×

สทนช. เร่งประเมินพายุเข้าไทยช่วง 31 ส.ค.-1 ก.ย. นี้ เผยพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำลดลงจาก 48 จังหวัด เหลือ 18 จังหวัด

27.08.2019
  • LOADING...
สถานการณ์น้ำ

วันนี้ (27 ส.ค. 2562) สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ทาง สทนช. ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ฝน และปริมาณน้ำที่ไหลลงแหล่งน้ำต่างๆ พบว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ประกอบกับการติดตามสภาพอากาศโดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ พบว่าขณะนี้ได้เกิดพายุทางทิศตะวันออกของฟิลิปปินส์ และคาดการณ์เส้นทางพายุจะเข้าทางตอนเหนือของประเทศไทยในช่วงวันที่ 31 ส.ค. ถึง 1 ก.ย. 

 

โดยทางศูนย์ฯ จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์ใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์เส้นทางที่พายุผ่าน เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงพิจารณาแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมาก ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาปรับแผนการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย

 

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2562 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 26 ส.ค. 2562) พบว่า มีน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 35 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 7,110 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น 

  • ภาคเหนือ 2,272 ล้าน ลบ.ม. 
  • ภาคอีสาน 750 ล้าน ลบ.ม. 
  • ภาคกลาง 9 ล้าน ลบ.ม. 
  • ภาคตะวันออก 117 ล้าน ลบ.ม. 
  • ภาคตะวันตก 3,554 ล้าน ลบ.ม. 
  • ภาคใต้ 409 ล้าน ลบ.ม. 

 

โดยมีแหล่งน้ำที่น้ำไหลเข้ามากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ถึง 11 แห่ง เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ์ เพิ่มขึ้น 2,126 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ เพิ่มขึ้น 1,372 ล้าน ลบ.ม เขื่อนศรีนครินทร์ เพิ่มขึ้น 1,083 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล เพิ่มขึ้น 602 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว เพิ่มขึ้น 183 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีแหล่งน้ำที่น้ำไหลเข้าน้อยกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. ถึง 13 แห่ง โดยมีที่น้ำไม่ไหลเข้าอ่างฯ เลยจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนทับเสลา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนกระเสียว 

 

ซึ่ง สทนช. ได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว ทั้งนี้ ฝนที่ตกสะสมตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้จำนวนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำลดลงจาก 48 จังหวัด คงเหลือ 18 จังหวัด

 

“สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือแก่พื้นที่ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนผลิตประปาน้อยกว่า 15% ซึ่งเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค จำนวน 15 จังหวัด 31 อำเภอ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 จังหวัด 3 อำเภอ ภาคอีสาน 8 จังหวัด 19 อำเภอ ภาคตะวันออก 3 จังหวัด 7 อำเภอ ภาคใต้ 2 จังหวัด 2 อำเภอ ด้วยการจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มเติม พร้อมประกาศลดแรงดันน้ำประปา และจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา ขณะที่พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักและน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนี้บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” 

 

“ซึ่ง สทนช. ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการจัดทำแผนระบายน้ำกรณีฉุกเฉิน ป้องกันน้ำล้นทำนบดินในอ่างฯ ทุกขนาด และจัดการน้ำหลากเพื่อเบี่ยงน้ำโดยใช้อาคารบังคับน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และเปิดทางน้ำใหม่ เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้าด้วย” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

 

นอกจากนี้ สทนช. ยังรายงานถึงมาตรการเตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 โดยขณะนี้ สทนช. ได้มีหนังสือแจ้ง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เมื่อ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนคงเหลือหลังสิ้นสุดฤดูฝนในวันที่ 31 ส.ค. 2562 ของแหล่งน้ำทั่วประเทศ 

 

พร้อมทั้งประเมินปริมาณการใช้น้ำในช่วงเดือน ก.ย. ถึง ต.ค. 2562 และแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ก.ย. นี้ โดยประเมินคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรมตามปริมาณน้ำต้นทุน และความจำเป็นตามลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะการอุปโภค-บริโภคและระบบนิเวศ รวมถึงปริมาณน้ำต้นทุนในต้นฤดูฝน 2563 ด้วย 

 

ซึ่ง สทนช. จะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอในการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงต้นเดือน ก.ย. ก่อนจะนำเข้าเสนอในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 และต้นฤดูฝนปี 2563 ในวันที่ 12 ก.ย. นี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising