×

เลขาฯ สุริยะตอกอนุทิน หยุดบิดเบือนคำสั่งนายกฯ ปมแบน 3 สาร ขอให้ใช้ข้อมูลจริง ไม่ใช้จินตนาการ

โดย THE STANDARD TEAM
06.12.2019
  • LOADING...
อนุทิน ชาญวีรกูล

วันนี้ (6 ธันวาคม) สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส. ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ เลขานุการของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าจากกรณีที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบหรือเยียวยาผู้ที่ครอบครองสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น 

 

สรวุฒิกล่าวว่ารัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้สุจริตภายใต้กฎหมายเดียวกัน หากประชาชนทำถูกต้องตามกฎหมาย แล้ววันดีคืนดีรัฐออกกฎหมายใหม่ไม่ให้เขาทำสิ่งนั้น แล้วเขาเสียหายโดยรัฐไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เปรียบเสมือนประชาชนมีมีดทำครัวในบ้านแล้วรัฐออกกฎหมายว่าการมีมีดทำครัวเป็นอาวุธ ผิดกฎหมาย ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง แถมยังสั่งให้ทำลายมีดทิ้งโดยให้รับผิดชอบค่าทำลายเอง แล้วไม่ไปดูแลความเสียหาย อย่างนี้ถามว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ และเมื่อตรวจสอบกับฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายไม่ได้ให้อำนาจรัฐสั่งการแล้วไม่ต้องรับผิดชอบชดเชยความเสียหายแก่ผู้กระทำการโดยสุจริต 

 

สรวุฒิกล่าวด้วยว่าจากข้อมูลที่ได้ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ยืนยันว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีสุริยะเป็นประธานได้ถือบัญชานายกรัฐมนตรีว่าการจัดการวัตถุอันตรายต้องพิจารณาอย่างครบถ้วนผ่านการหารือกับ 4 ส่วน ได้แก่ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค เป็นแนวทางการพิจารณาอย่างเคร่งครัด ซึ่งมิใช่การพิจารณาในด้านผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยละเลยการดูแลภาคส่วนอื่น ซึ่งแตกต่างจากที่อนุทินกล่าวอ้างคำบัญชาดังกล่าว จึงเป็นการบิดเบือนคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี และไม่ได้ให้คำตอบสังคมว่าสารใหม่ที่จะมาใช้ทดแทนนั้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไร  

 

ซึ่งข้อมูลในที่ประชุมเสนอว่าสารเคมี เช่น ไกลโฟเซต และพาราควอต มีการใช้อย่างแพร่หลายในโลกมากว่า 45 ปีตั้งแต่ปี 2517 ทำให้ลดต้นทุนเกษตรกร เพิ่มผลผลิต และถ้าใช้ให้ถูกวิธีโดยการให้ความรู้ที่ถูกต้อง หรือหากมีการจำกัดการใช้ในพืชบางชนิดและบางพื้นที่อย่างเคร่งครัดเท่านั้น จะเป็นแนวทางที่สามารถให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ในระยะสั้น เพราะสองสารดังกล่าวใช้ในการเตรียมแปลงก่อนการปลูกเพื่อควบคุมวัชพืช เมื่อพืชโตไประยะหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารดังกล่าว แตกต่างจากคลอร์ไพริฟอสที่เป็นสารกำจัดศัตรูพืช เช่น แมลง ที่มีโอกาสปนเปื้อนสูง และพืชที่จะใช้หลักๆ ในไทยคือทุเรียน ถ้ายกเลิกการใช้สารนี้ทันทีตนก็เห็นด้วย

 

นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 73 ที่วางหลักการให้รัฐต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้ประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ดังนั้นการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติล่าสุดจึงถือว่าเป็นการปกป้องรัฐและสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

 

สรวุฒิกล่าวต่อไปว่าสำหรับประเด็นที่มีการกล่าวอ้างเหตุการณ์ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ก็ขอให้พิจารณาเนื้อหาทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะบางส่วน พบว่าผู้แทนหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขในช่วงต้นได้แสดงความคิดเห็นยืนยันมติให้ห้ามใช้ 3 สารจริง แต่เมื่อรับฟังข้อมูลจากที่มีการนำเสนอในการประชุม โดยเฉพาะจากผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการซักถามของกรรมการ ยิ่งเห็นว่าหากดำเนินการตามมติเดิมจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้ง 4 ส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยยังไม่มีมาตรการลดผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้ที่ประชุมร่วมกันร่างมติที่ประชุม 

 

และเมื่อประธานได้สอบถามว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุขแม้แต่คนเดียวที่แสดงการคัดค้านร่างมติดังกล่าวในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ประธานในที่ประชุมสรุปว่าผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นด้วยกับมติได้อย่างไร

 

การที่ออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับมติจึงขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมอย่างชัดเจน เป็นการทำให้สังคมสับสน ทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการและผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความสุจริตเกิดความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้สังคมสับสน

 

โดยเฉพาะประเด็นสารไกลโฟเซตก็พบว่าเคยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่ผ่านมาก็เคยสนับสนุนให้มีการจำกัดการใช้ ดังนั้นในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขรับฟังข้อมูลจากที่ประชุมแล้วไม่คัดค้านมติที่ประชุมให้มีการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือขัดหลักเหตุผลอย่างสิ้นเชิง เพราะกระทรวงสาธารณสุขเคยมีท่าทีสนับสนุนมาตรการจำกัดสำหรับสารไกลโฟเซตมาแล้วก่อนหน้านี้

 

สรวุฒิกล่าวปิดท้ายว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ร่วมกันพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่นำเสนอจากการถกเถียงอย่างมีส่วนร่วมจากทุกคนในที่ประชุม ไม่ได้ใช้จินตนาการในการตัดสินใจ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising