×

ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องติดต่อรับการรักษาอย่างไร

07.03.2022
  • LOADING...
ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องติดต่อรับการรักษาอย่างไร

ผู้ที่มีผลการตรวจ ATK เป็นบวก (2 ขีด) ถือว่าเป็น ‘ผู้ป่วยเข้าข่าย’ (Probable Case) จะได้รับการรักษาเหมือนผู้ป่วยยืนยัน โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ ตามนโยบาย ‘ATK First’ ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ป่วยสามารถติดต่อรับการรักษาได้ 2 รูปแบบ คือ ทางโทรศัพท์และที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา

 

ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด

 

ผู้ป่วยในเขตกรุงเทพฯ สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ 2 หน่วยงาน คือ

  1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านทางสายด่วน 1330 กด 14, LINE OA @nhso หรือเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th
  2. กทม. ผ่านทางสายด่วน 1669 กด 2 (ศูนย์เอราวัณ), สายด่วนโควิด (EOC) 50 เขต (ค้นหาจากเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักประชาสัมพันธ์) หรือ LINE OA @bkkcovid19connect

 

ผู้ป่วยในต่างจังหวัด โทรติดต่อ รพ.ภาครัฐใกล้บ้าน หรือสายด่วนประจำอำเภอ/จังหวัด (ค้นหาจากเฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด)

 

หรือผู้ป่วยทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สามารถไปที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา โดยโทรสอบถามก่อนล่วงหน้า ดังนี้

  • สิทธิบัตรทอง (30 บาท) ที่หน่วยบริการปฐมภูมิทั่วประเทศตามนโยบายยกระดับบัตรทอง (ไม่ใช้ใบส่งตัว) เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข, คลินิกชุมชนอบอุ่น, รพ.สต. หรือ รพ.ประจำอำเภอ, หน่วยบริการปฐมภูมิของ รพ.ประจำจังหวัด
  • สิทธิประกันสังคม ที่ รพ.ตามสิทธิที่ลงทะเบียน
  • สิทธิข้าราชการ ที่ รพ.ภาครัฐ

 

จากนั้นแพทย์จะประเมินอาการของผู้ป่วย หรือระหว่างที่รอการติดต่อกลับ ผู้ป่วยสามารถประเมินตนเองเบื้องต้นได้ โดยผู้ป่วยสีเขียว หมายถึง ผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไข้ต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือด ≥94% จะได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือ ‘เจอ-แจก-จบ’

 

ผู้ป่วยสีเหลือง หมายถึง ผู้มีอาการเล็กน้อย แต่มีปัจจัยเสี่ยง (สีเหลืองอ่อน) ได้แก่ 

  • อายุมากกว่า 60 ปี
  • โรคปอดเรื้อรัง
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  • ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.)
  • ตับแข็ง 
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 

 

จะเข้าระบบแยกรักษาที่บ้าน (HI) หรือ Hospitel โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอาการทุกวัน 

 

และผู้ป่วยปอดอักเสบที่ไม่มีอาการรุนแรง (สีเหลืองเข้ม) จะได้รับการรักษาใน รพ.

 

ผู้ป่วยสีแดง หมายถึง ผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีอาการรุนแรง หายใจเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือด <94% จะได้รับการรักษาใน รพ. อย่างใกล้ชิด

 

สำหรับยารักษา ปัจจุบันผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มสีเขียวจะได้รับยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ และสังเกตอาการจนครบ 10 วัน ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส (เช่น ฟาวิพิราเวียร์) เพราะส่วนมากหายได้เอง และอาจได้รับยาฟ้าทะลายโจร

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising