×

รัฐมนตรี APEC ออกแถลงการณ์ร่วม เดินหน้าภารกิจส่งเสริมการค้า-การลงทุน ย้ำจุดยืนเสียใจรัสเซียรุกรานยูเครน

19.11.2022
  • LOADING...
APEC

วานนี้ (18 พฤศจิกายน) เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ร่างเอกสารแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรี APEC 2022 (APEC Joint Ministerial Statement) หลังได้รับฉันทามติจาก 21 สมาชิกเขตเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นข่าวดีและเป็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้

 

โดยในการประชุมระดับรัฐมนตรี APEC ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการออกแถลงการณ์ร่วมได้ จากปัญหาข้อขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากกรณีการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

 

เนื้อหาหลักของแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้เน้นย้ำถึงคำมั่นในการบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ผ่านแผนปฏิบัติการ Aotearoa เพื่อบรรลุประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุขภายในปี 2040 เพื่อความรุ่งเรืองของประชาคม APEC

 

นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมการค้าการลงทุนผ่านการดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘Open. Connect. Balance.’ หรือการเปิดกว้างสำหรับทุกโอกาส เชื่อมโยงภูมิภาคในทุกมิติ และขับเคลื่อน APEC สู่การเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ผ่านแนวทางเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาแถลงการณ์ที่ถูกจับตามองคือท่าทีของ APEC ต่อสถานการณ์สงครามในยูเครน โดยร่างแถลงการณ์ระบุว่า ที่ประชุมรัฐมนตรี APEC ได้เน้นย้ำถึงจุดยืน เช่นเดียวกับที่แสดงในเวทีประชุมระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีมติแสดงความเสียใจอย่างรุนแรงที่สุดต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากดินแดนของยูเครนอย่างสมบูรณ์และไม่มีเงื่อนไข

 

โดยสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ส่วนใหญ่มีท่าทีประณามการทำสงครามในยูเครน และเน้นย้ำถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อมนุษย์และเศรษฐกิจโลก

 

“สมาชิกส่วนใหญ่ประณามอย่างรุนแรงต่อสงครามในยูเครน และเน้นย้ำว่ามันก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ และทำให้ความเปราะบางที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลกเลวร้ายยิ่งขึ้น ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มภาวะเงินเฟ้อ ขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหารสูงขึ้น ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน” แถลงการณ์ระบุ พร้อมชี้ว่า “APEC ไม่ใช่เวทีสำหรับแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง แต่ยอมรับว่าประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising