เอเซีย พลัส ระบุ แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน ลามสู่การล้มแผนการเจรจาเพื่อผ่อนคลายกำแพงภาษีจีน-สหรัฐฯ ระบุอาจกระทบต่อ GDP ไทย เหตุมีสัดส่วนส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ รวมกันราว 33% ของประเทศคู่ค้า และกดดัน SET Index ให้ปรับฐานเฉลี่ยราว -10% แนะลุยหุ้นที่ปลอดภัยจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
อีกด้านหนึ่ง บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวอาจกดดันตลาดแค่ระยะสั้น และหลังจบการเดินทางอาจจะมีข้อตกลงเชิงบวกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตามมา
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยมี 2 แง่มุม คือ มุมของความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการใช้กำลังระหว่างประเทศ และในมุมของการค้าระหว่างประเทศ โดยอย่างน้อยที่สุดทำให้ความคาดหวังว่ากำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ-จีน (Trade War) ที่ก่อนหน้านี้มีลุ้นว่าจะผ่อนคลาย อาจต้องล้มเลิกไป
โดยเมื่อคืนวานนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางถึงไต้หวันและกล่าวว่า เราเคารพในคำมั่นสัญญาของเราต่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อย้ำว่าเราต้องเคารพเสรีภาพและประชาธิปไตยของไต้หวันทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ทันทีที่เพโลซีถึงไต้หวัน โดยประกาศซ้อมรบทางทหารในวันที่ 4-7 สิงหาคมนี้ ในน่านน้ำและน่านฟ้าที่ล้อมรอบไต้หวัน เตือนไม่ให้มีเรือหรือเครื่องบินใดล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวระหว่างฝึกซ้อม
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนในไต้หวันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไป ซึ่งอาจสร้าง Downside ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากที่ IMF เพิ่งปรับลดคาดการณ์ World GDP Growth ปี 2022 จาก 3.6% มาอยูที่ 3.2% ซึ่งถือว่าอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ World Bank และ OECD ที่ปรับลดมาก่อนหน้านี้
ขณะที่ผลกระทบต่อประเทศไทย ในกรณีเลวร้ายน่าจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้การค้าระหว่างประเทศสะดุด ขณะที่บ้านเราโครงสร้าง GDP ราว 68% มาจากภาคการส่งออก
โดยไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนมากที่สุดราว 1.28 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2021 หรือคิดราว 22% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด และสหรัฐฯ ก็มีสัดส่วนการค้ากับไทยอันดับที่ 3 ราว 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด โดยหากรวมสัดส่วนการค้าทั้ง 2 ประเทศ อยู่ที่ 33% หรือ 1 ใน 3 ของประเทศคู่ค้าทั้งหมดของไทย
“ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ กลับมาอีกครั้ง อาจเปิด Downside ต่อประมาณการเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทย ที่มีสัดส่วนการค้ารวมทั้ง 2 ประเทศ อยู่ที่ 33% หรือ 1 ใน 3 ของประเทศคู่ค้าทั้งหมดของไทย”
ฝ่ายวิจัยระบุว่า ความกังวลความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ หากประเด็นดังกล่าวยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ประเด็นการยกเลิกกำแพงภาษียืดเยื้อออกไปได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีโอกาสพลิกกลับมาผันผวนอีกครั้ง
ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ จึงทำการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว ในช่วงที่ตลาดเกิดแรงกดดันจากการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ในทุกๆ รอบ กดดัน SET Index มีการปรับฐานเฉลี่ยราว -10% ต่อรอบ มีรายละเอียดดังนี้
- การขึ้นภาษีรอบที่ 1-2 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท (กดดันตลาดเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2018) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -10.4%
- การขึ้นภาษีรอบที่ 3 วงเงิน 2.0 แสนล้านบาท (กดดันตลาดเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2018) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -11%
- การขึ้นภาษีรอบที่ 4 วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท (กดดันตลาดเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2019) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -8.1%
พร้อมกับ Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในระดับเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาทต่อรอบ และหากพิจารณเป็นราย Sector พบว่า หลายๆ Sector ส่วนใหญ่ถูกกดดันแรงกว่าตลาด แต่ยังมีกลุ่มที่ Outperform อยู่ เช่น HELTH, TRANS, BANK, FIN เป็นต้น
สำหรับวันนี้ (3 สิงหาคม) บล.เอเซีย พลัส ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index 1,575-1,600 จุด ส่วน Toppick แนะนำหุ้น BEM, BAM เป็นหุ้น Recovery ในกลุ่มที่มีเกราะป้องกันความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และหุ้น PYLON กำไรฟื้นราคา Laggard พื้นฐาน
ในมุมกลับกัน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน มองว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไม่น่าสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด แม้ระยะสั้นอาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน จากความกังวลการยกระดับความขัดแย้ง แต่เราก็จะเห็นการเดินเกมอย่างระมัดระวังของทั้งสหรัฐฯ และจีน
ฝั่งสหรัฐฯ เตรียมกองกำลังทางทะเลและอากาศไว้พร้อม แต่ก็เลือกเส้นทางบินเข้าไต้หวันที่น่าจะเกิดข้อขัดแย้งน้อยที่สุด ส่วนจีนแม้จะออกแถลงการประท้วงสหรัฐฯ และประกาศซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2022 แต่ก็น่าจะเป็นเวลาหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางออกจากไต้หวันแล้ว เหตุการณ์ทั้งหมดบ่งชี้ว่าแม้สหรัฐฯ และจีนมีความจำเป็นต้องรักษาศักดิ์ศรีทางการทูต แต่ก็ระวังท่าทีไม่เดินข้ามเส้นความอดทนของอีกฝ่าย
ดังนั้นเรามองหลังการเยือนไต้หวันบรรยากาศลงทุนในตลาดภูมิภาคจะผ่อนคลายลง และประเด็นดังกล่าวคาดไม่สร้างผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันการพูดคุยเรื่องดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ที่อาจจะกลายมาเป็นปัจจัยบวกของตลาดในระยะต่อไป
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP