×

วิเคราะห์บทสรุปม็อบคนรุ่นใหม่ปี 63 จะจบลงอย่างไร

04.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • 5 บทสรุปที่อาจจะเกิดขึ้นกับปรากฏการณ์ม็อบคนรุ่นใหม่ปี 63 ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ที่เคยสัมผัสเหตุการณ์ 14 ตุลา และการรัฐประหารหลายครั้ง
  • สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมและน่าสนใจเป็นที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่า มีการเรียกร้องในประเด็นที่แตกต่างจากอดีตที่ไม่เคยมีใครเคยหยิบยกขึ้นมาก่อน ผลที่ออกมาจึงมีโอกาสเป็นไปได้ในเกือบทุกทาง
  • แต่สุดท้ายอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น “สิ่งที่ไม่เคยได้เห็น ก็อาจจะได้เห็น, สิ่งที่ไม่เคยได้ยิน ก็อาจจะได้ยิน”

ปรากฏการณ์การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่มีพัฒนาการมาหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แล้วมาสะดุดหยุดอยู่พักหนึ่งในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็กลับมาดำเนินการต่อ และเพิ่มความร้อนแรงและจำนวนมากขึ้น เมื่อเกิดการอุ้มหายวันเฉลิม และตามด้วยกรณีสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา

 

หลายคนวิเคราะห์หรือคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ทั้งอาศัยหลักวิชาการและไม่ได้อาศัยหลักวิชาการ โดยใช้วิธีคาดเดาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 ตลอดจนพฤษภา 35 และ 53 หรือแม้กระทั่งการใช้วิธีการทางโหราศาสตร์

 

ในส่วนของตัวผมเอง ในฐานะที่เป็นทั้งนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ และเคยได้ทันเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลา 16 ผ่านการรัฐประหารและกบฏมาหลายชุด ก็อดที่จะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ม็อบปี 63 นี้ไม่ได้ ส่วนจะถูกหรือผิดไม่สามารถรู้ได้ เพราะเหตุการณ์ยังมาไม่ถึง โดยผมเห็นว่าโอกาสที่ม็อบปี 63 จะจบลงอย่างไรนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ดังนี้

 

บทสรุปที่ 1: ยืดเยื้อ

รัฐบาลก็จะปล่อยให้ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ โดยพยายามยื้อไว้ให้นานที่สุด ชุมนุมได้ก็ชุมนุมไป โดยรัฐบาลประเมินว่าม็อบคงไม่ขยายจำนวนหรือยกระดับไปสูงกว่านี้ และหากไม่ไหวจริงๆ รัฐบาลก็อาจใช้วิธีการยุบสภาฯ เพื่อลดอุณหภูมิลง โดยรัฐบาลก็จะอ้างว่า ก็ทำตามข้อเรียกร้องคือการยุบสภาฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องแล้ว 

 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะมีหน้าที่พิจารณาและมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว (ถ้าเป็นไปตามที่วิปรัฐบาลให้สัมภาษณ์) แม้สภาฯ จะถูกยุบไปแล้วก็ตาม สสร. ก็จะยังคงอยู่ และคงใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ (คงเป็นปีโน่นแหละ) 

 

ส่วนประเด็นการยุติการคุกคามนั้นแน่นอนว่ารัฐบาลย่อมปฏิเสธ โดยอ้างว่าตนเองไม่ได้ทำอยู่แล้ว ซึ่งก็คงยื้อกันไปกันมาระหว่างม็อบกับรัฐบาลไปเรื่อยๆ

 

บทสรุปที่ 2: เจรจา สลายแกนนำ

ตั้งโต๊ะเจรจาแบบ Round Table ซึ่งก็จะมีปัญหาในเรื่องของการยอมรับ เพราะม็อบเองก็มีหลายกลุ่มก้อน เช่น เยาวชนปลดแอก, ประชาชนปลดแอก, ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ฯลฯ และวิธีนี้จะไม่ได้ผลเหมือนดังตัวอย่างเมื่อครั้งพฤษภา 53 ซึ่งไม่มีใครยอมใคร เพราะมีการถ่ายทอดสู่สาธารณะ ครั้นจะเป็นการเจรจากันวงปิดก็จะถูกหาว่าไปงุบงิบกัน แต่ผมก็เชื่อว่าวิธีการเจรจา (ลับๆ) ก็คงต้องมีอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลเห็นว่าจะเป็นวิธีการแยกสลายแกนนำที่ได้ผล

 

บทสรุปที่ 3: กดดันจนอ่อนกำลัง

รัฐบาลใช้วิธีการกดดันแบบที่จีนใช้กับม็อบฮ่องกง โดยการอดทนไม่ใช้วิธีการตอบโต้ม็อบที่ชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงเหมือนที่ใช้ในแผ่นดินใหญ่ แต่ใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมแกนนำจนม็อบอ่อนกำลัง แล้วตามสอยที่เหลือทีหลังเช่นในปัจจุบัน

 

บทสรุปที่ 4: ล้อมปราบ

รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงเหมือนกรณีเทียนอันเหมิน หรือกรณี 8-8-88 ของพม่า และกรณี 6 ตุลา 19 ของไทย ที่รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ แต่จะมีคนตายจำนวนมาก

 

บทสรุปที่ 5: ล้มกระดาน

ในกรณีนี้จะคล้ายๆ กับข้อที่ 4 แต่จะมีการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล ประกาศกฎอัยการศึก ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีการจับกุมแกนนำที่เป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่การรัฐประหารครั้งนี้ผลที่ออกมาจะแตกต่างจากที่ผ่านมาในอดีต เพราะจะมีการออกมาต่อต้านเป็นจำนวนมาก เหมือนกรณี 14 ตุลา 16 หรือกรณีกวางจูของเกาหลีใต้

 

ที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อนั้นมีโอกาสเป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมในวันเวลานั้นๆ เช่น การวางแผนการจัดการกับม็อบของรัฐบาล หรือถ้ามองจากฝ่ายม็อบ ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนและสถานที่ที่มีการจัดการชุมนุม แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนคนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น มิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมาในอดีตแม้ว่าจะมีม็อบออกมาจำนวนเป็นแสนก็ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลกลับถูกโค่นล้มด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ณ พ.ศ. นี้การล้มรัฐบาลโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะมีแหล่งที่มาเดียวกัน

 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กรณีที่อาจจะมีการจุดชนวนความรุนแรง เช่น การใช้อาวุธ หรือมีการโยนระเบิด หรือมีม็อบชนม็อบ ที่ไม่ว่าจะมาจากมือที่ 3 หรือมือที่ 1 เองก็ตาม ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่ความพลิกผันของสถานการณ์ได้ทุกเวลา

 

สำหรับนักรัฐศาสตร์หรือนักสังเกตการณ์ทางการเมืองล้วนแล้วแต่เห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันเกือบทั้งหมด ว่าสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมและน่าสนใจเป็นที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่า มีการเรียกร้องในประเด็นที่แตกต่างจากอดีตที่ไม่เคยมีใครเคยหยิบยกขึ้นมาก่อนคือ ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น มีการนำรูปแบบแฟลชม็อบมาใช้ มีการนำเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาใช้ในการรณรงค์ มีมวลชนที่มีอายุน้อยจนถึงระดับมัธยมต้นออกมาเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาในอดีต ผลที่ออกมาจึงมีโอกาสเป็นไปได้ในเกือบทุกทางดังที่ผมวิเคราะห์ไว้ใน 5 ข้อข้างต้น

 

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยเรานั้นนักรัฐศาสตร์ทั้งหลาย (รวมผมด้วย) ในอดีตต่างก็เคยฉีกตำราทิ้งมาแล้วทั้งนั้น เพราะปัจจัยที่แทรกซ้อน และนอกเหนือจากคาดการณ์เยอะมาก กล่าวโดยสรุปคือ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น “สิ่งที่ไม่เคยได้เห็น ก็อาจจะได้เห็น, สิ่งที่ไม่เคยได้ยิน ก็อาจจะได้ยิน” น่ะครับ

 

อย่ากะพริบตานะครับ

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X