จากรายงานสถิติสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าโรคที่คร่าที่ชีวิตคนไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน คือ มะเร็ง อุบัติเหตุ และหัวใจ ซึ่งโรคหัวใจที่ว่านั้น รวมไปถึง รูมาติก หัวใจขาดเลือด และ ‘โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง’ (Aortic Aneurysm) ภัยเงียบ ที่คนไทยไม่คิดรับมือ และรู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว
สารภาพตามตรงว่าผู้เขียน รู้จักและเริ่มสนใจโรคนี้จากเหตุการณ์ดราม่า ‘การเสียชีวิตของเด็กชายวัย 15 ปี’ ที่เดินทางมารักษายังโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ด้วยอาการปวดท้องหนักอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในไม่กี่ชั่วโมง โดยทางญาติคนไข้กล่าวหาว่า ทางโรงพยาบาลไม่เต็มใจรักษาจนนำพาสู่การเสียชีวิต ซึ่งทางทีมแพทย์ก็ยืดอก ออกมาตั้งโต๊ะแถลงถึงอาการของโรคและขั้นตอนการรักษาที่พึงกระทำอย่างละเอียด
แต่สาเหตุที่ทาง THE STANDARD อยากบอกกล่าวให้คุณรู้จักกับโรคนี้ นั่นเพราะว่า หลังจากที่พูดคุยกับ นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ชี้แจ้งแถลงไขให้ข้อมูลแก่ THE STANDARD ด้วยตนเองเกือบหนึ่งวันเต็ม เราพบว่า จริงๆ มีคนไทยกำลังเป็นโรค ‘หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง’ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่รู้ตัวก็ตอนสายเกินแก้ หรือไม่ทันได้รักษาก็เสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
‘หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง’ หน้าตาเป็นอย่างไร
ทุกคนรู้ดีว่า ร่างกายของมนุษย์มี ‘หัวใจ’ เป็นอวัยวะหลักในการชี้วัดการมีชีวิต เป็นตัวกำหนด ‘วัฏจักรของสังขาร’ ที่เกิดมาแล้วก็ดับไป ทุกครั้งที่หัวใจเต้น 1 จังหวะ จะเกิดการบีบและคลายของกล้ามเนื้อหัวใจ เลือดในร่างกายที่ผ่านการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในระบบทางเดินหายใจ จะเดินทางออกจากหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) มุ่งหน้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ทีนี้ เมื่อหลอดเลือดแดงหลักที่ทำหน้าที่แข็งขัน วันหนึ่งผนังเกิดอ่อนแรง ไม่ยืดหยุ่นดังที่เป็นมา บางจุดทนไม่ไหว เกิดแปรสภาพ ขยายตัวจนโป่งพอง กลายเป็นถุงขนาดใหญ่กักเก็บเลือดไว้ และเมื่อพองมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เสี่ยงต่อการแตก หรือการกัดเซาะภายในหลอดเลือดเอง บางรายสามารถรักษาทันท่วงที ทว่าบางรายถึงแก่ชีวิต
อาการอย่างไรถึงเข้าข่ายว่าเสี่ยง
อาการของหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้นแปรผันตามการกดทับกับอวัยวะข้างเคียง กล่าวคือ โป่งพองจนไปเบียดอวัยวะไหนก็จะแสดงผลในบริเวณนั้น ตัวอย่างเช่น กรณีที่โป่งพองในทรวงอก ถ้าเป็นบริเวณด้านหน้า ก็เกิดอาการแน่นหน้าอกอยู่เนืองๆ แน่นมากหรือน้อยอยู่ที่ขนาดการโป่งของหลอดเลือด ถ้าโป่งใกล้กับกระดูกสันหลัง คนไข้จะรู้สึกปวดหลัง ถ้าโป่งใกล้กล่องเสียง จะรู้สึกเจ็บคอ ขณะเดียวกัน ถ้าโป่งพองในช่องท้อง ก็จะมีอาการปวดท้องรุนแรงมาก
ฉะนั้น การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองเบื้องต้น จึงทำได้ยาก และต้องอาศัยความชำนาญสูง เพราะส่วนใหญ่ถูกเหมารวมกับโรคโน่นนี่นั่นอยู่ตลอดเวลา บางรายที่ตรวจพบเจอเนิ่นๆ ก็โชคดีไป แต่บางรายถ้าไม่เคยแสดงอาการมาก่อน แล้วเกิดโป่งแตกแบบเฉียบพลันก็มักสายเกินแก้ ซึ่งจากสถิติโดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รอดชีวิต หลังจากเกิดภาวะการแตกตัวของหลอดเลือด
สาเหตุที่คนเป็นโรคนี้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการบริโภคอาหารขยะ (Junk Food) เสพสุรา ติดบุหรี่ และไม่นิยมออกกำลังกาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผนังเส้นเลือดอ่อนแอ ยิ่งบวกกับโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ รวมด้วย โอกาสการเกิดโรคย่อมง่าย
กินเหล้า สูบบุหรี่ สาเหตุใหญ่ให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง
สำหรับโรคนี้ ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ วัยเกษียณอายุ ที่ร่างกายเสื่อมตามสภาพ และอาจพบในเด็กได้ ในกรณีที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายระบบ เช่น กลุ่มอาการ Marfan ซึ่งมักมีความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่วัยหนุ่มสาว คนกลุ่มนี้มีรูปร่างผอมสูง แขนขาและนิ้วยาว เพดานปากสูง สายตาผิดปกติ และอาจมีโรคลิ้นหัวใจรั่วร่วมด้วย
“สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้ป่วยภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะมีกลุ่มอายุที่น้อยลง จากเดิมจะพบในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป จนถึง 60-70 ปี แต่ปัจจุบันกลับพบในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยกว่านั้น และล่าสุดสำหรับโรงพยาบาลกรุงเทพ พบในผู้ป่วยชายที่มีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น โดยผู้ป่วยรายนี้มาโรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกมาก เหนื่อย หายใจไม่ทัน และตัวเขียว หลังผ่านการวินิจฉัย และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครปฐม พบว่าเป็นเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองกัดเซาะ และต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน” นพ. วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล กล่าว
คุณหมอยังเผยอีกว่า สาเหตุที่คนเป็นโรคนี้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการบริโภคอาหารขยะ (Junk Food) เสพสุรา ติดบุหรี่ และไม่นิยมออกกำลังกาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผนังเส้นเลือดอ่อนแอ ยิ่งบวกกับโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ รวมด้วย โอกาสการเกิดโรคย่อมง่าย
ขนาดไหนเรียกโป่งพอง ขนาดไหนเรียกปกติ
ตามธรรมชาติของโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไม่ได้เกิดแบบปัจจุบันทันด่วน แต่เป็นการพอกพูนโดยใช้ระยะหลายปีในการก่อโรค ทว่าคนไข้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยตรวจพบก่อนหน้าแสดงอาการ เนื่องจากไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปี
เส้นเลือดแดงหลักเอออร์ตา (Aorta) ของแต่ละคนมีขนาดไม่เท่ากัน คุณหมอให้ข้อมูลว่าโดยเฉลี่ยทางด้านหน้าทรวงอกมีขนาดประมาณ 3.5 เซนติเมตร ด้านหลัง 3.0 เซนติเมตร ตรงส่วนช่องท้องจะลดเหลือ 2.0 เซนติเมตร และอาจเป็น 1.8 เซนติเมตร สำหรับคนเอเชีย
การสังเกตว่าคนนี้เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะหรือเปล่า ให้ดูที่ขนาดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด ซึ่งทางการแพทย์ส่วนใหญ่ นิยมระบุว่าเป็นโรคต่อเมื่อมีขนาดเติบโตมากกว่า 1 เซนติเมตรต่อปี และแนะนำให้รักษาทันทีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าจากของเดิม บางประเทศอย่างญี่ปุ่น ถ้าโตเกิดกว่า 5 เซนติเมตร ก็แนะนำให้รับการผ่าตัดแล้ว
การวินิจฉัยและการรักษา
จะรู้ว่าเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือไม่นั้น แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติ ตรวจอาการโดยการคลำหน้าท้อง และเอกซเรย์ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
ส่วนการรักษา จะเริ่มหลังจากประเมินสภาพ มีตั้งแต่การควบคุมปัจจัยที่ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น เหล้า บุหรี่ หรืออาหารบางจำพวก ตรวจติดตามและเฝ้าระวังการโตของหลอดเลือดเป็นระยะ รวมถึงการผ่าตัดสำหรับรายที่มีขนาดโตเกินไป และใส่ขดลวดในกรณีที่เกิดการแตกเซาะภายในหลอดเลือด
“เมื่อมีอาการของโรคดังกล่าว สิ่งที่ควรปฏิบัติคือการมาถึงโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที ภายใน 48 ชั่วโมง โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งได้รับการผ่าตัดในห้องผ่าตัด OR Hybrid ด้วยเครื่อง CT 256 Slice ที่จะทำให้การวินิจฉัยและรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด” นพ. วิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย
การดูแลตัวเองให้ห่างโรค แน่นอนว่าต้องออกกำลังกายเป็นประจำ กินผักผลไม้และพืชใบเขียว อดบุหรี่ สุรา หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดไขมันในเลือดและความดันสูง อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำด้วยละ
โรคนี้รักษาได้ รักษาง่าย แต่ต้องรู้ตัวเนิ่นๆ
- ในประเทศสหรัฐอเมริกา โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 13 และถ้านับเฉพาะเพศชายอยู่ในอันดับที่ 10
- ในประเทศไทยเอง โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือและความพร้อมในการรักษาที่สุดขณะนี้คือโรงพยาบาลศิริราช
- คนอายุมากกว่า 60 ปี มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคมากกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ 70 ปี มากกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ โดยเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่า
- อัตราความล้มเหลวของการผ่าตัดรักษาจากสถิติของโรงพยาบาลกรุงเทพ มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่เสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุแทรกซ้อนอื่นๆ
- สำหรับลูกค้า KTC ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จัดโปรแกรมให้สมาชิกบัตรสามารถเข้ารับบริการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองราคา 6,300 บ. จากราคาปกติ 7,000 บ. ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2560