×

สธ. เผย Antigen Test Kit วางขายให้ซื้อไปตรวจเองสัปดาห์นี้ 5 ยี่ห้อ ไม่แนะนำซื้อทางออนไลน์ หากพบติดเชื้อโทรสายด่วน 1330

โดย THE STANDARD TEAM
15.07.2021
  • LOADING...
Antigen Test Kit

วันนี้ (15 กรกฎาคม) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวเรื่องชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit

          

นพ.ธงชัย กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit รู้ผลรวดเร็วภายใน 15-30 นาที ก่อนหน้านี้ไม่นำมาใช้ทั่วไป เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ยังรองรับจำนวนผู้ป่วยได้ แต่ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนต้องการตรวจมากขึ้น จึงนำชุดตรวจมาใช้ในสถานพยาบาลก่อน เพื่อลดความแออัดรอตรวจจำนวนมาก และเร็วๆ นี้จะมีการจำหน่ายชุดทดสอบด้วยตนเอง แต่ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องซื้อมาตรวจทุกคน

          

นพ.ธงชัยกล่าวต่อว่า หากมีประวัติเสี่ยง มีอาการ แนะนำให้ไปโรงพยาบาล คลินิกชุมชนอบอุ่น สถานบริการสาธารณสุข กทม. หรือหน่วยตรวจเคลื่อนที่ ซึ่งมีการตรวจด้วยชุดทดสอบ รู้ผลรวดเร็ว มีระบบวางแผนดูแลรักษา เช่น อาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ ให้เครื่องวัดอุณหภูมิ วัดออกซิเจนในเลือด ให้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์ มีการติดตามอาการวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง หากมีอาการรุนแรงขึ้นจะส่งต่อไปโรงพยาบาล หากมีอาการรุนแรงปานกลาง (สีเหลือง) หรือรุนแรงมาก (สีแดง) ตั้งแต่แรกจะส่งไปโรงพยาบาล ผู้ที่ตรวจด้วย Antigen Test Kit หากเป็นผู้เสี่ยง และผลเป็นลบจะให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันหรือเมื่อมีอาการ ส่วนผู้ที่ซื้อมาชุดทดสอบมาตรวจด้วยตนเอง เมื่อผลเป็นบวกแนะนำให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อประสานหน่วยบริการใกล้บ้านให้การดูแลรักษาตามอาการต่อไป

          

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจโควิดมีข้อควรระวังเรื่องผลบวกปลอม คือ ร่างกายไม่มีเชื้อแต่ผลตรวจเป็นบวก สาเหตุอาจมาจากการปนเปื้อนสารต่างๆ บนโต๊ะที่ทำการทดสอบ ดังนั้น ก่อนทดสอบจะต้องทำความสะอาดโต๊ะ หรืออาจติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ชุดทดสอบแยกไม่ออก หรือขั้นตอนการตรวจไม่ถูกต้อง จึงเป็นเหตุผลว่าถ้าผลเป็นบวกและจะไปรักษาที่ชุมชนหรืออยู่รวมกับผู้ติดเชื้อรายอื่น จึงต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริงๆ ส่วนผลลบลวง คือ ผลตรวจเป็นลบ แต่ร่างกายมีไวรัส เนื่องจากเชื้อมีน้อยจนตรวจไม่พบ จึงต้องตรวจซ้ำ 3-5 วันหรือเมื่อมีอาการ หรืออาจดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ชุดตรวจกำหนดไว้ ดังนั้น ก่อนตรวจด้วยตนเองให้ประชาชนอ่านทำความเข้าใจก่อน อาจชมคลิปวิธีการใช้ที่ถูกต้องในเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

          

“ชุดตรวจมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ตลับทดสอบมีหลุมและแถบกระดาษกรองด้านล่าง มีตัวอักษร C และ T, ไม้ Swab พันสำลีในแพ็กเกจที่ซีลอย่างดี หากฉีกขาดแสดงว่าไม่ได้คุณภาพ และขวดน้ำยาในการตรวจ วิธีการใช้ให้นำไม้ Swab มาเก็บตัวอย่างจากจมูกวน 5-6 รอบ ทั้ง 2 ข้าง นำมาจุ่มลงในหลอดน้ำยา หมุนวนให้สารคัดหลั่งผสมกับน้ำยา จากนั้นจึงหยดใส่หลุมบนตลับ รอ 15 นาที ย้ำว่าไม่ควรตรวจในที่มีคนจำนวนมาก เพราะอาจไอจามกระเด็นใส่ผู้อื่น ควรอยู่ในพื้นที่สะอาด ทำความสะอาดโต๊ะ การอ่านผลตัว C ต้องมีขีดขึ้น หากไม่มีขีดแสดงว่าการตรวจใช้ไม่ได้ หากตัว T ขึ้นขีดคือผลบวก ตัว T ไม่ขึ้นขีดคือผลลบ หลังจากการใช้ให้เก็บใส่ถุงขยะและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดเพิ่มเติม” นพ.ศุภกิจกล่าว

          

ด้าน นพ.สุรโชค กล่าวว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ด้วยตนเองได้ ขณะนี้ยังไม่มีชุดตรวจใดที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ที่ใช้กับประชาชนทั่วไป โดยบริษัทต่างๆ อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารวิธีการใช้สำหรับประชาชน เช่น การแยงจมูกต้องลึกแค่ไหน ทำอย่างไร อ่านผลอย่างไร ทิ้งอย่างไร เป็นต้น เพื่อขึ้นทะเบียนการใช้ในประชาชน โดยคาดว่าวันนี้จะขึ้นทะเบียนได้ 3 บริษัท พรุ่งนี้อีก 2 บริษัท รวมสัปดาห์นี้จะมี 5 บริษัทที่ขายประชาชนทั่วไปได้ คาดว่าพรุ่งนี้จะเริ่มกระจายชุดตรวจไปขายได้ ซึ่งกำหนดขายในสถานพยาบาล คลินิก และร้านขายยา เพื่อให้คำแนะนำในการใช้แก่ประชาชน และคาดว่าสัปดาห์ถัดไปจะมีการทยอยขึ้นทะเบียนรายอื่นๆ อีก โดย อย. จะนำชื่อบริษัทที่ขายได้สำหรับประชาชนประกาศบนเว็บไซต์ อย.

      

“ชุดตรวจที่ใช้กับสถานพยาบาลจะไม่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป สำหรับชุดตรวจในประชาชนทั่วไปจะมีข้อความบนกล่องว่าใช้กับประชาชนทั่วไปได้ และในกล่องจะมีคำอธิบายการใช้ ดังนั้น ขณะนี้ที่เห็นขายในทางออนไลน์เป็นสินค้าที่อาจไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. หรือขึ้นทะเบียนแต่เป็นเฉพาะใช้สถานพยาบาล ซึ่งหากซื้อไปอาจเป็นชุดตรวจที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีคำอธิบายที่จะเอาไปใช้ต่อ ไม่แนะนำให้ซื้อทางออนไลน์ ส่วนการโฆษณาขายทางออนไลน์มีความผิด สามารถแจ้ง อย. ที่สายด่วน 1556 เนื่องจากการโฆษณาขายออนไลน์ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งจะมีการจำกัดข้อความ และแม้จะโฆษณาทางออนไลน์ ก็ต้องซื้อผ่านสถานพยาบาล คลินิก หรือร้านขายยาเช่นกัน” นพ.สุรโชคกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising