถานประกอบการที่ปล่อยมลพิษ ต้องให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสุขภาพตามสิทธิ รวมทั้งดูแลผลกระทบต่างๆ 

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า กทม. มีสถานประกอบการจำนวนมาก ดังนั้นมิติแรกที่ทำ คือ การแจ้งเตือนให้ความรู้ประชาชนมากกว่าจะเข้าไปตรวจทุกจุด ดังนั้นในแง่ของการดำเนินการจะเน้นไปที่การให้ความรู้และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising