×

พาณิชย์เผย เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมหดตัว 0.02% ลดลงในรอบ 5 เดือนตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ คาดทั้งปียังอยู่ในกรอบ 0.7-1.7%

06.09.2021
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวลดลง 0.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มีสาเหตุสำคัญจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด 

 

นอกจากนั้นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน แม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่นๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับลดลง

 

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) ขยายตัว 0.07% (YoY) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.14% เงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 ลดลง 0.18% (MoM) และเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2564 สูงขึ้น 0.73% (AoA)

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้ายังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อและอุปสงค์ในประเทศ 

 

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัว 4.9% (YoY) จาก 5.0% ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว 8.8% (YoY) จาก 7.8% ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด แต่เชื่อมั่นว่ามาตรการเพิ่มกำลังซื้อและการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

 

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า เงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2564 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐเป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนกันยายนได้ 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7-1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนกันยายน 2564

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising