×

เบื้องหลังเว็บนกฮูก อ่านเอา www.anowl.co เกาะกลางมหาสมุทรคอนเทนต์ที่ไม่ได้มีให้อ่านแค่เพียงนิยายออนไลน์

05.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ท่ามกลางการปรับภูมิทัศน์สื่อครั้งใหญ่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งสื่อเก่าที่ล้มหายตายจากและสื่อใหม่ที่เกิดขึ้น หากสังเกตกันให้ดีๆ จะพบว่าสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์นั้นส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ปรับตัว เปิดรับ และเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับสื่อดิจิทัล แต่กลุ่มผู้สูงอายุก็ยังมีความต้องการเสพคอนเทนต์อยู่
  • เว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์ใหม่ล่าสุด www.anowl.co เพิ่งถือกำเนิดขึ้นโดยได้รับการตอบรับจากบรรดานักอ่านอย่างล้นหลาม เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักเขียนในนิตยสารแนวนวนิยายที่ปิดตัวไป

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์แห่งใหม่ล่าสุดเพิ่งถือกำเนิดขึ้น โดยได้รับการตอบรับจากบรรดานักอ่านอย่างล้นหลาม ชนิดที่ว่าทันทีที่เปิดให้เข้าไปอ่านนิยายกันได้เพียงแค่ 15 นาทีแรกก็มีผู้แวะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์หลายพันคนจนโฮสต์ของเว็บรองรับไม่ไหว ทำให้ระบบล่ม เว็บไซต์ดังกล่าวมีชื่อว่า ‘อ่านเอา’ หรือ www.anowl.co ซึ่งมีมาสคอตโลโก้เป็นตัวนกฮูก

 

ก่อนจะเริ่มเล่าต่อ ขออนุญาตออกตัวก่อนว่า ตัวผู้เขียนเองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บดังกล่าวอยู่ จึงค่อนข้างที่จะลังเลใจในการที่จะเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวนี้ด้วยตัวเอง หากด้วยความกรุณาของบรรณาธิการบริหารของ THE STANDARD ที่มองเห็นถึงความน่าสนใจของเว็บไซต์อ่านเอา และเปิดไฟเขียวให้ จึงได้มีโอกาสมาเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวเบื้องหลังของเว็บนิยายออนไลน์แห่งนี้

 

จุดเริ่มต้นของ ‘อ่านเอา’ เกาะกลางทะเลท่ามกลางมหาสมุทรแห่งคอนเทนต์  

เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ช่วงปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะกับนักเขียนนวนิยายกลุ่มหนึ่งโดยบังเอิญ นักเขียนทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร และพงศกร ซึ่งใครที่เป็นคอนวนิยายไทยต่างก็ทราบดีว่านักเขียนทั้ง 3 นั้นเป็น ‘รุ่นใหญ่’ ในวงการที่มีผลงานต่อเนื่องมาหลายสิบปี และผลงานของทุกท่านก็ได้รับการต่อยอดนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  

 

กิ่งฉัตร, ปิยะพร ศักดิ์เกษม และพงศกร

 

เนื้อหาในการสนทนาอย่างย่นย่อที่สุดในวันนั้นอยู่ที่ว่า เมื่อนิตยสารเริ่มปิดตัวลงไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้นักเขียนนวนิยายไทยมืออาชีพที่เคยมีผลงาน อย่างต่อเนื่องนั้นมีพื้นที่ในการแสดงผลงานน้อยลง และแม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มการอ่านใหม่ๆ เกิดขึ้นให้นักเขียนได้นำผลงานไปลงกันได้โดยอิสระ และมีความหลากหลาย ซึ่งนั่นก็ถือเป็นข้อดีไม่น้อยประการหนึ่งที่โลกยุคปัจจุบันมอบให้ แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มการอ่านนิยายออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีนิยายอยู่เป็นจำนวนมาก และปริมาณคอนเทนต์ที่มหาศาล นั่นก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับนักเขียนนิยายในแนวนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง พี่เอียด-ปิยะพร ศักดิ์เกษม ได้กล่าวอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า

 

“เมื่อการอ่านเปลี่ยนแพลตฟอร์มย้ายเข้าสู่ดิจิทัล มันเหมือนกับเราตกลงไปในทะเล ซึ่งมีคอนเทนต์อยู่มากมายมหาศาล จนกระทั่งถ้าเราเอางานเราใส่ลงไปในมหาสมุทรอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะจมและหายไป โดยที่ไม่มีใครมองเห็น ดังนั้น หากไม่มีที่ทางที่เป็นหลักเป็นแหล่งให้กับมัน นักอ่านที่เขาเคยติดตามผลงานของเราก็จะหาเราไม่เจอ อย่างสมัยก่อนถ้าคนอยากอ่านงานของพวกเราก็ไปอ่านที่ สกุลไทย, ขวัญเรือน, ดิฉัน ฯลฯ ก็จะต้องเจอแน่ๆ แต่สมัยนี้กลายเป็นว่าหากันไม่เจอ มันเหมือนสายสัมพันธ์ของเราสะบั้นลงทีละเส้น ทีละสาย”

 

อย่างไม่ทันตั้งตัว รู้ตัวอีกทีผู้เขียนก็ได้กลายเป็นหนึ่งในทีมทำงานของเว็บไซต์นวนิยายออนไลน์แห่งใหม่ที่ ‘พวกเรา’ ตกลงใจว่าจะร่วมกันทำให้เกิดขึ้นมาเป็น ‘เกาะ’ กลางมหาสมุทรแห่งคอนเทนต์ อันจะเป็นที่นัดพบกันระหว่างนักเขียนและนักอ่านที่มีรสนิยมคล้ายๆ กัน ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน เว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์อ่านเอาก็เปิดตัวขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า วันแรกที่เปิดให้ผู้อ่านได้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์นั้น มีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างหนาแน่นจนทำให้เว็บล่มเลยทีเดียว นับเป็นการตอบรับอย่างอบอุ่นที่ทางทีมงานก็คาดไม่ถึง  

 

การที่ได้มีโอกาสได้มาทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานผู้ก่อร่างสร้างเว็บฯ นั้น ผู้เขียนได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากจนถึงขั้นที่เรียกว่า ‘เปิดโลก’ เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ได้อยู่ในแวดวงนวนิยายมาก่อนตั้งแต่ต้น จึงอยากจะนำสิ่งที่ค้นพบนี้มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้  

 

กลุ่มผู้รับสื่อที่มีอยู่จริงที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

 

นิตยสารไทยที่ทยอยปิดตัวกันในช่วงปีที่ผ่านมา

กลุ่มผู้อ่านหนังสือเหล่านี้มีสื่อออนไลน์อะไรให้เสพ?

 

ท่ามกลางการปรับภูมิทัศน์สื่อครั้งใหญ่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนั้นมีทั้งสื่อเก่าที่ล้มหายตายจากไปและสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นมา หากสังเกตกันให้ดี จะพบว่าสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นในออนไลน์นั้นส่วนใหญ่แล้วมีเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ปรับตัว เปิดรับ หรือเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับสื่อดิจิทัลที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่กับกลุ่มผู้สูงอายุที่การก้าวตามเทคโนโลยีนั้นอาจจะเป็นเรื่องลำบาก (ในช่วงแรกๆ) นั้นได้มีการผลิตคอนเทนต์ออนไลน์สำหรับพวกเขามากน้อยแค่ไหน

 

ตั้งแต่ก่อนที่เว็บไซต์อ่านเอาจะเปิดตัว เราได้มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเพียงระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ก็มีแฟนเพจนับหมื่น จำนวนอาจจะไม่ได้มากมายจนน่าตกใจ แต่ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจและเกินความคาดหมาย

 

อย่างหนึ่งที่แฟนเพจซึ่งจำนวนไม่น้อยนั้นเป็นคนวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงวัย มาแชร์ความคิดเห็น ความรู้สึก ให้ฟังทั้งในหน้าเพจและหลังไมค์ก็คือว่า ตั้งแต่นิตยสารแนวนวนิยายในสมัยก่อนอย่าง สกุลไทย และ พลอยแกมเพชร ปิดตัวลงไป ก็เหมือนกับว่าชีวิตของพวกเขาเงียบเหงาลง ไม่มีนิตยสาร ไม่มีนิยายให้อ่าน ไม่มีคอลัมน์ของนักเขียนที่คิดถึง ความรู้สึกโหยหาที่มีให้รออ่านอยู่ทุกสัปดาห์ เนื้อหาที่พวกเขาชอบอยู่ๆ ก็หายไป

 

ทุกคนจึงต่างมาแสดงความยินดีและขอบคุณทีมงานที่ทำเว็บนี้ขึ้นมา นับเป็นพลังบวกที่พวกเราได้รับจากบรรดาผู้อ่าน ทำให้เรามองย้อนกลับมาดูเนื้อหาที่มีอยู่ในออนไลน์ และตั้งคำถามว่า ‘หรือกลุ่มผู้อ่านกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้ง’ ไว้จากความก้าวหน้าของโลกยุคออนไลน์และการตลาดดิจิทัล ที่เน้นผลิตเนื้อหาสำหรับคนยุคใหม่ที่เข้าถึงออนไลน์ได้ง่ายและเร็วกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงคำถามและข้อสังเกตส่วนตัวของผู้เขียนและทีมงานอ่านเอาบางส่วนเท่านั้น

 

มีอะไรมากกว่าให้อ่านที่ ‘อ่านเอา’

อย่างไรก็ตาม เพื่อก้าวให้ทันตามยุคสมัยและธรรมชาติของสื่อยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ www.anowl.co จะตั้งใจยกโมเดลของนิตยสารในวันวานให้ขึ้นมาอยู่ในแพลตฟอร์มใหม่บนออนไลน์ แต่ก็พยายามที่จะปรับตัวไม่ให้ตัวเองเชย ทีมงานผู้ก่อตั้งเว็บมีทั้งคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นค่อนข้าง (ยัง) ใหม่ (อยู่) เราได้มีการจัดทำรูปลักษณ์ของเว็บให้เป็นมิตรและพยายามให้ถูกใจทั้งนักอ่านรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

 

โดยนอกจากเนื้อหาที่เพิ่งปล่อยออกมาคือนวนิยายเรื่องใหม่ ซึ่งมีทั้งนักเขียนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ผู้บุกเบิกที่เข้าร่วมกับอ่านเอาทั้ง 10 ท่าน อาทิ มาลา คำจันทร์, ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร, พงศกร, ปราปต์, ภัสรสา, ทอม สิริ, ปองวุฒิ รุจิระชาคร, กานต์ และ นาคเหรา ขน 10 นวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุดซึ่งไม่เคยได้รับการเผยแพร่ที่ใดมาก่อนให้ผู้อ่านได้อ่านกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โดยจะอัปโหลดตอนใหม่กันแทบทุกวัน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 เมษายนนี้เป็นต้นไป

 

ในเฟสที่ 2 ที่จะตามมานี้เราจะยังมีคอลัมน์ปกิณกะให้อ่าน ซึ่งนักเขียนส่วนหนึ่งที่มาเข้าร่วมก็เคยเป็นเจ้าของคอลัมน์ยอดนิยมในนิตยสารมาก่อน เช่น คอลัมน์ ‘เรื่องผีที่ฉัน (อยาก) เล่า’ โดย จินต์ชญา นั้นอวตารมาจากคอลัมน์ ‘เรื่องผีที่แม่เล่า’ ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร อันลือลั่น จากผู้เขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผี)’ และ ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผีนอกวัง)’ คอลัมน์ดูดวงประจำสัปดาห์ ฯลฯ​  และอื่นๆ อีกหลายคอลัมน์ที่จะตามมาอีกในอนาคต

 

นอกจากนี้เมื่อแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ก็เอื้อให้เรายังสามารถทำอะไรหลายอย่างที่แตกต่างได้อีก เพื่อเป็นการต่อยอดจากนิตยสารแนวนวนิยายในสมัยก่อนอย่างเช่น รายการออนไลน์ที่กำลังจะออกมาให้เห็นกันในเร็วๆ นี้ก็คือรายการ ‘อ่านอร่อย’ ซึ่งเป็นรายการทำอาหารที่นำเมนูเด่นจากนวนิยายชื่อดังเรื่องต่างๆ มาปรุงกันให้ได้ชม ได้ลองทำตาม และชิมรสกันดูจริงๆ

 

การจัด Podcast หรือรายการวิทยุสตรีมมิงที่เริ่มได้รับความนิยมในหมู่ผู้ฟังยุคใหม่ เพราะสามารถฟังกันตอนไหนก็ได้ เราก็จะมีรายการพูดคุยให้ความรู้ สาระ ความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนิยายและการเขียน การจัดกิจกรรมชักชวนผู้อ่านไปท่องเที่ยวตามรอยนวนิยายเรื่องดัง หรือจัดมื้ออาหารจากเมนูในนวนิยาย จัดฝึกอบรมการเขียนโดยนักเขียนของอ่านเอา ฯลฯ​ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราหวังจะทำให้เกิดขึ้นในเร็ววัน และคิดว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงด้วยข้อดีของสื่อสมัยใหม่ในการสร้างชุมชนนักเขียนกับนักอ่านอันอบอุ่น  

 

แม้จะยังมีคำถามว่า แล้วเว็บไซต์จะอยู่ได้อย่างไร จะหารายได้จากช่องทางไหน ในช่วงแรกนั้นขอสารภาพว่าเรายังไม่คิดถึงเรื่องนี้กันสักเท่าไร แต่คิดง่ายๆ กันเพียงว่า  “ตราบใดที่ผลิตเนื้อหาที่ดีๆ ออกมาก็คงจะพอมีหนทางไป” โดยเบื้องต้นเราตั้งใจกันว่าจะทำให้เว็บไซต์นี้เป็นเว็บฟรีคอนเทนต์ที่ใครๆ ก็เข้าไปอ่านได้ เพื่อที่จะรบกวนนักอ่านให้น้อยที่สุด และจากการตอบรับที่อบอุ่น เราก็เชื่อกันว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะหาผู้สนับสนุน ที่ทำให้อ่านเอาสามารถยืนหยัดก้าวเดินต่อไปได้อย่างแข็งแรงขึ้น

 

คุณผู้อ่านสามารถอ่านนิยายได้ผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และติดตามโซเชียลมีเดียของ ‘อ่านเอา’ ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ: อ่านเอา anowl.co , ทวิตเตอร์: @anowldotco, อินสตาแกรม: Anowl.co

FYI

 

นักเขียนผู้บุกเบิก 10 ท่าน และนิยายล่าสุดที่อ่านเอา

  1. ปิยะพร ศักดิ์เกษม นักเขียน Short List S.E.A. Write เจ้าของรางวัลนวนิยายดีเด่นและชมเชย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ 7 Book Awards ฯลฯ ผู้เขียนเรื่อง ทรายสีเพลิง, รากนครา ฯลฯ จะมาพบผู้อ่านที่นี่ด้วยนวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุด ดวงใจระบายสี
  2. พงศกร นายแพทย์นักเขียนผู้มีผลงานเขียนนวนิยายคุณภาพมาแล้วกว่า 50 เรื่อง มีผลงานที่เป็นที่รู้จัก ทั้งยังเคยได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มากมาย ได้แก่ รอยไหม, สาปภูษา, กำไลมาศ ฯลฯ มาพร้อมนวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุดแนวย้อนอดีต Irrawaddy…เกลียวกระซิบ
  3. กิ่งฉัตร มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 เล่มในระยะเวลา 30 ปี ภายหลังจึงเกิดนามปากกา ‘อลินา’ เพื่อเขียนเรื่องสืบสวนแบบ Cozy และแนวแฟนตาซีเหนือจริง พบกับ นิลนาคินทร์ หนึ่งในนิยายชุดนวหิมพานต์ ภายใต้นามปากกา ‘อลินา’
  4. มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) มอบผลงานเขียนเรื่องล่าสุด สร้อยหงส์แสง ไว้ให้อ่านได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น
  5. ภัสรสา มีผลงานนวนิยายมาแล้วมากกว่า 40 เล่ม อาทิ วงกตวิวาห์, ฑัณฑ์อารักษ์, กลซ่อนใจ ฯลฯ ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง นวนิยายเล่มล่าสุดของภัสรสาที่มอบเป็นของขวัญให้กับผู้อ่านที่อ่านเอาคือ เกมอาชา
  6. ปราปต์ แม้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะรู้จัก ‘ปราปต์’ ในแนวสืบสวนสอบสวน แต่ความจริงก็ยังแวบไปเขียนแนวอื่นอยู่เรื่อยๆ ผลงานล่าสุดของนักเขียนหนุ่มคนนี้ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับอ่านเอาคือ ลิงพาดกลอน
  7. ทอม สิริ นามปากกาของนักเขียนรุ่นใหญ่ ผู้เคยเป็นทั้งครีเอทีฟบริษัทโฆษณา นักแต่งเพลง นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เขาเลือกนักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพสุดท้าย สาปเคหาสน์ คือผลงานเรื่องล่าสุด
  8. กานต์ นักเขียนนิยายหน้าใหม่ แต่วนเวียนคลุกคลีอยู่กับหนังสือตั้งแต่เด็ก เป็นกำลังใจให้กานต์ และนิยายเรื่องแรก นิยาย (รัก) ไม่มีตอนจบ – The never ending (love) story ได้ที่ อ่านเอา
  9. ปองวุฒิ รุจิระชาคร นักเขียนที่มีผลงานหลากหลายแนว ปัจจุบันมีผลงานเขียนออกมาเกือบ 100 เล่ม ผลงานล่าสุดที่อ่านเอามีชื่อว่า บ่วงสุคนธา
  10. นาคเหรา ปัจจุบันใช้ชีวิตและอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ ภูษาแห่งราชา คือนวนิยายเรื่องล่าสุดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ฉลองพระองค์ของพระราชาแห่งแดนโสม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X