×

ถอดรหัสความปัง ‘กรุงเทพกลางแปลง’ กับความโหยหาอดีตอันหอมหวานของคนเมือง

25.07.2022
  • LOADING...
กรุงเทพกลางแปลง

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • กรุงเทพกลางแปลง และดนตรีในสวน ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผู้เขียนมองกิจกรรมต่างๆ มีลักษณะของความโหยหาอดีตของคนเมืองอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้กิจกรรมเหล่านี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม 1. ความโหยหาอดีตที่เป็นวัฒนธรรมสามัญชน 2. ความโหยหาอดีตความเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ และ 3. ความโหยหาสภาวะผู้นำที่มีคุณภาพ 
  • นโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล โดยเฉพาะดนตรีในสวนและกรุงเทพกลางแปลงของผู้ว่าฯ ชัชชาตินั้น จึงไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากตัวนโยบายที่ดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่ายังเกิดขึ้นจากสภาวะความโหยหาอดีตของประชาชนด้วย อดีตที่เป็นวัฒนธรรมสามัญชนที่สวยงาม อดีตความรุ่งโรจน์ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อดีตเมืองที่มีชีวิตชีวาของผู้คน กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี 

ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม กับเทศกาลฉายภาพยนตร์ที่เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่นำโดยผู้ว่าฯ ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จริงๆ แล้วในช่วงก่อนเดือนที่จะฉายภาพยนตร์ก็เป็นเรื่องราวของเทศกาลดนตรี ซึ่งก็สร้างเสียงฮือฮาและได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ เป็นอย่างดีเช่นกัน

 

สิ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากจะเล่าให้ฟัง ณ วันนี้ ผู้เขียนมองว่านอกจากความสำเร็จในเชิงนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่พยายามจะใช้นโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พ่อค้าแม่ขายรายย่อย หาบเร่แผงลอย หรือแม้กระทั่งจะเป็นการขับเคลื่อนสิ่งที่เรามักเรียกกันติดปาก หรือพูดกันติดปากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ก็คือการผลักดันเรื่อง Soft Power ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่านโยบายดังกล่าวนี้มีความพยายามที่จะผลักดัน Soft Power ในหลายๆ มุมมอง หลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ หรือแม้แต่สตรีทฟู้ด ที่เป็นเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวไทยก็ตาม 

 

แต่ในแง่หนึ่ง ผู้เขียนอยากจะมองถึงปรากฏการณ์นี้ว่ายังคงมีเรื่องราวหรือปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยส่งผลให้นโยบายนี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และน่าสนใจในการอธิบายให้เห็นว่าส่งผลต่อการตอบรับของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างไรด้วย ซึ่งนั่นคือปรากฏการณ์หรือสภาวะที่ผู้เขียนขอเรียกว่า ‘สภาวะโหยหาอดีตของคนเมือง’

 

ปรากฏการณ์โหยหาอดีตอันหอมหวาน หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า ‘Nostalgia’ เป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยถึงเรื่องอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่ต้องการนำเอาอดีตกลับมา หรืออยากสร้างอดีตให้กลับมาอยู่ในปัจจุบัน 

 

ปรากฏการณ์โหยหาอดีตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของโลกยุคโลกาภิวัตน์ โดยจะเห็นได้จากกระแสหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะภาพยนตร์ที่พยายามหวนรำลึกถึงอดีตที่สวยงาม เช่น บุพเพสันนิวาส กิจกรรมอุ่นไอรักของรัฐบาล กิจกรรมตลาดน้ำต่างๆ หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวหลายต่อหลายที่ที่ได้รับการตอบรับอย่างมากในอดีตเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมาอย่าง ‘เพลินวาน’ ที่หัวหินที่ดังมากๆ ก่อนจะปิดตัวลงไปในปี 2563 หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวตามชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือแม่กำปอง สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนความโหยหาอดีตหรือการโหยหาสิ่งที่ขาดหายไปของชนชั้นกลางได้เป็นอย่างดี

 

กลับมาที่การจัดกิจกรรมกรุงเทพกลางแปลงและดนตรีในสวนของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผู้เขียนมองกิจกรรมต่างๆ มีลักษณะของความโหยหาอดีตของคนเมืองอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้กิจกรรมเหล่านี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม 1. ความโหยหาอดีตที่เป็นวัฒนธรรมสามัญชน 2. ความโหยหาอดีตความเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ และ 3. ความโหยหาสภาวะผู้นำที่มีคุณภาพ 

 

ความโหยหาอดีตที่เป็นวัฒนธรรมสามัญชน 

ความโหยหาอดีตที่เป็นรูปธรรม สิ่งนี้เห็นได้ง่ายๆ เช่น หนังกลางแปลง หรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่สร้างบรรยากาศของความเป็นหนังกลางแปลง ไม่ว่าจะตัวของหนังกลางแปลงเอง หรือจะรถเข็นขายของ ของกินเล่น หรือสิ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติชื่นชอบอย่าง ‘อ้อยควั่น’ ที่ท่านกล่าวว่า “ไม่ได้กินมา 10 กว่าปีแล้ว” คำพูดนี้สะท้อนภาพความโหยหาอดีตของความเป็นหนังกลางแปลงได้เป็นอย่างดี 

 

ความน่าสนใจของความโหยหาอดีตที่เป็นรูปธรรมนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ภาพอดีตที่ถูกนำเสนอขึ้นนี้เป็นอดีตของวัฒนธรรมสามัญชน ไม่ใช่วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายเหมือนภาพยนตร์หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่รัฐไทยพยายามจะสร้างขึ้นมา ดังนั้น หนังกลางแปลงและองค์ประกอบที่เป็นรูปธรรมของความเป็นหนังกลางแปลง จึงเป็นลักษณะของอดีตที่หอมหวานของสามัญชนที่คนกรุงเทพฯ ถวิลหา และนี่คือภาพความเท่าเทียมของความเป็นสามัญชนด้วย กล่าวคือ เป็นการดูภาพยนตร์ที่มีความเป็นคนเท่ากัน ไม่ต้องแบ่งชั้นกันด้วยระดับเงินเหมือนอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ที่มีอยู่เต็มเมือง

 

ความโหยหาอดีตความเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ 

แน่นอนว่าการโหยหาชีวิตความเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ ของคนเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดและ การรับมืออันไร้ประสิทธิภาพของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

 

มาตรการเหล่านี้คือการทำให้ ‘ชีวิตของเมือง’ ถูกทำลาย พ่อค้าแม่ขาย ร้านอาหาร ผับบาร์ ถูกสั่งปิด หลายชีวิตต้องตายเพราะมาตรการสุดขั้วดังกล่าว รวมถึงทำให้กรุงเทพฯ ที่เคยเป็นเมืองแห่งแสงสี เมืองแห่งความสนุกสนาน เมืองที่มีชีวิตชีวา ค่อยๆ ตายลงเรื่อยๆ สังเกตได้อย่างชัดเจนว่ากรุงเทพฯ แทบจะเป็นเมืองร้างในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

 

แม้ในปัจจุบันจะมีมาตรการที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น แต่ความเป็นเมืองก็ยังคงไม่ฟื้นตัวด้วย เพราะพิษเศรษฐกิจที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด และการรับมืออันไร้ประสิทธิภาพของรัฐ 

 

การสร้างบรรยากาศความครึกครื้น คึกคักของกรุงเทพฯ ด้วยนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล และโดยเฉพาะกิจกรรมในช่วงสองเดือนแรกอย่างดนตรีในสวนหรือกรุงเทพกลางแปลง จึงเป็นมาตรการระยะสั้นในการพยายามจะสร้างบรรยากาศกรุงเทพฯ ที่กำลังจะตายให้กลับฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง นโยบายและกิจกรรมเหล่านี้จึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคนกรุงเทพฯ หรือคนเมือง ทั้งที่เป็นชนชั้นกลางและพ่อค้าแม่ขายรายย่อยทั่วไป 

 

การตอบรับอย่างล้นหลามของนโยบายดังกล่าว จึงเป็นภาพสะท้อนลักษณะความโหยหาความเป็นเมืองที่เคยรุ่งโรจน์ในทางเศรษฐกิจ เมืองที่เคยสนุกสนาน ครึกครื้น คึกคัก มีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ ด้วยอีกประการหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเราอาจจะหาบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้จากนโยบายของรัฐไทยที่ทำและเป็นอยู่ ถึงแม้รัฐพยายามจะสร้างและนำเสนอ แต่อดีตที่รัฐสร้างผ่านกิจกรรมต่างๆ ของรัฐนั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการหรือความโหยหาอันแท้จริงของประชาชนได้เลย 

 

ความโหยหาสภาวะผู้นำที่มีคุณภาพ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจเพราะตัวของผู้ว่าฯ ชัชชาติด้วย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากสภาวะของคนจำนวนมากในสังคมที่เรียกว่าสภาวะโหยหาผู้นำที่มีคุณภาพ แน่นอนว่าภาวะนี้เกิดขึ้นจากภาพลักษณ์และการปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันของผู้ว่าฯ ชัชชาติที่เน้นทำงาน ทำงาน และทำงาน อันเป็นแคมเปญหลักตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง จนได้รับการเลือกมาจากประชาชนอย่างล้นหลามแบบที่เรียกว่าแลนด์สไลด์เลยก็ว่าได้

 

สภาวะผู้นำที่มีคุณภาพเช่นนี้ เป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยโหยหาทั้งสภาวะผู้นำที่มีคุณภาพในระดับประเทศและระดับเมืองอย่างผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ราชการที่สังกัดส่วนงานของ กทม. ท่านหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวกับผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผู้นำแบบท่านชัชชาติ ทำให้ใครหลายคนตั้งใจทำงานและอยากที่จะทำงาน” เขากล่าวต่ออีกว่า “มันต่างจากผู้ว่าฯ คนก่อนที่เรารู้อยู่แล้วเวลาทำงาน เดาได้เลยยังไงก็ไม่มา หรือมาแล้วก็แค่มาเปิดงาน มันจึงทำให้เจ้าหน้าที่เฉยชาในการทำงานเพื่อประชาชน” คำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนความโหยหาภาวะผู้นำที่มีคุณภาพของประชาชนคนทำมาหากินทั่วไป หรือชนชั้นกลางเมืองเท่านั้น แต่นี่เป็นภาพสะท้อนว่าข้าราชการหรือพนักงานในสังกัด กทม. ก็โหยหาผู้ว่าฯ หรือผู้นำที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน

 

ความโหยหาสภาวะผู้นำที่มีคุณภาพนี้ สะท้อนได้จากภาพของการวิพากษ์วิจารณ์ เปรียบเทียบการทำงานระหว่างนายกรัฐมนตรีกับตัวผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่อชัชชาติด้วย การเปรียบเทียบจึงไม่ได้แค่ต้องการตำหนิการทำงานของรัฐบาล แต่ยังสะท้อนความโหยหาของพี่น้องประชาชน และยิ่งชัดเจนมากๆ จากคำพูดที่ว่า “ลองให้ชัชาติเป็นนายกฯ สิ” ที่ออกจากปากหรือความรู้สึกของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก

 

ดังนั้น กล่าวโดยสรุปว่า นโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล โดยเฉพาะดนตรีในสวนและกรุงเทพกลางแปลงของผู้ว่าฯ ชัชชาตินั้น จึงไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากตัวนโยบายที่ดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่ายังเกิดขึ้นจากสภาวะความโหยหาอดีตของประชาชนด้วย อดีตที่เป็นวัฒนธรรมสามัญชนที่สวยงาม อดีตความรุ่งโรจน์ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และอดีตเมืองที่มีชีวิตชีวาของผู้คน กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising