×

ดาวเคราะห์น้อยเบนนู อาจเป็นส่วนหนึ่งของดาวแห่งมหาสมุทรในอดีต

09.07.2024
  • LOADING...
ดาวเคราะห์น้อยเบนนู

นักวิทยาศาสตร์เผยข้อมูลใหม่จากการศึกษาตัวอย่างหินของ ดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) พบว่า ดาวดวงนี้อาจเป็นซากชิ้นส่วนที่แตกออกจากดาวที่ปกคลุมด้วยมหาสมุทรในอดีต 

 

ข้อมูลการศึกษาตัวอย่างหินขั้นเบื้องต้นถูกเผยแพร่ในวารสาร Meteoritics & Planetary Science เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พบว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีองค์ประกอบของคาร์บอนและไนโตรเจนในปริมาณมาก เช่นเดียวกับสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับชีวิตอย่างที่พบได้บนโลก

 

แต่สิ่งที่ทำให้นักดาราศาสตร์คาดไม่ถึงก็คือ การตรวจพบแมกนีเซียม-โซเดียมฟอสเฟตที่ไม่ถูกตรวจพบโดยอุปกรณ์สำรวจบนยานอวกาศ OSIRIS-REx ของ NASA ซึ่งเดินทางไปลงจอดและเก็บตัวอย่างหินรวม 121.6 กรัมกลับมาลงจอดบนโลกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2023 ก่อนมุ่งหน้าต่อไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยอโพพิส (Apophis) ภายใต้ชื่อภารกิจใหม่ว่า OSIRIS-APEX

 

แมกนีเซียม-โซเดียมฟอสเฟต เป็นฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ ซึ่งทำให้นักวิจัยตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการทางธรณีเคมีของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ โดย Dante Lauretta หัวหน้าคณะวิจัยของภารกิจ OSIRIS-REx ระบุว่า “การพบฟอสเฟตและองค์ประกอบต่างๆ บนเบนนูบ่งชี้ว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจเคยเป็นส่วนหนึ่งของดาวที่ปกคลุมด้วยมหาสมุทรมาก่อน แต่สมมติฐานนี้ยังต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างละเอียดเพิ่มเติมอยู่”

 

แม้จะเคยมีการตรวจพบฟอสเฟตดังกล่าวในตัวอย่างหินของดาวเคราะห์น้อยริวงู (Ryugu) จากยาน Hayabusa 2 ของ JAXA มาก่อน แต่แมกนีเซียม-โซเดียมฟอสเฟตจากเบนนูมีความบริสุทธิ์กว่าตัวอย่างอื่นๆ เป็นอย่างยิ่ง

 

นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังพบหินเซอร์เพนทีน (Serpentine) คล้ายกับหินที่มักพบในแนวเทือกเขากลางสมุทร ที่แมนเทิลจากใต้เปลือกโลกสัมผัสกับผิวน้ำของมหาสมุทรบนโลก ซึ่งนำไปสู่การพบแร่ธาตุต่างๆ เช่น Iron Oxides, Iron Sulfides, Carbonates และ Magnesium-Sodium Phosphate

 

Jason Dworkin นักวิทยาศาสตร์ของภารกิจ OSIRIS-REx เปิดเผยว่า “ยาน OSIRIS-REx ทำให้เราได้ศึกษาตัวอย่างหินที่มีความบริสุทธิ์ ประกอบด้วยไนโตรเจนและคาร์บอนเป็นจำนวนมาก และอาจเคยเป็นส่วนหนึ่งของดาวแห่งมหาสมุทรในอดีต เหมือนกับที่เราคาดหวังไว้กับภารกิจนี้เลย”

 

ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูเป็นดั่งไทม์แคปซูลของระบบสุริยะที่ยังคงสภาพเดิมแบบที่เคยเป็นอยู่ตั้งแต่ประมาณ 4,500 ล้านปีที่แล้ว ทำให้การศึกษาและเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเช่นนี้ อาจช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจกระบวนการก่อกำเนิดของระบบสุริยะและกระบวนการทางเคมีที่อาจทำให้ชีวิตเกิดขึ้นบนโลกได้

 

นอกจากการศึกษาโดยคณะนักวิจัยที่นำโดย Dante Lauretta แล้ว NASA ยังมีการแจกจ่ายตัวอย่างหินจากเบนนูให้กับห้องปฏิบัติการทดลองต่างๆ ทั่วโลกได้ศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ในอนาคต

 

ภาพ: Lauretta & Connolly et al. (2024) Meteoritics & Planetary Science

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X