×
SCB Omnibus Fund 2024

เงินบาทเปิดแข็งค่าที่ระดับ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ หลังปัญหาเพดานหนี้คลี่คลาย จับตา Fund Flow ต่างชาติทยอยกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทย

06.06.2023
  • LOADING...
เงินบาทแข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 มิถุนายน) ที่ระดับ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า (5 มิถุนายน) ที่ระดับ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐอเมริกาออกมาแย่กว่าคาด ประกอบกับแรงขายทำกำไรจากทองคำของผู้เล่นในตลาด

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินโดยรวมเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI และปัญหาเพดานหนี้ที่คลี่คลาย สำหรับสัปดาห์นี้มองว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทแผ่วลงชัดเจนมากขึ้น โดยเงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านโซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาท 

 

ทั้งนี้ควรจับตาทิศทาง Fund Flow นักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน และควรจับตาทิศทางราคาทองคำและค่าเงินหยวนซึ่งมีผลกับเงินบาทในช่วงนี้ โดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.40-34.95 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.85 บาทต่อดอลลาร์

 

ในส่วนเงินดอลลาร์มองว่า Upside เงินดอลลาร์อาจมีไม่มาก โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ขาดถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ทำให้หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ผู้เล่นในตลาดจะยิ่งมองว่า Fed อาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน กดดันให้เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

 

พูนระบุว่า ในสัปดาห์นี้ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ และจีน ส่วนในฝั่งไทยรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคม

 

โดยในฝั่งสหรัฐฯ สัปดาห์นี้จะเป็นช่วง Blackout/Silent Period ของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะไม่ทราบมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed เพิ่มเติม โดยเฉพาะหลังจากที่ตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.5 จุดในเดือนพฤษภาคม หนุนโดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว 

 

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่กดดันการขยายตัวในภาคการบริการ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) เพื่อช่วยประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ

 

ฝั่งยุโรปผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่ายอดค้าปลีกอาจขยายตัวราว +0.2% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยภาวะการจ้างงานที่ยังคงดีอยู่ ทว่าปัญหาค่าครองชีพสูงจากภาวะเงินเฟ้อสูงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการบริโภคโดยรวม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักดังกล่าว

 

ฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด หลังข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดต่างชี้ว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้แย่กว่าคาด โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งตลาดคาดว่าการชะลอตัวลงของภาคอุตสาหกรรมอาจสะท้อนผ่านยอดการนำเข้าเดือนพฤษภาคมที่อาจหดตัว -8%y/y ส่วนยอดการส่งออกก็อาจหดตัว -2%y/y ตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ล้วนชะลอตัวลง 

 

นอกจากนี้ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่าทางการจีนและธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดมองว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) รวมถึงธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะตัดสินใจ ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.85% และ 6.50% ตามลำดับ หลังอัตราเงินเฟ้อของทั้งออสเตรเลียและอินเดียชะลอตัวลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาพรวมเศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง

 

ขณะที่ฝั่งไทย ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคมอาจชะลอลง -0.05% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็น +1.2%y/y เนื่องจากระดับฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า) ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าพลังงาน ทว่าราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มอาจยังคงปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.5 จุดในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ต้องติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพราะหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาดก็อาจลดโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising