×

เงินบาทยังทรงตัวที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดจับตาสถานการณ์การเมืองรัสเซีย-ยูเครนอาจสร้างความผันผวนให้ตลาดเงินสัปดาห์นี้

26.06.2023
  • LOADING...
เงินบาท

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 มิถุนายน) ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ต้องจับตาการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ เช่น อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐอเมริกา, ดัชนี PMI ของจีน และสถานการณ์การเมืองรัสเซียและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดเงิน โดยคาดว่ากรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้จะที่ระดับ 35.00-35.50 บาทต่อดอลลาร์

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน และแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จนส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35 บาทต่อดอลลาร์

 

สำหรับสัปดาห์นี้มีปัจจัยที่ควรรอติดตามดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ควรรอจับตาการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หลังจากที่ Dot Plot ใหม่ได้สะท้อนว่า Fed มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง และบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ต่างย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤษภาคม ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อ PCE อาจชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.8% จากระดับ 4.4% ในเดือนก่อนหน้า 

 

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ก็อาจชะลอลงสู่ระดับ 4.6% และที่สำคัญอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานภาคบริการที่ไม่รวมค่าที่พักอาศัย (Core Services ex. Housing) ก็มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ซึ่งหากสิ่งที่นักวิเคราะห์ประเมินนั้นถูกต้อง โอกาสที่ Fed จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อตาม Dot Plot ก็อาจลดลง 

 

ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial and Continuing Jobless Claims) ซึ่งตลาดมองว่าอาจมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

 

ฝั่งยุโรป – หลังจากที่ตลาดได้รับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษที่เร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาดในสัปดาห์ก่อน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนอย่างใกล้ชิด โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนมิถุนายนอาจชะลอลงสู่ระดับ 5.6% จาก 6.1% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน 

 

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ 5.6% จาก 5.3% ตามการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยว ซึ่งภาพอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ 

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์การเมืองรัสเซียอย่างใกล้ชิด หลังในช่วงวันหยุดได้เกิดความวุ่นวายจากการยกกำลังพลของทหารรับจ้าง (PMC) กลุ่มวากเนอร์เข้าประชิดกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย ก่อนที่ทางการรัสเซียจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับทางกลุ่มวากเนอร์ ซึ่งล่าสุดได้ทยอยถอนกำลังไปยังประเทศเบลารุส 

 

โดยล่าสุดสถานการณ์ยังคงไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน เนื่องจากความวุ่นวายของการเมืองรัสเซียอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ 

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจจีนอาจยังคงฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก สะท้อนผ่านการขยายตัวในอัตราชะลอลงของภาคการบริการ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) เดือนมิถุนายนอาจลดลงสู่ระดับ 53.3 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว) ขณะที่ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 49 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว) 

 

อย่างไรก็ตาม ภาพเศรษฐกิจจีนที่ดูไม่สดใสจะยิ่งหนุนโอกาสให้ทางการจีนและธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมและเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายได้ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวราว +0.8%m/m (+5.2%y/y) หนุนโดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศที่ได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวได้ดีและตึงตัวมากขึ้น

 

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่ายอดการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมอาจหดตัวต่อเนื่อง -8%y/y ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ (สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวลดลง)

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทประเมินว่าแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังพอมีอยู่และเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบใหม่ ทั้งนี้ ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินหยวนจีนและค่าเงินบาทได้ (Correlation 62%) นอกจากนี้ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้บ้างในจังหวะตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้นมองว่าอาจยังพอได้แรงหนุน หากตลาดการเงินเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอนของการเมืองในรัสเซียหรือสถานการณ์สงครามที่อาจร้อนแรงขึ้น อนึ่ง เงินดอลลาร์ก็อาจกลับมาอ่อนค่าลงได้ หากตลาดเริ่มไม่เชื่อมั่นต่อการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ PCE และตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising