NASA อัปเดตแผนการล่าสุดของ Lunar Gateway สถานีอวกาศแห่งแรกในวงโคจรรอบดวงจันทร์ โดยกำหนดให้ลูกเรือภารกิจอาร์ทีมิส 4 เป็นนักบินอวกาศกลุ่มแรกที่จะใช้ชีวิตและทำงานบนสถานีอวกาศดวงจันทร์
หลังจากความสำเร็จของภารกิจอาร์ทีมิส 1 ในการทดสอบยานอวกาศและระบบต่างๆ ที่จำเป็นต่อภารกิจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 NASA วางแผนส่งมนุษย์กลุ่มแรกกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งกับภารกิจอาร์ทีมิส 2 ในเดือนกันยายน 2025 ก่อนตามด้วยภารกิจลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ของอาร์ทีมิส 3 ในเดือนกันยายน 2026
สำหรับภารกิจอาร์ทีมิส 4 NASA วางแผนส่งลูกเรือ 4 คนเดินทางไปกับยาน Orion ที่ติดตั้งอยู่เหนือจรวด SLS รุ่น Block 1B ซึ่งทรงพลังกว่าจรวดรุ่น Block 1 เพื่อรองรับการนำโมดูล I-Hab หรือโมดูลอยู่อาศัยของนักบินอวกาศ ร่วมเดินทางไปเชื่อมต่อกับโมดูล Habitation and Logistics Outpost หรือ HALO ที่ติดตั้งอยู่กับโมดูล Power and Propulsion Element หรือ PPE ในวงโคจร
โมดูล PPE จะรับผิดชอบในการผลิตพลังงาน ระบบสื่อสาร และระบบขับดันเพื่อปรับแก้วงโคจร ส่วนโมดูล HALO เป็นบริเวณอยู่อาศัยหลัก และเป็นที่ทำงานวิจัยของลูกเรือ ด้านโมดูล I-Hab ที่เดินทางไปกับอาร์ทีมิส 4 ถือเป็นส่วนต่อขยายเพื่อเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศ เช่นเดียวกับสนับสนุนการทำงานวิจัยเพิ่มเติมบน Lunar Gateway
เมื่อภารกิจอาร์ทีมิส 4 เดินทางไปถึงสถานีอวกาศดวงจันทร์ และสามารถเข้าอยู่อาศัยใน Lunar Gateway ได้สำเร็จ นักบินอวกาศ 2 คนจะแยกตัวไปลงจอดบนดวงจันทร์กับยาน Starship HLS เหมือนกับในภารกิจอาร์ทีมิส 3 โดย NASA ระบุว่า พวกเขาจะใช้เวลาประมาณ 6 วันทำงานอยู่บนพื้นผิว ในขณะที่นักบินอวกาศอีก 2 คนจะทำงานอยู่บนสถานี Lunar Gateway จนกระทั่งลูกเรือที่ลงไปดวงจันทร์เดินทางกลับขึ้นมาอีกครั้ง
ความแตกต่างระหว่างสถานี Lunar Gateway กับสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS คือเราจะไม่เห็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนลูกเรือบนสถานี Lunar Gateway เหมือนบน ISS เนื่องจากข้อจำกัดในการส่งมนุษย์เดินทางจากโลก-ดวงจันทร์ เช่นเดียวกับปัจจัยด้านการขนส่งเสบียงและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ทำให้สถานีอวกาศดวงจันทร์แห่งนี้จะถูกทิ้งร้างไว้จนกระทั่งลูกเรือของอาร์ทีมิส 5 เดินทางกลับไปปฏิบัติงานต่อในอนาคต
ทั้งนี้ NASA ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าภารกิจอาร์ทีมิส 4 จะออกเดินทางในช่วงไหน แต่คาดว่าการเดินทางสู่สถานีอวกาศดวงจันทร์แห่งแรกของมนุษยชาติจะเกิดขึ้นในปี 2028 เป็นอย่างเร็วที่สุด
ภาพ: NASA
อ้างอิง: