วันนี้ (14 ตุลาคม) เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ปปง. กำลังจะประชุมคณะกรรมการธุรกรรมในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคมนี้ เวลา 13.30 น. โดยวาระสำคัญของการประชุมจะเกี่ยวกับการดำเนินการทางทรัพย์สินของ 2 คดีสำคัญ คือ
คดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และคดีทอง 99.99% หรือคดีของ ตั๊ก-กรกนก สุวรรณบุตร และ เบียร์-กานต์พล เรืองอร่าม เนื่องจากคณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงาน ปปง. เพื่อตรวจสอบธุรกรรมหรือรายการทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ดังนั้น กรณีคดีของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ถือเป็นเรื่องราวที่สังคมให้ความสนใจอย่างยิ่ง ตนจึงได้เตรียมเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อขอให้ที่ประชุมมีมติให้ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินในเชิงลึก
นอกจากนี้ ขอบเขตการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลหรือบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนธุรกิจ เพราะสำนักงาน ปปง. ประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
เทพสุเผยอีกว่า กรณีของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จากแนวทางการทำงานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจากรายงานข่าวสารของสื่อมวลชน พบว่าเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ส่วนมูลค่ารายการทรัพย์สินที่ สำนักงาน ปปง. จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อตรวจสอบก่อนมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ จะเป็นรายละเอียดตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. จะประสานข้อมูลรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงาน
จากนั้นสำนักงาน ปปง. และตำรวจ จะต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งในการทำงานร่วมกันนี้จะนำไปสู่มิติของการทำคดีอาญาที่ตำรวจจะตั้งประเด็นการสอบสวนว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ใครคือผู้ต้องหาและเกี่ยวข้องโดยพฤติการณ์ใด เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน จึงยังไม่สามารถสรุปตัวเลขมูลค่าและประเภทรายการทรัพย์สินได้
เทพสุกล่าวต่อว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม ที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม เดิมทียังตั้งวาระเพียงแค่การเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อมีมติให้ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินในเชิงลึก แต่ถ้าถึงวันนั้น ข้อมูลและพยานหลักฐานมีความสมบูรณ์มากเพียงพอ ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมก็สามารถมีมติออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบได้ทันที
อย่างไรก็ตาม คำสั่งยึดและอายัดจะต้องพิจารณาจากทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น จะไม่ใช้หลักการตรวจสอบแบบหว่านแห แต่ต้องดูว่าเข้าบทนิยามว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือมีพฤติการณ์ในการยักย้าย หรือกำลังจะยักย้าย, จำหน่าย, จ่าย และโอน หรือไม่ ส่วนจะเป็นทรัพย์สินที่กลุ่มผู้ต้องหาได้มาในช่วงเกิดเหตุที่บริษัทถูกผู้เสียหายร้องเรียน พ.ศ. 2564 หรือไม่นั้น ยืนยันว่าสำนักงาน ปปง. จะต้องตรวจสอบย้อนหลังเเน่นอนและต้องตรวจสอบให้รอบด้านด้วย
เมื่อถามว่าการตรวจสอบทรัพย์สินเชิงลึก รวมทั้งเตรียมมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินนั้น ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลใดบ้าง เทพสุระบุว่า สำหรับเรื่องที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมอยู่ในข่ายของผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งก็คือผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ตามที่ตำรวจ บก.ปคบ. ชี้แจง
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนที่จะอยู่ในรายชื่อถูกดำเนินการทางทรัพย์สินของคณะกรรมการธุรกรรม ประกอบด้วย
- บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด
- บอสกันต์-กันต์ กันตถาวร อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
- บอสแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์
- บอสมิน-พีชญา วัฒนามนตรี อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร
- บอสปีเตอร์-ณัญปพนต์ เศรษฐนันท์
- บอสหมอเอก-ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ