ทางการออสเตรเลียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบาเนซี เผยคำถามสำคัญที่จะใช้ในการลงประชามติในช่วงปลายปี 2023 ว่าด้วยเรื่องการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย เพื่อรับรองสิทธิชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรกในรอบ 122 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อปี 1901
ตลอดระยะเวลา 122 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญออสเตรเลียไม่เคยระบุหรือยอมรับว่า ชนพื้นเมืองในออสเตรเลียถือเป็นประชากรดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในประเทศแห่งนี้มาอย่างยาวนานกว่า 65,000 ปี โดยปัจจุบันชนพื้นเมืองอย่างชาวอะบอริจิน (Aborigine) และชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Torres Strait Islander) คิดเป็น 3.8% ของประชากรในออสเตรเลีย
โดยคาดว่าการลงประชามติในครั้งนี้น่าจะจัดขึ้นราวช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2023 ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักดันเรื่องการรับรองสิทธิของชนพื้นเมืองแล้ว ยังจะปูทางไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐสภาว่าด้วยชนพื้นเมืองอย่าง ‘Aboriginal and Torres Strait Islander Voice’ ขึ้นอีกด้วย
อัลบาเนซีระบุว่า “วันนี้คือผลลัพธ์ของการทำงานอย่างอดทนและกระตือรือร้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้โอกาสที่จะสร้างประวัติศาสตร์และสร้างอนาคตที่ดีกว่าเป็นของพวกคุณแล้ว ชาวออสเตรเลีย”
ทางด้านนักประวัติศาสตร์ชี้ว่า ‘Great Australian Silence’ เป็นคำศัพท์ที่ได้รับการบัญญัติขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เพื่อใช้อธิบายถึงความพยายามในการลบล้างมุมมองและประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชนชาวพื้นเมืองให้หายไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของออสเตรเลีย
แม้กระแสการลงประชามติในช่วงปลายปีนี้จะเป็นไปในทิศทางบวก แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญออสเตรเลียไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยการลงประชามติราว 4 ใน 5 ของออสเตรเลียล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ มีเพียง 8 จากทั้งหมด 44 ครั้งเท่านั้น ที่ได้รับมติเห็นชอบจากพลเมืองออสเตรเลีย
การลงประชามติครั้งล่าสุดของออสเตรเลียเกิดขึ้นในปี 1999 เป็นการลงประชามติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐ และแทนที่ระบอบกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรด้วยระบอบประธานาธิบดีในฐานะประมุขแห่งรัฐ โดยพลเมืองออสเตรเลียมีมติคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว
ผลสำรวจล่าสุดโดย The Guardian เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 มีนาคม) ชี้ว่า เสียงสนับสนุนต่อประเด็นชนพื้นเมืองในออสเตรเลียลดลง 5% จากการสำรวจความคิดเห็นครั้งก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม พลเมืองออสเตรเลียราว 59% ยังคงเป็นเสียงข้างมากที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับสิทธิชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรก
ภาพ: Tamati Smith / Getty Images
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2023/03/22/australia/australia-indigenous-voice-parliament-first-referendum-intl-hnk
- https://www.aljazeera.com/news/2023/3/23/australia-unveils-referendum-question-on-indigenous-recognition
- https://www.theguardian.com/australia-news/2023/mar/21/guardian-essential-poll-support-for-aukus-and-indigenous-voice-declines