×

เศรษฐกิจอาเซียน ฟื้นแข็งแกร่ง…หนุนการส่งออกไทยโตต่อเนื่อง

11.08.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจอาเซียน

ช่วงต้นสัปดาห์หน้า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากหลากหลายเครื่องชี้วัดที่ส่งสัญญาณบวก โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่งด้วยตัวเลขสองหลัก โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยอดส่งออกในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐโตถึง 12.7% นับเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิดเร็วกว่าด้านอื่นๆ

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังหลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์ส่งออกไทยจะสามารถเติบโตด้วยอัตราเร่งต่อเนื่องเช่นนี้ต่อไปได้หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังกดดันกำลังซื้อและเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง แม้แต่เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปที่ยังคงมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งจีนที่ยังคงใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมสถานการณ์โควิดอยู่ โดยล่าสุดประกาศล็อกดาวน์เมืองซานย่า ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศทางตอนใต้ของจีน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ด้านมิติตลาดส่งออกของไทย หากไม่นับตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรปแล้ว จะเห็นได้ว่าตลาดอาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีสัดส่วน 25% ของส่งออกรวม นับเป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ถึงแม้ในปี 2564 ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิดอยู่ก็ตาม แต่ตัวเลขส่งออกตลาดอาเซียนก็ยังคงฟื้นตัวได้เร็ว โดยตลาดอาเซียน 5 ประเทศ (มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์) โตถึง 20% และ 15% ในตลาดกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) และมีทิศทางขยายตัวเร่งต่อเนื่องมาในปี 2565

 

โดยล่าสุดเดือนมิถุนายน การส่งออกไปอาเซียนทั้ง 9 ประเทศดังกล่าว ขยายตัวถึง 28% ทำให้เห็นยอดส่งออกครึ่งปีแรกของปี 2565 นี้อยู่ในระดับ 60% ของยอดส่งออกในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ขณะที่การส่งออกไปฝั่งตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีสัดส่วนรวมกัน 45% ของส่งออกรวม มีทิศทางชะลอตัวลงชัดเจน โดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวได้เพียง 0.8%

 

องค์การทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กองทุนเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 5% ในปี 2565-2566 จากหลายปัจจัยที่สนับสนุน ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภค การส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่องจากการเติบโตของราคาสินค้าเกษตร กลุ่มอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ และที่สำคัญ การกลับมามีบทบาทของภาคการท่องเที่ยว

 

สำหรับกลุ่มอาเซียน 5 ซึ่งมีมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกหลักในกลุ่ม พบว่าเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในภาคการผลิต โดยดัชนี PMI (Purchasing Managers Index) ที่คำนวณจากการสำรวจภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูงกว่า 50 สะท้อนถึงการขยายตัวของภาคการผลิต ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักที่ขยับราคาขึ้นสูง ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ยางพารา และก๊าซธรรมชาติของมาเลเซีย และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ของอินโดนีเซีย รวมทั้งการบริโภคขยายตัวดีจากรายได้การส่งออกและแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2-3% ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และที่สำคัญคือการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว สอดคล้องกับมุมมองล่าสุดของ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียและอินโดนีเซียในปี 2565 ขยายตัวที่ 5.1% และ 5.3% ตามลำดับ ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์เดิมจากปัจจัยเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

 

กลุ่มตลาด CLMV มีการส่งออกเติบโต 10% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 พบว่ามาจากการส่งออกไปตลาดกัมพูชาและเมียนมาที่ขยายตัวสูง ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในกลุ่มนี้ การส่งออกอยู่ในระดับทรงตัว สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2565 การส่งออกไปตลาดกลุ่ม CLMV มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากวิกฤตด้านเศรษฐกิจการเงินใน สปป.ลาว และเมียนมา ที่ประสบกับปัญหาค่าเงินอ่อนค่าและการขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้การส่งออกไปยังสองประเทศเผชิญข้อจำกัดที่ท้าทายมากขึ้น ขณะที่การส่งออกไปเวียดนามมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดย IMF คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเติบโต 6% และล่าสุดจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่เติบโตถึง 7.7% ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจเวียดนามทั้งปี 2565 ขยายตัวได้มากกว่า 7% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในอาเซียน ทำให้ภาพรวมการส่งออกไปตลาด CLMV ยังคงขยายตัวได้ แม้เป็นไปในอัตราแผ่วลงก็ตาม

 

จากปัจจัยบวกด้านแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ตลาดส่งออกอาเซียนมีแนวโน้มยืนหนึ่งเติบโตแข็งแกร่งได้ไม่ต่ำกว่า 14% ในปี 2565 หนุนภาคการส่งออกของไทยในภาพรวมให้ขยายตัวได้ 7.5% ในภาวะที่ตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้เงินบาทที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมภาคการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ทำให้ภาคส่งออกยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังวิกฤตสถานการณ์โควิด

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X