“Per aspera ad astra” วลีภาษาละตินที่มีความหมายว่า ฝ่าผ่านความยากลำบากไปสู่ดวงดาว เป็นวลีและคติย้ำเตือนใจถึงความท้าทายในการพิชิตห้วงอวกาศ เพราะแม้ว่าจะมีผู้คนกว่า 600 ชีวิตที่เคยเดินทางไปนอกโลก แต่เส้นทางสู่ดวงดาวนั้นล้วนเต็มไปด้วยขวากหนาม และบางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย
หนึ่งในความสูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้นกับภารกิจแรกของโครงการ Apollo โครงการเรือธงที่มีเป้าหมายส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ ที่จบลงในเปลวเพลิงและการสูญเสียนักบินอวกาศ 3 คนไปแบบไม่มีทางที่จะช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ภารกิจดังกล่าวคือ Apollo 1 หรือเป็นที่รู้จักในนาม AS-204 ณ ขณะนั้นได้รับการวางแผนให้เป็นภารกิจแรกของโครงการ Apollo ที่มีนักบินอวกาศโดยสารไปด้วย เพื่อเป็นภารกิจทดสอบความพร้อมระบบต่างๆ ของยานอวกาศในวงโคจรรอบโลกนาน 14 วัน
ลูกเรือทั้งสามของ Apollo 1 ได้แก่ Gus Grissom ผู้บัญชาการมากประสบการณ์, Ed White ฮีโร่อเมริกัน ผู้ออกไปทำ Spacewalk หรือทำงานนอกยานอวกาศเป็นครั้งแรก และ Roger Chaffee นักบินอวกาศหน้าใหม่ ซึ่งทั้งสามได้ร่วมฝึกซ้อมขั้นตอนต่างๆ กับยานอวกาศลำใหม่ของ NASA รวมถึงในวันที่ 27 มกราคม 1967 ซึ่งเป็นการทำ Plugs-out Test หรือการทดสอบว่าระบบของยานอวกาศสามารถทำงานด้วยแบตเตอรี่ภายในโดยไม่เชื่อมต่อสายเข้ากับฐานปล่อยได้หรือไม่
การทดสอบดังกล่าวถูกมองว่าไม่เป็นอันตรายใดๆ เนื่องจากไม่มีการเติมเชื้อเพลิงให้กับตัวจรวดและยานอวกาศ อย่างไรก็ตาม ยานบังคับการ หรือยาน Command Module รุ่นแรกของโครงการ Apollo นั้นเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด จากทั้งระบบภายในที่มีความซับซ้อนกว่ายานอวกาศรุ่นก่อนหน้า และแรงกดดันของ Space Race ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต ทำให้ NASA และบริษัทผู้รับเหมาอย่าง North American Aviation ต่างเร่งพัฒนาจนมองข้ามปัจจัยความปลอดภัยบางอย่างไป
นักบินอวกาศของภารกิจ Apollo 1 ต่างกังวลถึงวัตถุที่สามารถติดไฟได้ง่ายอยู่ในยานอวกาศที่มีบรรยากาศประกอบด้วยออกซิเจน 100% เป็นจำนวนมาก จนพวกเขาถ่ายภาพทำท่ากำลังพนมมือสวดขอพรต่อหน้าโมเดลแบบจำลองยานอวกาศ พร้อมกับเขียนข้อความข้างหลังภาพส่งให้ Joseph Shea ผู้จัดการสำนักงานที่ดูแลยานอวกาศโครงการ Apollo ว่า
“ไม่ใช่ว่าพวกเราไม่เชื่อใจคุณนะ แต่รอบนี้เราอาจต้องพึ่งอะไรที่เหนือกว่าคุณหน่อยละ”
การทดสอบดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาเกิดขึ้นกับระบบต่างๆ โดยนักบินอวกาศทั้งสามได้เริ่มเข้านั่งประจำที่ในยานอวกาศตั้งแต่เวลา 13.00 น. จนล่วงเลยเข้าสู่ช่วงเย็นของวัน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบสื่อสารได้ จนกระทั่ง Gus Grissom บ่นออกมาว่า “เราจะไปดวงจันทร์กันได้อย่างไร ถ้ายังคุยกันแค่ 2-3 ช่วงตึกไม่รู้เรื่อง”
เพียงไม่นานหลังจากนั้น เมื่อเวลา 18.31 น. กระแสไฟฟ้าลัดวงจรในยานบังคับการของ Apollo 1 ทำให้เกิดประกายไฟขึ้น โดยที่นักบินอวกาศเริ่มรายงานว่ามีไฟไหม้เมื่อเวลา 18.31.04 น. โดยเปลวเพลิงค่อยๆ ลุกลามจากด้านซ้ายไปขวาอย่างรวดเร็ว ในยานอวกาศที่มีบรรยากาศเป็นออกซิเจน 100% พร้อมกับเสียงกรีดร้องที่ถูกบันทึกได้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ระบบสื่อสารทั้งหมดจะขาดหายไป
แม้เจ้าหน้าที่ประจำฐานปล่อยได้รีบรุดเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูง เขม่าควันล้อมรอบ และประตูยานที่ต้องถอดประกอบออก 3 ส่วนก่อนจะเปิดออกมาได้ ทำให้ความพยายามกู้ภัยแทบเป็นไปได้เลย โดยต้องรอนานกว่า 5 นาทีก่อนจะเปิดประตูทั้งหมดได้ ซึ่งก็สายเกินไปแล้ว
นักบินอวกาศทั้งสามเสียชีวิตอยู่ในยาน โดยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุว่าร่างของ Gus Grissom และ Ed White ไม่ได้อยู่ติดกับเก้าอี้ตนเอง อาจเป็นเพราะพวกเขาได้พยายามเปิดประตูยานออกมา โดยที่ Roger Chaffee เป็นคนเดียวที่ยังนั่งประจำที่เพื่อคอยสื่อสารกับศูนย์ควบคุมจนกว่าจะเปิดประตูได้ ตามแผนการที่ทั้งสามคนได้เคยซักซ้อมไว้
ความสูญเสียดังกล่าวส่งผลให้โครงการ Apollo หยุดชะงักไปนานกว่า 18 เดือน เพื่อปรับแก้ข้อผิดพลาดทั้งหมด และเป็นเหมือนการเรียกสติให้ NASA ดำเนินแผนการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามคำมั่นสัญญาของ John F. Kennedy อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้
เปลวเพลิงจากความสูญเสียของ Apollo 1 เป็นบทเรียนสำคัญที่ส่งให้ Apollo 11 พามนุษย์คนแรกไปลงเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ เช่นเดียวกับอาจช่วยชีวิตนักบินอวกาศทั้งสามของภารกิจ Apollo 13 ที่ถังออกซิเจนระเบิดระหว่างทางไปดวงจันทร์ไว้ได้ ซึ่งตอกย้ำว่าเส้นทางสู่ดวงดาวนั้นยากลำบากเสมอ และพวกเราจะไม่ลืมชื่อของผู้เสียสละทุกคนที่กรุยทางพามนุษยชาติเดินทางไปสู่หมู่ดาวได้สำเร็จ
ภาพ: NASA
อ้างอิง: