ผู้นำกลุ่ม AUKUS ได้แก่ แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เห็นพ้องในข้อตกลง เดินหน้าโครงการสร้างกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้น เมื่อวานนี้ (13 มีนาคม) โดยพันธมิตรดังกล่าวจะทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างและพัฒนากองเรือดำน้ำใหม่โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นไปเพื่อรับมือการขยายอิทธิพลของจีนในแถบอินโด-แปซิฟิก
หลังจากที่ผู้นำทั้ง 3 ประเทศร่วมตกลงหารือกันที่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ไบเดนได้เน้นย้ำว่า เรือดำน้ำดังกล่าวที่ออสเตรเลียจะได้รับจะไม่มีการติดอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่ต้องการจะเป็นประเทศปลอดอาวุธนิวเคลียร์
โดยสมาชิกของกองทัพออสเตรเลียจะได้รับการส่งตัวไปฝึกอบรมเกี่ยวกับเรือดำน้ำที่ฐานทัพเรือของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรภายในปีนี้ ขณะที่ตั้งแต่ปี 2027 กองทัพสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะตั้งฐานทัพเรือดำน้ำนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งขึ้นที่ฐานทัพเรือออสเตรเลีย (RAN) ในเมืองเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ก่อนที่ออสเตรเลียจะเปิดดีลซื้อเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ จำนวน 3 ลำในช่วงต้นทศวรรษ 2030 และอาจได้รับข้อเสนอให้สามารถซื้อเพิ่มได้อีก 2 ลำ
หลังจากนั้นจะเป็นการออกแบบและเดินหน้าโครงการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่ สำหรับกองทัพเรือสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียที่มีชื่อว่า ‘SSN-AUKUS’ ซึ่งจะสร้างในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย โดยสหราชอาณาจักรเป็นผู้ออกแบบ แต่ใช้เทคโนโลยีจากทั้ง 3 ประเทศ
ข้อตกลงดังกล่าวนี้จะช่วยให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำที่สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นและเร็วกว่ากองเรือที่มีอยู่ในขณะนี้ พร้อมติดตั้งขีปนาวุธร่อนที่สามารถโจมตีเป้าหมายทั้งบนบกและในทะเลได้ โดยจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับออสเตรเลียสูงถึง 3.68 แสนล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในช่วง 30 ปีนับจากนี้
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยสามารถส่งมอบความมั่นคงและความรุ่งเรืองของเราเองได้อย่างไร ไม่เพียงแต่เพื่อพวกเราเอง แต่เพื่อโลกทั้งใบ” โดยสหรัฐฯ ให้คำมั่นเตรียมจัดสรรงบประมาณ 4.6 พันล้านดอลลาร์ (1.6 แสนล้านบาท) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเรือดำน้ำและพัฒนาระบบซ่อมบำรุงเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย
ทางด้านอัลบาเนซีระบุว่า โครงการเรือดำน้ำนี้มีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ อีกหลายพันตำแหน่ง และนี่อาจเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางกลาโหมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย ทั้งยังเป็นข้อตกลงแรกในรอบ 65 ปีที่สหรัฐฯ ยอมแบ่งปันเทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์ของตน
ขณะที่ซูนัคชี้ว่า ตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ AUKUS ได้มีการรวมกลุ่มกัน ความมั่นคงโลกเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ มากยิ่งขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย ความพยายามในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน พฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ ทั้งหมดล้วนเป็นภัยคุกคามที่ทำให้โลกตกอยู่ในอันตราย ความวุ่นวายและความแตกแยก
ด้าน เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้เน้นย้ำเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ข้อตกลงดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธ รวมถึงบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่ม AUKUS ละทิ้งแนวคิดช่วงสงครามเย็นและปฏิบัติตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ให้มากยิ่งขึ้น
โดย เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสร้างกลุ่มพันธมิตรใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์การ NATO ขึ้นภายในภูมิภาคนี้แต่อย่างใด พร้อมทั้งระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยสร้างหลักประกันว่าภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจะยังคงเสรีและเปิดกว้าง ไม่ตกอยู่ภายใต้การแผ่อิทธิพลของชาติใดชาติหนึ่ง
หนึ่งในคำถามสำคัญที่ตามมาคือ ที่ผ่านมาจีนถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของออสเตรเลีย มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ออสเตรเลียจะกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการทหารและความมั่นคงกับสหรัฐฯ ควบคู่กับการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนไปพร้อมๆ กัน
ภาพ: Jim Watson / AFP
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-australia-64945819
- https://www.cnbc.com/2023/03/13/australia-to-receive-nuclear-powered-submarines-in-deal-with-us-uk.html
- https://www.theguardian.com/world/live/2023/mar/14/australia-news-live-updates-aukus-submarine-nuclear-defence-albanese-agreement-biden-sunak-meeting-pacific-politics-virginia-class-collins