×
SCB Omnibus Fund 2024

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ คาดอุตสาหกรรมการบินไทยกลับสู่ภาวะปกติครึ่งปีหลัง เตรียมเปิด 13 เส้นทางการบินรองรับนักท่องเที่ยว

09.06.2022
  • LOADING...
บางกอกแอร์เวย์ส

บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA ประเมินอุตสาหกรรมการบินไทยกลับสู่ภาวะปกติครึ่งหลังปีนี้ หลังจากทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศ เตรียมเปิดเส้นทางการบิน 13 เส้นทาง ครึ่งปีหลังรองรับนักท่องเที่ยว ส่วนความคืบหน้าจัดตั้งกองทรัสต์สนามบินสมุย คาด ก.ล.ต. อนุมัติไฟลิ่งกลางปีนี้ จ่อรับเงินระดมทุน 1.43 หมื่นล้านบาท นำชำระหนี้แบงก์ 5 พันล้านบาท และใช้ลงทุนต่อยอดธุรกิจ 6-7 พันล้านบาท

 

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA พบว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมการบินโลกจะกลับมาสู่ภาวะปกติในปี 2567 และคาดว่าการเดินทางในยุโรปและอเมริกาเหนือ จะเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566 

 

สำหรับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 1/65 มีการขยายตัวสูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศไทย บริษัทได้เพิ่มเที่ยวบินรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศรวม 5,037 เที่ยวบิน ส่งผลให้ในไตรมาส 1/65 บริษัทมีจำนวนขนส่งผู้โดยสารกว่า 3.7 แสนคน หรือเติบโต 146% รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเท่ากับ 931 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 208% และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เท่ากับ 336.9 ล้านที่นั่ง-กม. เพิ่มขึ้น 116% เทียบกับไตรมาส 1/64

 

“สถานการณ์การบินในประเทศจะฟื้นตัวเร็วว่าสถานการณ์การบินทั่วโลก เพราะภายในประเทศมีการเดินทางที่หนาแน่นขึ้นตามการเปิดเมือง เปิดประเทศ สำหรับประเทศไทยคาดว่าสถานการณ์ด้านการบินน่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในครึ่งหลังปีนี้หรือปีหน้า เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยล่าสุดสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาเป็น 50% แล้ว” พุฒิพงศ์กล่าว 

 

ปัจจุบัน BA ให้บริการเที่ยวบินในเส้นทางภายในประเทศ 11 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 2 เส้นทาง และในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 บริษัทเล็งเห็นถึงความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงเตรียมเปิดเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อรองรับการเดินทางจำนวน 13 เส้นทาง 

 

โดยในไตรมาส 3 จะเปิดเส้นทางบินใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และ สมุย-หาดใหญ่ เริ่มวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 และกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินทั้งในเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศที่หยุดทำการบินไปชั่วคราว ได้แก่ เส้นทาง สมุย-เชียงใหม่ เริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2565, กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ เริ่มวันที่ 22 กรกฎาคม 2565, กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ เริ่มวันที่ 1 สิงหาคม 2565, กรุงเทพฯ-ดานัง เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2565 และสมุย-ฮ่องกง เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2565 

 

และในไตรมาส 4 คาดว่าจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินในเส้นทางเชียงใหม่-กระบี่, เชียงใหม่-ภูเก็ต, สมุย-กระบี่, กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ-ฟู้โกว๊ก

 

พุฒิพงศ์กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเป้าหมายธุรกิจของปีนี้ภายใต้ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ซึ่งมีความผันผวนค่อนข้างมากแล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินทุกเส้นทางบินรวม 34,000 เที่ยวบิน ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร 3,080 ล้านที่นั่ง-กม. จำนวนผู้โดยสาร 2.64 ล้านคน รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 8,175 ล้านบาท อัตราขนส่งผู้โดยสาร 73% โดยคาดว่าราคาตั๋วเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 3,100 บาท

 

ด้าน อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี BA กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นขอจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย ว่าน่าจะได้รับการอนุมัติจัดตั้งทรัสต์จากสำนักงาน ก.ล.ต. ในช่วงกลางปีนี้ โดย BA คาดว่าจะได้รับเงินระดมทุนราว 1.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจะใช้เงินสำหรับชำระคืนหนี้สถาบันการเงินราว 5 พันล้านบาท และใช้สำหรับลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจราว 6-7 พันล้านบาท 

 

ก่อนหน้านี้ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และ 24 มีนาคม 2565 มีมติให้จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ ชื่อ บริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเมนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท โดยมีบริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ถือหุ้น 99.9997% และให้จัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดย BA จะพิจารณาให้เช่าทรัพย์สินแก่ทรัสต์ โดยกองทรัสต์จะเข้าลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินกิจการสนามบินสมุยบางส่วนคือ ทางวิ่ง ลานจอด และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินบางส่วนที่ใช้ในการดำเนินกิจการสนามบินสมุย

 

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% เทียบกับปี 2564 โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน ธุรกิจสนามบิน และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ขณะที่มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 826.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้น 22.3% โดยเฉพาะส่วนของต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้น 34.5% ได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และค่าบริการผู้โดยสาร

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising