×

เงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ รับผลการประชุม Fed จับตากระแสเงินไหลออกกดดันอ่อนค่าต่อ

03.11.2022
  • LOADING...

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ ‘อ่อนค่า’ จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.58 บาทต่อดอลลาร์ ตามทิศทางสกุลเงินทั่วโลกที่เผชิญแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังธนาคารสหรัฐฯ (Fed) แถลงขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ Fed ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป 

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยในช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับในเชิงบวกต่อแนวโน้มการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ได้ระบุในแถลงการผลการประชุม หลังมีมติขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ตามคาด อย่างไรก็ดี ตลาดพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทันทีที่ประธาน Fed ได้ย้ำจุดยืนการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งสะท้อนว่าการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของนั้นยังไม่จบ แม้ว่าอาจเริ่มพิจารณาชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆ ไป และยังเร็วเกินไปที่ตลาดจะคาดการณ์ว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ในเร็วนี้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ ประธาน Fed ยังได้ปรับลดโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) ซึ่งมุมมองดังกล่าวทั้งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของ Fed และโอกาสเกิดภาพ Soft Landing ที่ลดลง ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคและหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวเป็นพิเศษกับแนวโน้มดอกเบี้ย กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทค Nasdaq สหรัฐฯ ดิ่งลงหนัก -3.36% ส่วนดัชนี S&P 500 ปิดตลาด -2.50%

 

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.29% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมของ Fed ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจลดความเสี่ยงลงด้วยการขายทำกำไรออกมา ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังกังวลว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงมีอยู่ แม้ Fed อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากการประชุมเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอตัวลงได้เร็ว กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคเผชิญแรงขายมากขึ้น อาทิ ASML -1.9%

 

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +7.4% หลังบริษัทรายงานผลกำไรที่ดีกว่าคาดและปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรจากยอดขายยารักษาเบาหวาน Ozempic ที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.11% หลังประธาน Fed เน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่าจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Terminal Rate อาจอยู่ที่ระดับ 5.25% หรือสูงกว่า (จาก CME FedWatch Tool) ซึ่งธนาคารมองว่าบอนด์ยีลด์ระยะสั้นและระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง แต่มองว่าในจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าว จะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) เพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ตามที่ประธาน Fed ได้ระบุว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะ Soft Landing นั้นเริ่มมีน้อยลง (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินโอกาส 60% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าในช่วงแรก หลังแถลงการณ์ผลการประชุม Fed สะท้อนโอกาสชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก่อนที่เงินดอลลาร์จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากถ้อยแถลงของประธาน Fed ที่ย้ำจุดยืนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 112 จุด 

 

นอกจากนี้ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่หนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ก็ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนธันวาคม) พลิกกลับมาปรับตัวลงแรงหลังจากที่ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กลับสู่ระดับ 1,636 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าราคาทองคำยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงใกล้โซนแนวรับ แต่มองว่าผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลวธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) โดยตลาดคาดว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะลดลงสู่ระดับ 55.1 จุด กดดันโดยภาวะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงและผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา

 

ในด้านนโยบายการเงิน ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตามอง คือการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า BOE จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +75 bps สู่ระดับ 3.00% หลังเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่า 10% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตามุมมองของ BOE ต่อการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตหรือโอกาสที่ BOE จะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่ลดลงต่อเนื่องจนแตะระดับต่ำกว่า 50 จุด พอสมควร (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว)

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าเงินบาทมีโอกาสที่จะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังประธาน Fed ยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ให้ระวังความผันผวนและโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงหลังตลาดรับรู้ถ้อยแถลงของประธาน Fed

 

ทั้งนี้ มองว่า แม้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่แนวต้านอาจอยู่ในโซน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติ ทั้งโฟลวในฝั่งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมา ‘ขายสุทธิ’ หุ้นและบอนด์ไทยอีกครั้งหรือไม่ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยรุนแรงและต่อเนื่องแบบในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่เกิดแรงขายบอนด์รุนแรง จึงประเมินว่าเงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักจากโซนแนวต้าน ซึ่งคาดว่ากรอบเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 37.70-38.00 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X