‘ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี’ ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ยังไม่มีใครคิดว่าเราจะมีวัคซีนใช้กันตั้งแต่ต้นปีนี้
เพราะปกตินักวิจัยใช้เวลาคิดค้นวัคซีนกันนานมากกว่า 5 ปี และถึงจะลดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนลงครึ่งหนึ่งก็อย่างน้อย 2 ปีอยู่ดี แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน วัคซีนอย่างน้อย 3 บริษัท ได้แก่ Pfizer, Moderna และ AstraZeneca ก็สามารถผลิตวัคซีนจนกระทั่งได้รับการอนุมัติในกรณีฉุกเฉินได้ภายในปีเดียวกันกับการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
นั่นก็คือ ‘ไม่ถึง 1 ปีเลยด้วยซ้ำ’ แล้วตอนนี้วัคซีนที่คิดค้นได้นั้นทั่วโลกฉีดกันไปได้กี่โดส ประเทศไหนฉีดวัคซีนได้เยอะที่สุด มาลองทายกันดูไหมครับ
คำตอบคือ ‘มากกว่า 300 ล้านโดส’ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data รวบรวมข้อมูลจนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2564 โดยอันดับที่ 1 คือ ‘สหรัฐอเมริกา’ 101 ล้านโดส รองลงมาเป็นจีน และอินเดีย (52 และ 28 ล้านโดส) แต่ถ้าคิดเป็นต่อประชากรทั้งหมด ‘อิสราเอล’ เป็นประเทศเดียวที่ฉีดวัคซีนไปแล้วเกิน 50% รองลงมาเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 35%
แต่ในระหว่างนี้ท่านผู้อ่านน่าจะได้ยินข่าว ‘ผลข้างเคียง’ รุนแรง คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วมีอาการรุนแรงตามมาเป็นระยะ เช่น อาการแพ้รุนแรง โรคไขสันหลังอักเสบ อาการลิ่มเลือดอุดตัน หรือแม้กระทั่งผู้ได้รับวัคซีนเสียชีวิต ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้รับการยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัยมาโดยตลอด แต่ข่าวดังกล่าวก็สั่นคลอนความเชื่อมั่นของเราไม่น้อย
‘อาการหลังจากฉีดวัคซีน’ ไม่เท่ากับ ‘ผลข้างเคียง’
ผมอยากให้ทุกท่านทำความเข้าใจระบบเฝ้าระวัง ‘อาการหลังจากฉีดวัคซีน’ หรือในทางวิชาการเรียกว่า ‘เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค’ (AEFI) ก่อนว่าทุกอาการที่ถูกรายงานเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นข่าวในเวลาต่อมา ไม่ได้เป็น ‘ผลข้างเคียง’ จากการฉีดวัคซีนเสมอไป แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว
ยกตัวอย่าง นาย ก. (ไม่ใช่นายกฯ นะครับ) มารับวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาล ระหว่างกลับบ้าน เดินสะดุดขอบฟุตปาธ หกล้มเป็นแผล แผลที่เกิดขึ้นจะเรียกว่าเป็น ‘อาการหลังจากฉีดวัคซีน’ ก็ได้ แต่ไม่ใช่ ‘ผลข้างเคียง’ จากวัคซีน ถูกต้องไหมครับ? เช่นเดียวกับอาการอื่นๆ ที่เป็นข่าว จะต้องระมัดระวังว่าอาจเป็นแค่แผลของนาย ก. ก็ได้
แต่กรณีนี้ต้องถามนาย ก. เพิ่มเติมว่า ก่อนจะเดินสะดุดมีอาการวิงเวียนศีรษะหรือไม่ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้หกล้ม และเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนได้
‘ระบบเฝ้าระวัง’ หรือการติดตามอาการหลังจากฉีดวัคซีนเป็นระบบที่มีอยู่ก่อนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ฉีดในเด็ก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย โดยตามนิยามของกรมควบคุมโรค อาการดังกล่าวหมายถึง อาการไม่สบายหลังจากได้รับวัคซีนภายใน 30 วัน หากแพทย์หรือพยาบาลพบความผิดปกติก็จะรายงานเข้าสู่ระบบ
ถ้าพบผู้มีอาการคล้ายกันจากการได้รับวัคซีนล็อตเดียวกัน หรือจากโรงพยาบาลเดียวกัน ก็จะทำให้สงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน เช่น วัคซีนล็อตนั้นไม่มีคุณภาพ การเก็บรักษาไม่เหมาะสม หากพบผู้มีอาการรุนแรง จะต้องมีการทบทวนสาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ โดยกรมควบคุมโรคอาจหยุดให้วัคซีนชั่วคราวก่อนก็ได้
กรณีวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยไม่ได้มีแค่การเฝ้าระวังแบบเดิมคือ ตั้งรับอยู่ที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีช่องทางให้รายงานอาการผ่าน Line OA ‘หมอพร้อม’ หรืออย่างผมที่ได้รับวัคซีนเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโทรศัพท์มาสอบถามอาการหลังจากฉีดไปแล้ว 1 วัน, 1 สัปดาห์ และตามกำหนดจะมีอีกครั้งที่ 1 เดือนด้วย
‘ความเป็นสาเหตุ’ หรือ ‘ความบังเอิญ’
นาย ก. (คนเดิม) ไม่ทันสังเกตว่าแผ่นปูฟุตปาธไม่เรียบ ก็เลยเดินสะดุดล้ม ไม่ได้มีอาการเวียนศีรษะแต่อย่างใด แต่วันถัดมาเขามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน 3 ครั้ง จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล อาการนี้เป็น ‘อาการหลังจากฉีดวัคซีน’ แน่นอน แต่จะสรุปว่าเป็น ‘ผลข้างเคียง’ จากวัคซีนหรือไม่ จะต้องมีการประเมิน ‘ความเป็นสาเหตุ’ (Causality) ก่อน
เพราะอาจเป็น ‘ความบังเอิญ’ ที่เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์จะเกิดขึ้นต่อจากกัน หรือเหตุการณ์ที่ 2 มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์อื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แรก อย่างหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ทำนองว่าฝนไม่ตกมาหลายวัน แต่พอวันที่เราซักผ้า ฝนกลับตกลงมา ซึ่งฝนตกน่าจะเป็นความบังเอิญ มากกว่าจะเป็นเพราะเราซักผ้าในวันดังกล่าว
การประเมินว่าอาการของนาย ก. เป็นผลมาจากวัคซีนหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญจะต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย วัคซีน และการให้บริการวัคซีน เพื่อนำมาทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากวัคซีน หรือสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายกัน แต่ต้องมีหลักฐานที่หนักแน่นพอ โดยหลักการที่ใช้ในการประเมินความเป็นเหตุผล เช่น
- ความสัมพันธ์ของลำดับก่อนหลัง (Temporal Relationship) คือ ผู้ป่วยได้รับวัคซีนก่อนเกิดอาการ แต่บางโรคมีปัจจัยเสี่ยงก่อนหน้าอยู่แล้ว
- เหตุผลทางชีววิทยา (Biological Plausibility) ที่นำมาอธิบายผลของวัคซีนกับการป่วย เช่น อาการไข้เกิดจากการที่วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ความสัมพันธ์ทางสถิติที่หนักแน่น (Strength of the Association) เช่น อัตราการเกิดอาการในผู้ที่ได้รับวัคซีนมากกว่าในประชากรทั่วไป
- หลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าวัคซีนเป็นสาเหตุ เช่น แพทย์อาจเจาะเลือดส่งตรวจหาสารภูมิคุ้มกันบางอย่างในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง
- หลักฐานก่อนหน้านี้ (Prior Evidence) รายงานว่าวัคซีนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่คล้ายกันมาก่อน เช่น วัคซีนยี่ห้อหนึ่งอาจทำให้เวียนศีรษะประมาณ 1%
แพทย์ซักประวัตินาย ก. ไม่พบอาการอย่างอื่น เช่น ผื่นแพ้ อาการหายใจลำบาก และวัดความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ จึงไม่น่าจะใช่อาการแพ้ ส่วนภรรยาที่มาส่งก็มีอาการคล้ายกัน แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เมื่อวานทั้งคู่รับประทานส้มตำปูปลาร้าด้วยกันตอนเย็น จึงน่าจะเป็นอาการของโรค ‘อาหารเป็นพิษ’ แพทย์จ่ายยารักษาตามอาการ และให้สังเกตอาการที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังอาการในผู้ที่ได้รับวัคซีนล็อตเดียวกับนาย ก. เพราะหากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ก็จะเข้าเกณฑ์การพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ เสียชีวิต เป็นอันตรายถึงชีวิต พิการ ความผิดปกติแต่กำเนิด และนอนโรงพยาบาลขึ้นไป ก็จะเข้าข่ายตั้งแต่แรก
นอกจาก ‘ผลข้างเคียง’ และ ‘ความบังเอิญ’ แล้ว อาการหลังจากฉีดวัคซีนยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น คุณภาพของวัคซีน การเก็บรักษาวัคซีน ความกังวลต่อการฉีดวัคซีน
ยิ่งฉีดเยอะ ยิ่งมีรายงานอาการหลังจากฉีดวัคซีนเยอะ
ใครทายถูกกันบ้างไหมครับที่ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 300 ล้านโดส ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีรายงานอาการหลังจากฉีดวัคซีน และปรากฏในข่าวเยอะตามมาด้วย เช่น ผู้ที่ได้รับวัคซีนในนอร์เวย์เสียชีวิต 23 ราย ในเกาหลีใต้เสียชีวิต 2 ราย ในยุโรปพบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 30 ราย (ในสหราชอาณาจักรก็มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่ไม่เป็นข่าว)
ยิ่งในประเทศที่มีระบบเฝ้าระวังเข้มแข็งก็จะทำให้มีรายงานตัวเลขมากกว่าประเทศอื่น เหมือนตำรวจตั้งกล้องจับความเร็วบนถนนทุกเส้นก็จะทำให้จับผู้ขับรถเร็วกว่ากำหนดได้มากขึ้น แต่ข้อมูลสำคัญคือ ‘ตัวหาร’ ว่า ‘ต่อจำนวนวัคซีนกี่ล้านโดส’ หรือ ‘ต่อผู้ที่ได้รับวัคซีนกี่ล้านคน’ เพราะจะทำให้เห็นความน่าจะเป็น รวมถึงความเสี่ยงของเหตุการณ์นั้น
ยกตัวอย่าง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 30 ราย จากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเกือบ 5 ล้านคน คิดเป็น 30/5 = 6 รายต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน ในขณะที่สถิติโดยทั่วไปแล้วพบผู้ป่วยโรคนี้ปีละประมาณ 1,000 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนจึงไม่ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป ส่วนกรณีผู้เสียชีวิต แทบเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวันอยู่แล้ว
ทั้งนี้ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ของ ‘ผลข้างเคียง’ ที่พบได้ยาก ทุกประเทศรวมถึงไทยจึงมีระบบเฝ้าระวังอาการหลังจากฉีดวัคซีน และเมื่อมีรายงานเข้ามาก็ต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน แต่เมื่อได้ยินข่าว ‘อาการหลังจากฉีดวัคซีน’ รุนแรง ผู้อ่านทุกท่านก็ต้องรู้เท่าทันความกลัวของเราด้วย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- แนวทางการเฝ้าระวังและตอบโต้เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
- Coronavirus (COVID-19) Vaccinations https://ourworldindata.org/covid-vaccinations
- Causality Assessment of an Adverse Event Following Immunization (AEFI) https://www.who.int/vaccine_safety/publications/aefi_manual.pdf
- Norway advises caution in use of Pfizer vaccine for the most frail https://www.reuters.com/article/health-coronavirus-norway-vaccine-idUSL1N2JT0XI
- South Korea investigates deaths of two who received AstraZeneca COVID-19 vaccine https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-southkorea-idUSKCN2AV0D5
- COVID-19 Vaccine AstraZeneca: PRAC investigating cases of thromboembolic events – vaccine’s benefits currently still outweigh risks – Update https://www.ema.europa.eu/en/news/covid-19-vaccine-astrazeneca-prac-investigating-cases-thromboembolic-events-vaccines-benefits
- COVID-19 vaccine AstraZeneca analysis print https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/968414/COVID-19_AstraZeneca_Vaccine_Analysis_Print.pdf
- Epidemiology of venous thromboembolism https://europepmc.org/article/med/26076949