×

Apple เปิดให้ผู้ใช้งาน Watch 4, 5 และ 6 ในไทยใช้ ECG ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้แล้ว

22.01.2021
  • LOADING...
Apple Watch

หลังจากที่เปิดให้ผู้ใช้งาน Apple Watch ในประเทศอื่นๆ ทยอยใช้งานแอปพลิเคชัน ECG ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 เริ่มตั้งแต่ใน Apple Watch 4 ในที่สุดวันนี้ (22 มกราคม) Apple ประเทศไทยก็ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในไทยให้เริ่มเปิดใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

โดยผู้ใช้งาน Apple Watch 4, 5 และ 6 เท่านั้นถึงจะสามารถใช้งานแอปพลิเคชัน ECG ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ (รองรับการใช้งานเฉพาะบน iOS 14.4 และ watchOS 7.3 ซึ่งทาง Apple จะปล่อยให้ผู้ใช้งานอัปเดตซอฟต์แวร์เร็วๆ นี้ ไม่รองรับการใช้งานบน Watch SE)

 

วิธีการใช้งาน ECG นั้นสามารถใช้ได้โดยการเปิดตัวแอปพลิเคชันดังกล่าวบน Apple Watch ขึ้นมา จากนั้นให้เราเอานิ้วแตะ (ไม่กด) ไปที่ปุ่ม Digital Crown ที่บริเวณด้านข้างของตัวเครื่องค้างไว้เป็นเวลา 30 วินาที (วางข้อมือไว้บนโต๊ะหรือตักของตัวเองนิ่งๆ) ระหว่างนี้ตัวระบบจะทำงานควบคู่กับขั้วไฟฟ้าในผลึกบนฝาหลังของตัวเรือนเพื่ออ่านค่า ECG ตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ

 

ซึ่งเจ้า ECG จะสามารถจำแนกประเภทและอ่านจังหวะการเต้นของหัวใจได้ถึง 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. จังหวะไซนัส – รูปแบบกราฟการเต้นของหัวใจปกติ (50-100 BPM)
  2. AFib – จังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ (50-120 BPM)
  3. อัตราการเต้นของหัวใจช้าหรือเร็ว (ต่ำกว่า 50 BPM หรือสูงกว่า 120 BPM)
  4. ไม่สามารถสรุปผลได้ (ไม่สามารถตรวจผล ECG เนื่องจากเหตุผลด้านสรีระวิทยา หรือการไม่ได้วางแขนบนโต๊ะตามคำแนะนำการใช้งานตัวแอปพลิเคชัน)

 

ก่อนที่ข้อมูลการตรวจ ECG ทั้งหมดจะถูกบันทึกกลับไปยังแอปพลิเคชัน Health ใน iPhone เป็นรูปแบบกราฟหัวใจในไฟล์ PDF ซึ่งในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกตินั้น เราก็จะสามารถนำไฟล์ PDF ดังกล่าวไปเข้ารับการปรึกษาและพูดคุยกับแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว (การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้า ECG และการพบอาการผิดปกติต่างๆ โดย Apple Watch ไม่ถือเป็นผลการวินิจฉัยด้านการแพทย์ ผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องปรึกษาและเข้าพบแพทย์เพื่อยืนยันและวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ในลำดับถัดไป)

 

ความตั้งใจของ Apple ในการเปิดให้ใช้งานแอปพลิเคชัน ECG ได้นั้นก็เพื่อให้ผู้ใช้งาน Apple Watch สามารถตรวจวัดข้อมูลของการเต้นหัวใจของตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ รวมถึงเป็นการคัดกรองความผิดปกติของอัตราการเต้นหัวใจในขั้นต้น และยังช่วยให้ผู้ใช้งาน Apple Watch มีข้อมูลสุขภาพของตัวเองมาก ‘เพียงพอ’ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานที่ตรวจสภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติในขั้นต้นสามารถเข้ารับการปรึกษาหรือการตรวจโดยแพทย์มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง 

 

ทั้งนี้ ยังมีการเปิดเผยอีกด้วยว่าจากผลทดสอบการทำงานของ ECG นั้น เจ้า ECG บน Apple Watch ให้ผลความไวในการจัดประเภทภาวะ AFib อยู่ที่ 98.5% และจังหวะไซนัสอยู่ที่ 99.3% เลยทีเดียว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising