เคยลองนึกกันเล่นๆ บ้างไหมว่า กว่าจะผลิตเครื่องดื่มโปรดจากข้าวมอลต์และยีสต์ขึ้นมาได้สักหนึ่งกระป๋อง (ขวด) กระบวนการนั้นวุ่นวายมากมายแค่ไหน? หรือการจะไล่ตรวจสอบไลน์การผลิตแต่ละขั้นตอนยุ่งยากเพียงใด ต้องเสียเวลาเข้าโรงงาน ไล่เช็กรายละเอียดทีละส่วนทีละขั้นตอน กว่าจะ Visualize ให้เห็นภาพรวมไลน์ผลิตทั้งหมดได้แบบเป็นรูปธรรมบนอินเทอร์เฟซที่จับต้องได้จริง
ในช่วงที่ภาคธุรกิจเริ่มทรานส์ฟอร์มเข้าสู่โลกเทคโนโลยี นวัตกรรม และแพลตฟอร์มดิจิทัลเต็มตัวตามกระแสโลกาภิวัตน์ และการระบาดของโควิดที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปโดยสิ้นเชิง ‘คอนซัลต์’ หรือบริษัทรับให้คำปรึกษาทางธุรกิจจำนวนมากเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้ให้คำแนะนำการปรับตัว ทรานส์ฟอร์มกลยุทธ์ธุรกิจ พลิกโมเดลการดำเนินงานมาอิงแอบพึ่งพิงพื้นที่บนโลกดิจิทัลมากกว่าเดิม
แต่มีคอนซัลต์เพียงไม่กี่รายนักที่จะสามารถให้บริการแบบครบวงจรได้ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงกระบวนการร่วมพัฒนานวัตกรรม โซลูชันเทคโนโลยีที่ออกแบบแบบ Tailor-made เพื่อธุรกิจของลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการทรานส์ฟอร์มภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการให้บริการกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง (เหมือนในเคสของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เรายกตัวอย่างไปในช่วงแรก)
หนึ่งในนั้นคือ ‘Accenture’ บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการภาคธุรกิจมานานกว่า 43 ปีรวมอยู่ด้วย เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก
ถึงขนาดตั้งศูนย์เทคโนโลยีของตัวเองในชื่อ ‘Advanced Technology Center (ATC)’ โดยที่ตัวเลขจำนวนบุคลากร 1 ใน 3 ของทั้งบริษัท Accenture ณ วันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพนักงานสายไอทีของ ATC แทบทั้งสิ้น!
ที่น่าสนใจก็คือ เร็วๆ นี้ Accenture กำลังจะเปิดศูนย์ ATC ของตัวเองในประเทศไทยขึ้น โดยตั้งเป้าจะเปิดรับสมัครคนเข้าสู่องค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีพนักงานที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาโซลูชันในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นิธินันท์ สมบูรณ์วิทย์ กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย
THE STANDARD WEALTH จึงพามาสำรวจแนวคิดของ Accenture และ Advanced Technology Center Thailand จากคำบอกเล่าของ นิธินันท์ สมบูรณ์วิทย์ กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ว่าความตั้งใจในครั้งนี้ของ Accenture คืออะไร การตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาจะช่วยเร่งประสิทธิภาพด้านการพัฒนาโซลูชันเทคโนโลยีได้ในระดับใด แล้วอะไรคือสิ่งที่คนของ ATC ประเทศไทยจะได้รับ?
‘Innovation Hub’ สรรค์สร้างนวัตกรรมโซลูชันพลิกโฉมองค์กรให้ Accenture
จริงๆ แล้ว Accenture ตั้ง Advanced Technology Center หรือ ATC ขึ้นมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วด้วยซ้ำในต่างประเทศ โดยในตอนนั้นจุดมุ่งหมายหลักของเราคือมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโซลูชันธุรกิจที่แตกต่างให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากร
เปรียบเทียบก็คือ หน่วยงานแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนคลังนวัตกรรม หรือ ‘Innovation Hub’ ช่วยออกแบบ สรรค์สร้าง พัฒนานวัตกรรมโซลูชันที่เข้ามาตอบโจทย์การทรานส์ฟอร์มธุรกิจตามความต้องการของลูกค้าองค์กรแต่ละ
รายที่มีแตกต่างกัน ซึ่ง ณ วันนี้ Advanced Technology Center ของ Accenture ก็มีอยู่ในเครือข่ายมากกว่า 50 แห่งทั่วโลก
นิธินันท์ เริ่มเล่าว่า “ความตั้งใจหลักๆ ของเราคือการมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ควบคู่กับการพัฒนาบุคคล โดยที่แผนกนี้จะทำหน้าที่เป็น Innovation Hub หรือแล็บ R&D เทคโนโลยีใหม่ๆ ภายใต้การทำงานร่วมกับลูกค้า (Co-Create Solution) ที่มีโจทย์มาให้เราออกแบบโซลูชันต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ปัญหาความต้องการที่แตกต่างกันออกไป
“โดยที่บุคลากรในศูนย์แห่งนี้ก็จะมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแบบ Deep Tech เฉพาะทาง เช่น Cloud Solution, Package Solution, Digital Mobile, AI, Blockchain หรือ IoT เป็นต้น โดยที่รูปแบบการทำงานก็จะเป็นการประสานการทำงานร่วมกันกับ Accenture ในแต่ละประเทศ เพราะจะทำให้เราสามารถนำเสนอโซลูชันในรูปแบบ Innovation at Scale (จุดคุ้มทุนของการพัฒนานวัตกรรม) เนื่องจากเราสามารถนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาไปต่อยอดพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้กับลูกค้าในแต่ละประเทศได้
“ต้องบอกว่าส่วนใหญ่เวลา Accenture รับโปรเจกต์ใดๆ ก็ตาม ลูกค้าก็จะเข้ามาพร้อมโจทย์ที่แตกต่างกันออกไป อาจจะมีความมุ่งหวังทางธุรกิจ ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราและลูกค้า รวมถึงโครงข่าย ATC ของ Accenture จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางและโซลูชันเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ที่สุดที่จะทำให้ลูกค้าของเราก้าวไปสู่เป้าหมายที่หวังเอาไว้อย่างดีที่สุดนั่นเอง”
กรณีศึกษา คุมไลน์การผลิตเบียร์ Asahi ผ่านมือถือ และยกเครื่องพาแบรนด์เครื่องประดับอย่าง Pandora เจิดจรัสบนโลกออนไลน์
หนึ่งในตัวอย่างการทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่ ATC และ Accenture ทำงานร่วมกัน ดังที่เราได้แย้มเป็นกับแกล้มจั่วหัวเอาไว้ในตอนต้น คือกรณีของแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชื่อดังจากญี่ปุ่น ‘Asahi’ ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าที่ตบเท้าเข้ามาหา Accenture ด้วยโจทย์ความต้องการในการยกเครื่องไลน์การผลิตเบียร์ให้สามารถ Visualize ข้อมูลและแทร็กกิ้งข้อมูลการผลิตแบบเรียลไทม์ได้ผ่านสมาร์ทโฟน
“ย้อนกลับไปในช่วงปี 2017 Asahi ได้เข้าไปซื้อกิจการโรงกลั่นในยุโรปแห่งหนึ่งมา ซึ่งเขาก็เข้ามาหาเราด้วยความต้องการที่อยากจะปรับปรุงประสิทธิภาพของอินเทอร์เฟซการดูแลและควบคุมการผลิตเบียร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
นิธินันท์ เริ่มเล่าต่อถึงโจทย์ความต้องการของ Asahi ในตอนนั้นว่าประกอบไปด้วย
- ปรับปรุงประสิทธิภาพของอินเทอร์เฟซการดูแลและควบคุมการผลิตเบียร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ใช้ง่ายกว่าเดิม
- ช่วยให้ภาคการผลิตทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยเห็นทุกขั้นตอนของการผลิตเบียร์แบบเรียลไทม์ และควบคุมได้ทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟน
“ตอนนั้นความตั้งใจของ Asahi คืออยากควบคุมการผลิตเบียร์ตั้งแต่กระบวนการกลั่นไปจนกระทั่งถึงการบรรจุลงขวด โดยที่โปรเจกต์นี้ Accenture ได้เริ่มขั้นตอนการทำงานตั้งแต่การเวิร์กช็อปกับลูกค้า ดีไซน์โซลูชันร่วมกัน จนกระทั่งถึงการทำ Prototype ต้นแบบโซลูชันขึ้นมาร่วมกัน
“พอได้ Prototype ออกมา เราก็นำไปติดตั้งในโรงผลิตเบียร์ ผลลัพธ์ที่ได้คือโซลูชันที่ ATC โดย Accenture พัฒนาขึ้นมาช่วยให้บุคลากรผู้บริหารสายงานการผลิตบริหารงานได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถมองเห็นขั้นตอนต่างๆ ของการผลิตเบียร์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการกลั่น จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายของการบรรจุได้แบบเรียลไทม์บนหน้าจอเดียว
“แล้วการเห็นข้อมูลได้แบบเรียลไทม์นี้ก็ยังทำให้พนักงานสามารถดูแลการผลิต สั่งวัตถุดิบเพิ่มเติมล่วงหน้าเมื่อถึงเวลาที่วัตถุดิบใกล้จะหมด ซึ่ง ณ วันนี้ที่ ATC ได้ต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมให้กับ Asahi นั้น ผู้ที่เป็นผู้บริหารสายการผลิตเบียร์ เขาก็สามารถทำการควบคุมดูแลการผลิตของโรงกลั่นได้ทั้งหมดผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การทำงานของคนเปลี่ยนไปอย่างมากและก็ง่ายขึ้นด้วย”
นอกเหนือจากกรณีของ Asahi ที่ ATC ได้เข้าไปมีบทบบาทในการพลิกโฉมกระบวนการผลิตเบียร์ให้มีความอัจฉริยะและเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ยังมีกรณีศึกษาของ Pandora แบรนด์เครื่องประดับยอดฮิตสัญชาติเดนมาร์กที่ ATC และ Accenture ได้เข้าไปทรานส์ฟอร์มคลังข้อมูลมหาศาลแบบออฟไลน์ไปสู่ Cloud ออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของ Pandora ในแต่ละสาขาประเทศเข้าถึงกัน เพื่อให้สามารถขยับตัวเองไปสู่สมรภูมิอีคอมเมิร์ซแบบเต็มตัวอีกด้วย
“กรณีของ Pandora จะเป็นโปรเจกต์ที่ ATC ฟิลิปปินส์ทำร่วมกับ Accenture ในยุโรป ซึ่งเขาเข้ามาคุยกับเราเพราะอยากจะปรับโพสิชันแบรนด์ขยายฐานลูกค้าให้เป็นระดับนานาชาติ ลดระยะเวลาในการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และลดค่าใช้จ่ายไปด้วยในเวลาเดียวกัน
“จากเดิมที่เขาอาจจะมี Center ที่มีคอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการด้านต่างๆ เราก็เข้าไปช่วย Pandora ย้าย Data Center ทั้งหมดขึ้นไปอยู่บน Cloud โดยใช้เวลาเพียง 14 เดือน ย้ายแอปพลิเคชันมากกว่า 350 แอปฯ ขึ้นไปอยู่บน Cloud
“ผลลัพธ์ที่ได้คือ Pandora สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แทนที่จะต้องเสียต้นทุนไปกับการดูแลบริหารเครื่องเซิร์ฟเวอร์ในแต่ละประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การใช้โซลูชันบน Cloud ยังทำให้เขาสเกลระบบขึ้น เพื่อขยายขีดความสามารถในการดูแลจัดการระบบหรือขยายความรวดเร็วในเชิงการดำเนินงานได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการไปได้ถึง 26.8 ล้านยูโร” นิธินันท์ กล่าว
เตรียมตั้ง ATC ในประเทศไทยครั้งแรก เร่งปั้นบุคลากรเทคโนโลยีไอที ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
สำหรับในประเทศไทย Accenture มีแผนการจะเปิดตัวศูนย์ ATC อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ โดยเป้าหมายในการตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมามี 2 ด้านคือ หนึ่งตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาโซลูชันเทคโนโลยีให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กรได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสองคือเป็นองค์กรที่จะช่วยพัฒนา ยกระดับทักษะความสามารถของบุคลากรไทยให้รุดหน้าขึ้นไปอีกระดับ
“จุดเริ่มต้นของ Advanced Technology Center (ATC) ในประเทศไทย เริ่มต้นมาจากการที่เราได้ศึกษาโอกาส และพบว่าเด็กไทย บุคลากรไทย มีศักยภาพที่จะเติบโตในสาย STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ Science Technology Engineering และ Mathematics: STEM) ได้ Accenture จึงหวังที่จะขยาย ATC Network เข้ามาเปิดศูนย์ในไทยเพื่อเป็นฐานแห่งการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม
“โดยจะนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ ในเครือข่ายของ ATC ทั่วโลกเข้ามาเริ่มเป็นจุดตั้งต้นของการตั้งหน่วยงานในไทย ถ่ายทอดทั้งประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี การเรียนการสอนต่างๆ การทำงานที่เป็นระบบต่างๆ จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ รวมถึงเปิดโอกาสให้บุคลากรได้รู้จักเพื่อนร่วมงานทั่วโลก ทั้งในเอคเซนเชอร์ และเครือข่าย ATC ซึ่งจะให้บรรยากาศการทำงานแบบองค์กรนานาชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ATC ยังสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Flexible Work Location) โดยไม่ต้องเข้ามานั่งทำงานประจำที่ออฟฟิศ ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเอคเซนเชอร์มีแผนจะเปิดตัวศูนย์แห่งนี้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยภายในปี 2564 นี้
“เราอยากจะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความสนใจที่จะเรียนรู้ เติบโตในสายงานของเทคโนโลยี ได้เข้ามาทำงานร่วมกันที่ ATC โดยที่เริ่มแรกแต่ละคนอาจจะมีทักษะในระดับพื้นฐาน ยังมีประสบการณ์การทำงานไม่เยอะนัก หรือนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบ เราก็เปิดกว้างให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้เช่นกัน เพราะว่าเราได้วางแผนการฝึกอบรมไว้แล้วว่าพนักงานที่เพิ่งเข้ามาจะเป็นจูเนียร์ มาเริ่มที่กระบวนการอบรม ฝึกสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพ เสริมความรู้ พัฒนาทักษะต่างๆ ให้มีความรู้แน่นขึ้นก่อนที่จะไปลงสนามทำงานจริง
“โดยเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพนั้น แต่ละคนก็จะได้รับโอกาสในการพัฒนา Deep Skill หรือทักษะเชิงลึก เลือกเส้นทางอาชีพที่เติบโตไปกับ ATC ที่สามารถต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งถือจุดประสงค์หลักของเรา”
สำหรับตำแหน่งงานที่ ATC จะเปิดรับสมัครนั้นก็มีหลากหลาย เช่น Developer ทั้ง Back End, Front End, Full Stack, Mobile Developer, Salesforce, Package Solution, Cloud Engineer, Data Engineer หรือ Security Blockchain เป็นต้น
ซึ่ง นิธินันท์ ยืนยันว่า ไม่เพียงแต่จะสามารถพัฒนาตัวเองไปตามสายลึกด้านเทคโนโลยีแบบเฉพาะทางที่ต้องการได้แล้ว แต่บุคลากรของ ATC ในประเทศไทยก็จะได้รับประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับลูกค้าที่เป็นองค์กรช้ันนำในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการเงิน, ธนาคาร, ค้าปลีก หรือ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
“เราตั้งใจจะเปิดรับทั้งตำแหน่งพนักงานประจำและนักศึกษาฝึกงาน โดยตั้งเป้าไว้ว่าเราอยากจะขยายให้เซ็นเตอร์แห่งนี้ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้” นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย
ภายใต้เป้าหมายของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่โลกอนาคตหลังโควิด ผู้ประกอบการ บริษัทเอกชนจำนวนมากจำเป็นจะต้องหันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซลูชันเทคโนโลยีมากขึ้น และเราก็เชื่อเหลือเกินว่าอนาคตต่อจากนี้ของ ATC และ Accenture ย่อมต้องได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดว่าพวกเขาจะสามารถสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ลูกค้าได้มากน้อยเพียงไร
สำคัญที่สุดคือ ภายในอีก 3 ปีต่อจากนี้ เราน่าจะได้เห็น ATC สาขาประเทศไทยของ Accenture กลายเป็น Hub พัฒนานวัตกรรมโซลูชันเทคโนโลยีออกมาได้อย่างไม่รู้จบ รวมถึงปั้นบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญแน่นอน
- แม่ทัพหญิงของ Accenture ระบุว่า แนวทางการบริหารบุคลากรในองค์กรของเธอนั้นจะให้ความสำคัญกับ ‘คน’ และความยืดหยุ่นเป็นหัวใจสำคัญ ตัวอย่างเช่น การออกนโยบาย Flexible Work Hour เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ ในเวลาการทำงานที่ออกแบบได้เอง
- ‘คนแบบที่ Accenture มองหา’ คือคนที่มีความคิดก้าวหน้าในการนำสิ่งใหม่ๆ ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ พร้อมตอบรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรับตัวได้เร็ว เรียนรู้ได้เร็ว กล้าก้าวจากคอมฟอร์ตโซน ทดลองทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
- นิธินันท์ เชื่อว่าสกิลของคนทำงานในอนาคตจะต้องมีความเป็น ‘Technologist’ กล่าวคือ แม้จะไม่ได้อยู่ในสายงานด้านไอที หรือเทคโนโลยีโดยตรง แต่ก็พร้อมจะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับสายงานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แม่บ้านดูแลความสะอาดที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ทำความสะอาด หรือแพทย์ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยคัดกรองผู้ป่วย รักษาโรค ได้อย่างมีประสิทธิผล
- หากต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ Advanced Technology Center ในประเทศไทย หรือ ATCT เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ Facebook ของ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย https://www.facebook.com/accenturethailand