×

Apple ซุ่มทำสัญญากับรัฐ ในการทำบัตรประชาชนดิจิทัล แต่ถูกวิจารณ์หนัก! ใช้เงินภาษีจ่ายในบริการที่รองรับพลเมืองแค่ครึ่งประเทศที่ใช้ iPhone

16.11.2021
  • LOADING...
Apple

ข้อมูลจากเอกสารลับที่สำนักข่าว CNBC ได้รับ ระบุว่า Apple กำลังจะทำให้ iPhone เป็นเสมือนบัตรประชาชนดิจิทัลในสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ Apple ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ผู้ใช้จะสามารถจัดเก็บบัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐในแอปพลิเคชัน Wallet บน iPhone ได้เร็วๆ นี้ โดยสามารถจ่ายบิลต่างๆ ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้นจากฟีเจอร์ไบโอเมตริกซ์ของ iPhone อย่าง Face ID ซึ่งสามารถช่วยลดการถูกฉ้อโกงได้

 

แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดคำถามจากผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ว่า เหตุใดหน่วยงานท้องถิ่นจึงยอมยกอำนาจการควบคุมข้อมูลประจำตัวของพลเมืองให้แก่บริษัทเอกชนมูลค่า 2.46 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 80 ล้านล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นการรวมข้อมูลระบุตัวตนเข้ากับอุปกรณ์พกพาที่ล้ำสมัยอย่าง iPhone ทำให้เกิดความกังวลจากผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับความเสี่ยงของการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จที่สามารถจับตาดูข้อมูลส่วนตัวและความเคลื่อนไหวต่างๆ ของพลเมืองได้

 

โดยปกติแล้วสัญญาที่ตกลงกันระหว่าง Apple และรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ อย่างจอร์เจีย แอริโซนา เคนทักกี และโอคลาโฮมา จะเป็นสัญญาที่มีการตกลงอย่างลับๆ และจะมีการเซ็นสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เนื่องจาก Apple มีความกังวัลด้านข้อมูลรั่วไหลอย่างมาก

 

แต่ข้อตกลง 7 หน้าฉบับนี้ที่ได้มาจากการขอบันทึกสาธารณะ (Public Record Requests) ผ่านกฎหมายข้อมูลข่าวสารของสหรัฐ (Freedom of Information Act: FOIA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มอบอำนาจให้พลเมืองอเมริกันสามารถขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาลได้ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการทำงาน ซึ่งสามารถขอข้อมูลการทำงานของรัฐได้ในรูปแบบทั้งอีเมล กล้องติดตัวของตำรวจ และข้อความ เป็นต้น โดยข้อมูลสัญญาระหว่าง Apple และรัฐต่างๆ ที่สำนักข่าว CNBC ได้มานั้นส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า Apple มีอำนาจควบคุมเป็นอย่างมาก ซึ่งมากกว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการออกบัตรประจำตัวดิจิทัลนี้ด้วยซ้ำ

 

รัฐจอร์เจียและแอริโซนาจะเป็นรัฐแรกที่เสนอใบขับขี่ดิจิทัลที่อยู่ในแอปฯ Wallet นี้ แต่ยังไม่ได้มีการเปิดโปรเจกต์นี้อย่างเป็นทางการ แม้ว่าในสัญญาจะเป็นข้อตกลงที่เหมือนๆ กันในทุกรัฐ แต่สำนักข่าว CNBC ยังไม่ได้พิจารณาข้อตกลงในรัฐที่เซ็นสัญญาไปแล้วอย่างคอนเนตทิคัต ไอโอวา แมริแลนด์ ยูทาห์ และรัฐอื่นๆ อีก 4 รัฐ

 

โดยสัญญาระบุว่า บริษัท Apple จะมี ‘ดุลพินิจแต่เพียงผู้เดียว’ ในส่วนต่างๆ ที่สำคัญของโปรแกรมนี้ เช่น ประเภทของอุปกรณ์ที่จะสามารถใช้งานบัตรประจำตัวประชาชนดิจิทัลนี้ได้, วิธีที่รัฐจะต้องรายงานผลการใช้งานของโปรแกรมนี้, กำหนดการเปิดตัวโปรแกรม รวมถึงการตลาดการโปรโมตโปรแกรมที่รัฐต่างๆ จะต้องทำ และจะต้องผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจาก Apple ก่อน 

 

รัฐต้องตกลงที่จะจัดสรรบุคลากรและทรัพยากรที่เพียงพอตามสมควร (เช่น พนักงาน การจัดการโครงการ และเงินทุน) เพื่อสนับสนุนการเปิดตัวโปรแกรมตามเวลาที่ Apple จะกำหนด โดยหาก Apple ร้องขอหน่วยงานจะต้องแต่งตั้งผู้จัดการโครงการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตอบคำถามของ Apple และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 

 

รัฐต้องยอมรับความพยายามในวงกว้างที่ออกแบบมาเพื่อรับรองการนำบัตรประชาชนดิจิทัลนี้ของ Apple รวมถึงจะต้องนำเสนอคุณสมบัติใหม่ต่างแบบเชิงรุก และจะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อพลเมืองได้รับบัตรประจำตัวใหม่หรือบัตรทดแทน รัฐยังต้องช่วยกระตุ้นการนำบัตรประชาชนดิจิทัลใหม่ไปใช้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในรัฐบาลกลางอย่างกรมสรรพากรสหรัฐฯ (IRS) อีกด้วย

 

และบริการทั้งหมดนี้รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าบริการตามที่ตกลงกันไว้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารของกระทรวงคมนาคมแอริโซนาถูกถามว่า รัฐต้องจ่ายค่าบริการนี้หรือไม่ เขาตอบกลับมาว่า “ไม่มีการจ่ายเงินใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น”

 

ข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้คล้ายกับวิธีที่ Apple มักจะตกลงกับผู้ขายพาร์ตเนอร์ ซึ่งแทนที่รัฐจะได้รับการจ่ายเงินจาก Apple แต่รัฐกลับต้องแบกรับภาระทางการเงินค่าบริหารโปรแกรมต่างๆ “มันออกจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายมากกว่า ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผลเลย เพราะรัฐมอบอำนาจการผูกขาดให้กับ Apple ซึ่งรัฐสามารถเจรจาเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในสัญญาที่เท่าเทียมกันได้” เจสัน มิคูลา ที่ปรึกษาด้านฟินเทค กล่าวในการให้สัมภาษณ์ “ผมไม่รู้ว่าจะมีตัวอย่างอื่นในลักษณะนี้อีกหรือไม่ที่ระบบที่เป็นเจ้าของโดยรัฐบาลและข้อมูลประจำตัวของพลเมืองนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า”

 

ทั้งนี้ Apple ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นสำหรับบทความนี้ ส่วนตัวแทนของรัฐจอร์เจีย แอริโซนา เคนทักกี และโอคลาโฮมา ยังไม่ตอบสนองใดๆ ต่อคำร้องขอความคิดเห็น

 

อุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกกำลังแปลงทุกอย่างให้เป็นดิจิทัล ตั้งแต่การเงินไปจนถึงความบันเทิง และยังมีแรงผลักดันจากทั่วโลกในการสร้างระบบบัตรประชาชนให้เป็นแบบดิจิทัลที่ทันสมัยขึ้น แต่ความพยายามในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน ถูกนำไปใช้ในระดับชาติมากกว่าผ่านบริษัทเอกชนแบบสหรัฐฯ ตามข้อมูลของ ฟิลลิป ฟาน ศาสตราจารย์แห่ง Johns Hopkins Carey Business School

 

ผลลัพธ์ของสัญญาระหว่างรัฐต่างๆ กับ Apple ที่ได้คือ รัฐต้องแบกรับภาระในการบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีด้วยเงินภาษีของประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตัว Apple เอง และกลุ่มผู้ถือหุ้น ด้วยการทำให้อุปกรณ์ของบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

 

“ผลประโยชน์ของ Apple นั้นชัดเจนคือ ยอดขาย iPhone ที่จะมีมากขึ้น” ฟานกล่าวในการให้สัมภาษณ์ “ผลประโยชน์ของรัฐคือการรับใช้พลเมืองของตน แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐถึงคิดว่าการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของระบบนิเวศแบบปิดเป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ซึ่งรัฐใช้เงินภาษีไปกับบริการที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับคนได้แค่ครึ่งประเทศที่ใช้ iPhone เท่านั้น นั่นแหละคือจุดที่น่าสงสัย”

 

ทั้งนี้ แอปฯ Wallet ของ Apple ไม่ใช่แหล่งรายได้หลักของบริษัท แม้ว่ามันจะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากธุรกรรม Apple Pay ได้ก็ตาม ซึ่งรายงานของบริษัทแอปฯ Wallet และบริการอื่นๆ ถือเป็นคุณลักษณะเชิงกลยุทธ์ในการทำให้ iPhone มีคุณค่าต่อลูกค้ามากขึ้นเท่านั้น และเป็นการดึงลูกค้าไม่ให้เปลี่ยนไปใช้ของคู่แข่งอย่างแอนดรอยด์จาก Google

 

และที่สำคัญ ในสัญญายังระบุว่า Apple จะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลประจำตัวของผู้ใช้ หน่วยงานรัฐจะได้รับผลการยืนยันตัวตนตามที่ระบบประมวลออกมา โดย Apple ไม่รับประกันใดๆ เกี่ยวกับความถูกต้องและประสิทธิภาพของระบบ โดยในสัญญาไม่ได้ระบุถึงข้อจำกัดในการยืนยันตัวตน ทำให้เกิดคำถามว่า Apple จะสามารถกีดกันคู่แข่งต่างๆ ไม่ให้เข้ามาแข่งในบริการนี้ได้หรือไม่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising