236 ปี ในฐานะพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า และ 131 ปี ในฐานะพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพัฒนาจากมิวเซียมหลวงมาเป็น ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ ส่งผลให้มีโบราณวัตถุและมรดกของชาติกว่า 30,000 ชิ้น ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในคลังของพิพิธภัณฑ์
ที่ผ่านมาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ถูกจัดแสดงอย่างแออัด ทั้งยังไม่ได้มีการจัดแสง อุณหภูมิ หมวดหมู่ หรือเรื่องราวให้โดดเด่น ร้อยเรียงกันอย่างดีเยี่ยมมากนัก จนทำให้การเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าที่ควรจะเป็น กระทั่งเมื่อเดือนมกราคมปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงห้องจัดแสดงทั้งหมดในอาคารหมู่พระวิมาน ซึ่งถือเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่และครั้งประวัติศาสตร์ พร้อมกับการเปิดตัวห้องจัดแสดงใหม่เอี่ยม 4 ห้อง ได้แก่ ห้องนาฏดุริยางค์ (พระที่นั่งทักษิณาภิมุข) ห้องศัสตราวุธ (พระที่นั่งบูรพาภิมุข) ห้องโลหศิลป์ (พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข) และห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ (พระที่นั่งอุตราภิมุข)
มาในปีนี้ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ ได้เปิดห้องจัดแสดงใหม่เพิ่มขึ้นอีก 8 ห้อง แบ่งเป็นในอาคารหมู่พระวิมาน 6 ห้อง และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอยู่ติดกันอีก 2 ห้อง รวมแล้วเป็น 12 ห้องใหม่เอี่ยมในรอบ 131 ปี จัดเต็มทั้งระบบทัชสกรีน อินเตอร์แอ็กทีฟ แอปพลิเคชัน อีกทั้งยังเปิดมุมใหม่ให้สามารถมองเห็นโบราณวัตถุชิ้นเดิมแบบ 360 องศา มุ่งเน้นเรื่องราวของศิลปะช่างหลวงเชื่อมระหว่างปลายอยุธยามายังรัตนโกสินทร์ สำหรับใครที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าแต่ละห้องมีไฮไลต์อะไรที่โดดเด่น เราขอคัดเลือกที่สุดมรดกศิลป์ชิ้นเอกประจำ 12 ห้องจัดแสดงใหม่ มาเรียกน้ำย่อยกัน
ธรรมาสน์กลมและบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ, ห้องเครื่องไม้แกะสลัก (มุขเด็จ)
ห้องเครื่องไม้แกะสลัก เปรียบดั่งมาสเตอร์พีซที่ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด เพราะแค่ยืนอยู่หน้าประตูห้องก็สามารถเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมาสน์กลมสร้างจากไม้ สูงเทียมเพดาน
ปัจจุบันธรรมาสน์ทรงกลมแบบนี้เหลือเพียงไม่กี่หลังในเมืองไทย ส่วนหลังนี้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากนั้นรัชกาลที่ 7 ทรงรับถวายมาจากวัดค้างคาว จังหวัดนนทบุรี ซึ่งนอกจากงานแกะไม้ที่ละเอียดแล้ว ก็ยังมีงานประดับกระจกและงานจักสานแบบช่างมอญเสริมลงไป ส่วนด้านหลังธรรมาสน์ก็เป็นอีกชิ้นไฮไลต์ ได้แก่ บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งถูกไฟไหม้ดำไปครึ่งซีก บานประตูนี้แกะสลักจากไม้ขนาดใหญ่แผ่นเดียว เซาะเป็นร่องลึกลงไปให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ และพรรณไม้เกี่ยวกวัดราวกับของจริง ที่สำคัญคือ รัชกาลที่ 2 ทรงร่วมกับช่างหลวงแกะสลักประตูบานนี้ด้วยพระองค์เอง
สัปคับงาช้าง, ห้องเครื่องสัปคับ (พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข)
ในห้องนี้เต็มไปด้วยเครื่องสัปคับ หรือที่นั่งบนหลังช้าง แยกออกเป็นพระที่นั่งและกูบ ซึ่งมีดีไซน์ที่ต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน เช่น พระที่นั่งบนหลังช้างสำหรับออกรบ กูบฝ่ายในที่ออกแบบโค้งเป็นเหมือนเทริดครอบศีรษะ แต่ชิ้นที่พิเศษคือ พระที่นั่งบนหลังช้างสร้างจากงาช้างสีขาวทั้งหมด ฝีมือช่างล้านนา จำหลักรูปสัตว์มงคล และพรรณไม้ซึ่งมีเป็นดอกเล็กๆ ละเอียดมาก
เครื่องถ้วยพระอภัยมณี, ห้องเครื่องถ้วยในราชสำนัก (พระที่นั่งวสันตพิมานชั้นล่าง)
บริเวณชั้นล่างหรือใต้ถุนของพระที่นั่งวสันตพิมานจัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก ไล่เรียงช่วงเวลาจากอยุธยาที่สั่งเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์จากจีน มาจนถึงรัตนโกสินทร์ที่ราชสำนักมีการคิดค้นลายเทพพนม คชสีห์ ครุฑ ส่งไปให้ทางจีนวาดเป็นลายเฉพาะของราชสำนักไทย แต่ที่แปลกที่สุดและหลงเหลือเพียง 5 ชิ้น คือ เครื่องถ้วยศิลปะสกุลช่างวังหน้าที่นิยมเขียนลายวรรณคดีไทยลงไป และที่เห็นคือ เครื่องถ้วยลายพระอภัยมณีที่ยังใช้โครงสร้างอักษรไทยแบบเก่าประทับว่า ‘พระอไภย’
พระแท่นในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, ห้องแสดงเครื่องที่ประทับวังหน้า (พระที่นั่งวสันตพิมานชั้นบน)
แม้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะเป็นพื้นที่ของวังหน้าเดิม ทว่า แต่ก่อนนั้นแทบจะไม่มีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของวังหน้ามากเท่าที่ควร ในการปรับโฉมใหม่ครั้งนี้จึงมีการจัดห้องเพื่อแสดงเครื่องที่ประทับวังหน้าโดยเฉพาะ อยู่บริเวณชั้นบนของพระที่นั่งวสันตพิมานที่ต้องเดินผ่านบันไดแคบๆ ขึ้นไป ห้องนี้เดิมทีใช้เป็นที่ประทับในฤดูฝนของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยประทับที่พระที่นั่งแห่งนี้เช่นกัน ดังนั้นไฮไลต์ของห้องนี้จึงเป็นพระแท่นบรรทม ซึ่งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยประทับในขณะทรงพระเยาว์
ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง, ห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ (พระที่นั่งอุตราภิมุข)
ใครอยากเห็นผ้าลายอย่างผ้าเขียนทอง ผ้าสมปักผืนจริงที่ตกทอดมาจากปลายสมัยอยุธยาให้ตรงมาห้องนี้ ซึ่งทุกชิ้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ และยังคงเห็นรายละเอียดความงดงามของการทอผ้าและพิมพ์ลาย ที่พิเศษของห้องนี้คือ ฉลองพระองค์ครุยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฉลองพระองค์ครุยกรองทองถักทอจากเส้นทองของจริงที่หาชมได้ยากเต็มที
เครื่องมุกโบราณ, ห้องศิลปะเครื่องมุก (พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ชั้นล่าง)
ห้องนี้ละลานตาด้วยแสงประกายจากเครื่องมุกที่เรียงไทม์ไลน์จากเครื่องมุกโบราณสู่งานมุกในปัจจุบัน ที่สุดของงานช่างมุกในไทย และถือได้ว่าเป็นงานชิ้นครูที่ช่างรุ่นปัจจุบันก็ทำไม่ได้ละเอียดเท่า คือ เครื่องมุกโบราณในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พัดยศของสมเด็จครู, ห้องเครื่องใช้ในพุทธศาสนา (พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ชั้นบน)
สำหรับศิลปินและช่างศิลป์ไทยแต่โบราณนั้นถือว่าการทำงานรับใช้พระพุทธศาสนา คือที่สุดของงานศิลป์ที่ช่างจะบรรจงลงแรงอย่างสุดฝีมือ และในห้องเครื่องใช้ในพุทธศาสนาที่เต็มไปด้วยตาลปัตร พัดยศ และพักรองนั้นจึงเปรียบได้กับที่สุดของงานศิลปะไทย ที่รวมงานช่างหลากหลายแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งงานปัก แกะสลัก ฝังมุก งานไม้ และงานจิตรกรรม พิเศษกับการจัดแสดงงานออกแบบพัดยศของสมเด็จครู หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ถือได้ว่าเป็นศิลปินไทยโมเดิร์นในยุคนั้น ผู้เปลี่ยนธรรมเนียมของการทำพัดยศที่ไม่ได้มีแต่ลวดลายไทย ทว่า ยังสะท้อนตัวตน บุคลิกของผู้สร้างถวาย และเรื่องราวต่างๆ ลงไปอีกด้วย
หุ่นหลวง, ห้องเครื่องมหรสพและการละเล่น (พระที่นั่งทักษิณาภิมุข)
ห้องนี้นำเสนอเรื่องของนาฏศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก ครบทั้งเครื่องดนตรี หัวโขน หุ่นวังหน้า หนังใหญ่ชุดพระนครไหว หนังกลางวัน หุ่นกระบอก และที่หาชมแทบจะไม่ได้แล้วคือ หุ่นหลวงที่ได้รับการซ่อมแซมโดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต งานชิ้นเอกต้องยกให้กับหุ่นหลวงพระยารักน้อย พระยารักใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นงานฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 2
แพลงสรงจำลอง, ห้องเครื่องโลหะศิลป์ (พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข)
เครื่องกะไหล่ทอง งานคร่ำ งานถมเงิน งานถมทอง งานถมปัด และเครื่องบังกะลอ มีให้ได้ชมครบในห้องนี้ แต่มาสเตอร์พีซจริงๆ ต้องยกให้กับแพลงสรงจำลองของมกุฎราชกุมารองค์แรกของประเทศไทย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งสร้างจำลองแพลงสรงของจริงด้วยเครื่องโลหะได้ละเอียด อ่อนช้อยเหมือนกันทุกประการ
ตำราพิชัยสงคราม ครุฑวายุหเบญจเสนา, เครื่องศัสตราวุธโบราณ (พระที่นั่งบูรพาภิมุข)
ห้องนี้เต็มไปด้วยศิลปะงานช่างหลวงประเภทเครื่องศัสตราวุธ หรืออาวุธที่ประณีตไม่แพ้งานเครื่องเรือน เครื่องใช้ นอกจากเสื้อยันต์ของจริงที่ทหารไทยโบราณใช้ออกรบแล้ว สิ่งที่จะได้เห็นอย่างละเอียดคือ ตำราพิชัยสงคราม ครุฑวายุหเบญจเสนา ซึ่งมีทั้งเล่มของจริง และแบบอินเตอร์แอ็กทีฟที่ให้เปิดอ่านกันหน้าต่อหน้า พร้อมการจำลองการจัดทัพตามตำราพิชัยสงครามเล่มนี้
ตู้พระธรรม, ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงศรีอยุธยา
ข้ามไปที่อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์กันบ้าง กับห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคัดเลือกเฉพาะงานมาสเตอร์พีซของกรุงศรีอยุธยาที่สั่งสมประสบการณ์งานช่างมาถึง 417 ปี มาจัดแสดง โดยโบราณวัตถุที่มีมากในห้องนี้คือ ตู้พระธรรม แต่ละใบล้วนสร้างด้วยเทคนิคและลวดลายที่แตกต่างกัน ใครไม่เคยเห็นฝรั่งต่างชาติเฝ้าตู้พระธรรม สามารถมาดูได้ในห้องนี้
พระเก้าอี้พับในรัชกาลที่ 1, ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ทราบหรือไม่ว่าทุเรียนฝั่งธนฯ นั้นโด่งดังมาก่อนทุเรียนเมืองนนท์เสียอีก แถมเราเพิ่งได้รู้ว่า เก้าอี้พับแบบเก้าอี้สนามในปัจจุบันคือรูปทรงเดียวกับพระเก้าอี้ที่รัชกาลที่ 1 ทรงใช้ในยามศึกสงคราม ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์มาก ไม่นับรวมตราเวียง วัง คลัง นา ที่เพิ่งจะได้เห็นของจริงกันในห้องนี้เช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ พระนคร กรุงเทพฯ โทร. 0 2224 1370
- เปิดบริการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
- ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท