×

เมื่อวิกฤตโควิด-19 มาถึงวงการการศึกษา ‘อักษรเจริญทัศน์’ เปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาเป็นสนามแห่งการเรียนรู้

07.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • กว่า 80 ปีที่ ‘อักษรเจริญทัศน์’ ได้สร้างสรรค์ตำราเรียนให้กับวงการการศึกษาของไทย 
  • เวลานี้ ‘ตะวัน เทวอักษร’ สืบทอดกิจการมาสู่ทายาทรุ่นที่ 3 แล้ว และแน่นอนว่าย่อมหลีกหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงของวงการการศึกษา ยิ่งเมื่อต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 
  • การปรับตัวของอักษรเจริญทัศน์ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์เรื่องสื่อการเรียนการสอน แต่คือการยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้ห้องเรียนที่เคยชินเป็นสนามแห่งการเรียนรู้ ทั้งครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมในวันข้างหน้า

กว่า 80 ปีที่ ‘อักษรเจริญทัศน์’ ได้สร้างสรรค์ตำราเรียนให้กับวงการการศึกษาของไทย เวลานี้สืบทอดกิจการมาสู่ทายาทรุ่นที่ 3 แล้ว และแน่นอนว่าย่อมหลีกหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงของวงการการศึกษา ยิ่งเมื่อต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 

 

อักษรเจริญทัศน์ กับวิสัยทัศน์ของการศึกษายุคใหม่ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) ที่ให้ผู้สอนและผู้เรียนร่วมเรียนรู้และตั้งคำถามไปด้วยกัน ส่งเสริมกระบวนการคิด วิเคราะห์ และตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ที่ต้องให้เด็กเผชิญกับปัญหาและร่วมกันหาทางแก้ เพื่อเปลี่ยนจากห้องเรียนธรรมดาเป็นสนามแห่งการเรียนรู้

 

THE STANDARD คุยกับ ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทายาทผู้รับไม้ต่อการสร้างสรรค์อาณาจักรแห่งนี้ เพื่อตอบโจทย์การศึกษาที่กำลังเปลี่ยนแปลง

 

สิ่งที่ผมได้ตระหนักอันหนึ่งก็คือ เขาไม่ได้แค่ต้องการหนังสือเรียน เขาต้องการการเรียนรู้ที่ดี การศึกษาที่ดี มันถึงจุดประเด็นว่าสิ่งที่เราต้องสร้างให้เขาก็คือไม่ได้ทำแค่หนังสือเรียน แต่ต้องทำให้กระบวนการเรียนรู้มันดี

 

 

 

อยากให้เล่าถึงความเป็นมาของอักษรเจริญทัศน์ และการรับไม้ต่อดูแลอาณาจักรสื่อการศึกษาแห่งนี้

ผม ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกบริษัทหนึ่งก็คืออักษรเจริญทัศน์ ที่ทำหนังสือเรียนที่นักเรียนและครูทั่วประเทศไทยรู้จักดีอยู่แล้ว 

 

เล่าย้อนหลังนิดหนึ่งว่าบริษัทนี้อายุประมาณ 80 ปี จากจุดเริ่มต้นก็คือเราเป็นคนขายหนังสือ ย้อนไปสมัยเมื่อ 80-90 ปีที่แล้ว หนังสือที่ซื้อขายกันก็คือหนังสือสำหรับพระ คนที่มีความรู้สมัยก่อนก็คือพระ

 

พอต่อมาเราไม่ได้อยากเป็น Book Seller เฉยๆ เราก็มารับจ้างพิมพ์ เป็น Printer แล้วเราก็ไม่ได้อยากจบที่แค่นั้น เราอยากมี Value Add เราอยากเป็น Publisher อยากเป็นเจ้าของคอนเทนต์ในหนังสือ แล้วพอต่อมาเราก็ไม่ได้อยากเป็นแค่นั้น แต่อยากเป็น Education Publisher เป็น Publisher ที่มีคุณค่าสูง ก็คือทำหนังสือเรียน เป็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนเมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้วผมก็มาทำงานที่นี่

 

​ผมมาจากนอกวงการ ไม่ได้อยู่วงการนี้มาก่อน ก็เข้ามาด้วยความที่เราไม่มีบริบทตรงนี้ เรามาใหม่ เราจึงเริ่มต้นจากกระดาษขาว ผมมาถึง ผมก็ไปสัมภาษณ์ Stakeholders ต่างๆ คุณครู พ่อแม่ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารเขตการศึกษาต่างๆ ว่า ผมมาใหม่เลย ผมจะสร้าง Value Add ให้กับคุณอย่างไร ให้คุณสร้างคุณค่าได้เพิ่มขึ้น

 

 

 

สิ่งที่ผมได้ตระหนักอันหนึ่งก็คือ เขาไม่ได้แค่ต้องการหนังสือเรียน เขาต้องการการเรียนรู้ที่ดี การศึกษาที่ดี มันถึงจุดประเด็นว่า สิ่งที่เราต้องสร้างให้เขาก็คือ ไม่ได้ทำแค่หนังสือเรียน ต้องทำให้กระบวนการเรียนรู้มันดี เพื่อยกระดับนักเรียน ยกระดับเจเนอเรชันต่อไปของประเทศไทยให้มันดี 

 

ผมคิดว่าเป็น Definition ใหม่ขององค์กร เราก็คิดว่าแล้วเราจะสร้างสินค้าที่ดีอย่างไร Learning Designer คือคำตอบ เราต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ครู นักเรียนปฏิสัมพันธ์โดยมีการต่อยอดความรู้ มีอินสไปเรชัน ครูถามคำถามเยอะๆ ถามคำถาม Why & How เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ถามแต่ What Where When ครูก็จะมีไอเดียถามคำถามที่เด็กต้องคิดอีกระดับหนึ่ง ครูนึกไม่ออกว่าจะจัดกิจกรรมที่เด็กๆ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีมอย่างไร เราก็มีไกด์ไลน์ในการจัดกิจกรรมให้ครูดำเนินห้องเรียนได้อย่างน่าสนใจ ผมเรียกกระบวนการนี้ว่า Learning Design Process 

 

ผมยกตัวอย่างในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ครูโยนโจทย์ว่า นักเรียนช่วยกันมาออกแบบชุมชนในฝันของพวกเราหน่อย นักเรียนไปดูด้วยนะว่าในชุมชนควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีสาธารณูปโภคต่างๆ มีระบบขนส่งคมนาคม นักเรียนก็ลงมือปฏิสัมพันธ์กัน ศึกษาว่าควรอออกแบบอย่างไร แล้วครูก็บอกเพิ่มว่า ออกแบบเมืองด้วย ชุมชนกลุ่มที่หนึ่งอยู่บนเชิงเขา กลุ่มที่สองอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำ กลุ่มที่สามบนที่ราบสูง กลุ่มที่สี่อยู่บนเกาะ กลุ่มที่ห้าอยู่ที่ลุ่มภาคกลาง ครูก็บอกว่าพวกเธอไปดูแล้วออกแบบเมืองด้วย แล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง นักเรียนก็ระดมสมอง ออกแบบ วาด Mindmap เอาดินน้ำมันมาปั้น สร้างเมืองจริงๆ แล้วมาพรีเซนต์ให้เพื่อนฟัง แล้วครูก็ยืนเป็นโค้ชฟังอภิปราย ชวนห้องเรียนทั้งห้องประสานกัน มันก็เป็นห้องเรียนที่สำหรับเด็ก 10 ขวบ ได้เรียนรู้เยอะไปหมด แทนที่ครูจะยืนเล่าให้ฟัง ชุมชนมีองค์ประกอบหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่แบบนี้สนุกกว่าเยอะ เด็กได้ทำงานร่วมกัน ได้ปฏิสัมพันธ์กัน

 

งานเราไม่จบง่ายๆ จนถึงวันนี้ก็ไม่จบ มันคืองานที่เราไปยกระดับจิตใจของมนุษย์ เราต้องทำให้ดีขึ้นทุกวัน

 

 

กระบวนการที่มาถึงจุดนี้ กระบวนการทั้งหมดของอักษรเจริญทัศน์ผ่านการพูดคุยจนออกมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร

ผมทำหลายอย่าง เราอยากรู้ว่า Good Practice ในโลกนี้อยู่ที่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร ผมไปนั่งในห้องเรียนที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ผมไปดูมีเดียที่เขาใช้ ผมต้องการไปดูอนาคต แต่มันไม่ง่ายแค่ไปดูที่หนึ่งแล้วมาประยุกต์ใช้ แต่ต้องดูว่าโมเดลแต่ละที่มีตรงไหนเหมาะสมกับเรา ตรงไหนเลือกมาได้ เราเลือกสิ่งที่เหมาะในจังหวะกับประเทศไทย เรามาฟอร์มสมมติฐาน พอเราได้ เราก็มาทดสอบ เราตั้งตุ๊กตาขึ้นมา เราไปทำ Rapid Testing กับครู กับนักเรียน

 

ทีมพวกเราลงไปเยี่ยมโรงเรียน ไปทดสอบจริงๆ แล้วมาพัฒนา ปรับปรุง ตรงไหนที่ดี ที่ลูกค้าให้ฟีดแบ็กมา เรามาปรับปรุง ค่อย Shape มัน 

 

งานเราไม่จบง่ายๆ จนถึงวันนี้ก็ไม่จบ มันคืองานที่เราไปยกระดับจิตใจของมนุษย์ เราต้องทำให้ดีขึ้นทุกวัน เราเข้าไปเยี่ยมโรงเรียน ไปคุยกับครู เอาสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาเป็น Cycle ตลอดเวลา

 

 

จากประสบการณ์ชีวิตของคนที่ใช้ตำราของอักษรเจริญทัศน์มา กว่าจะเป็นตำราหรือสื่อการสอน มีกระบวนอย่างไร

ผมเล่าให้เห็นบริบทครบถ้วนนิดหนึ่ง หลักสูตรของประเทศไทย กระทรวงจะกำหนดเป็น Bullet Point ว่าในชั้นประถม นักเรียนต้องมีการบรรลุ Bullet Point เหล่านี้ สิ่งที่กระทรวงละไว้ก็คือ โรงเรียนและครูมีหน้าที่พัฒนาหลักสูตรในรายละเอียดแล้วเอาคอนเทนต์ไปเติมกับหลักสูตรนั้นให้มันเต็ม โดยคาดหวังว่าเป็นงานที่ครูทำ เราเป็นจิ๊กซอว์ที่ไปเติมตรงนั้น คือครูไม่ได้เป็น Expert ในการทำทั้งกระบวนการ เราก็ไปเสริม เราก็คิดว่าจาก Bullet นี้เขาต้องสอนอย่างไร เราก็เอาด้านของ Learning Design มา มีกระบวนการสอน มีกิจกรรม มีคำถาม มีการทำการทดลอง มีระบบการวัดประเมินผลจาก Process นี้ และคอนเทนต์ที่จำเป็นที่จะใส่ไปคือตรงไหน เราก็ผลิตจิ๊กซอว์ชิ้นต่างๆ ใส่เข้าไป ทั้งหมดนี้ใช้ทั้ง Learning Designer และ Content Designer แล้วทั้งหมดนี้ก็ผสานเป็นสื่อการสอนที่ครูเอาไปได้ง่าย ไปต่อยอดได้ เราคิดว่าอุปกรณ์ที่เราทำมันจะช่วยให้ครูผู้สอนกลายเป็นครูยอดเยี่ยมได้อย่างไร เราคิดตลอดเวลาว่าสิ่งที่เราทำแอ็กชันโดยครูผู้สอน จะเอาไปแอ็กชันอย่างไร

 

 

เป็นกระบวนการเดียวกับที่อักษรเจริญทัศน์กำลังจะปรับตัวไปเป็น Aksorn On-Learn ด้วยไหม 

ใช่ คือดิจิทัลก็เป็นแค่แพลตฟอร์มที่เอา Learning Process เอาคอนเทนต์ไปแปะบนจานใหม่ เดิมอาจใช้จานชนิดที่หนึ่ง แต่ตอนนี้เราก็เปลี่ยนเป็นเอาจานที่สองมาเสิร์ฟ แต่ Learning Process ที่ดี คอนเทนต์ที่ดี ก็ยังต้องอยู่ จากที่เราเรียนผ่านตำรา พอมีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มแล้ว คุณภาพมันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

 

ผมคิดว่าต้องดีขึ้น เพราะพอเป็นดิจิทัลมันก็ง่าย อย่างสมมติเดิมครูต้องสาธยาย กระบวนการการเกิดฝน ครูต้องอธิบายเยอะมากถ้าไม่มีมัลติมีเดีย แต่ถ้ามีแอนิเมชัน ก็จะเห็นอะไรง่ายขึ้น นั่นคือเรื่องของมีเดีย และในส่วน Learning Process จากเดิมที่ครูกับนักเรียนคุยกันโดยไม่มีเครื่องมือ แต่ตอนนี้ครูจะแจกการบ้าน นักเรียนทำ ก็จะมีฟีดแบ็กได้โดยมีดิจิทัล เราไม่ได้คิดว่าเครื่องจักรจะมาแทนครู แต่จะทำให้เป็น Enabler ที่ทำให้การเรียนมันง่ายขึ้น

 

 

เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดปกติ สิ่งที่จะมาคือ Mindset ใหม่ต่อกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ครูจะเปิดใจรับมากขึ้น นักเรียนก็จะได้ประสบการณ์

 

Aksorn On-Learn จะตอบโจทย์สิ่งที่เล่ามาอย่างไร

มันเป็นแพลตฟอร์มที่มี 2 คอนเทนต์ หนึ่งคือการเอาหนังสือเรียนมาวาง แล้วบนหนังสือเรียนนั้นก็ปักมีเดียต่างๆ ลงไป ที่ทำให้เห็นภาพต่างๆ ของคอนเซปต์ชัดเจนขึ้น เช่น สมมติคุณคลิกไปบนหนังสือที่มีรูปภาพ คุณคลิกไปก็เจอแอนิเมชัน พลิกไปพลิกมา เอามือถือมาส่อง คุณได้เห็นทั้งระบบหายใจ ได้เห็นการไหลของออกซิเจน ว่าเวลาหายใจมันไหลไปสู่ปลายมือได้อย่างไร อันนี้มันก็จะฝังในหนังสือดิจิทัล มันเป็นคอนเทนต์ที่อยู่บนหนังสือ ช่วยทำให้ข้อจำกัดการสื่อสารบนตัวหนังสือมันหายไป กับ อันที่สอง เรามีตัวช่วย มีคนมาเล่าประเด็นนั้นแบบย่อยๆ สมมติว่าการใช้งานมี 2 แบบ หนึ่ง ครูคิดว่าจะจัดกิจกรรม จะสอนอย่างไรให้น่าสนใจ ครูก็มานั่งดู แล้วเอาไปใช้ต่อ นั่นคือการประยุกต์ใช้ที่หนึ่ง อันที่สอง ครูอาจให้นักเรียนดูวิดีโอนี้ แล้วพอดูเสร็จก็ลุกมาอภิปรายกัน ก็จะได้ใช้เวลาในห้องเรียนที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ได้ใช้เวลากับการอภิปรายแลกเปลี่ยน เขาเรียกว่า Flipped Classroom

 

 

ที่บอกว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทั้งผู้เรียนและครูให้เข้าถึงเนื้อหา แล้วจะสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างไร

มันจะอยู่ใน Lesson Plan ซึ่งสิ่งที่ผมพูดไปนั้นมันคือของที่อยู่ต่อหน้าเด็ก แต่ก็จะมีคู่มือครู ซึ่งเป็น Innovation ที่เราทำคือ Teaching Guide ว่าจะทำกิจกรรมแบบไหนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน หรือว่าจะมีไกด์ไลน์ว่าจะดูแนวคำตอบ ตอบอย่างไร จะเข้าใจอย่างไร หรือก็จะมีเกร็ดแนะว่า ถ้าพูดอย่างไรจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น มีมุมความรู้ที่จะต่อยอดไปมีเดียอื่นๆ มีแนวการตั้งคำถาม Why & How เป็น Adaptive Teaching แบบอะนาล็อก ที่ครูเอาไปปรับได้ว่าถ้าเจอนักเรียนรู้เรื่องพวกนี้และเบื่อ จะเอาอะไรไปกระตุ้น

 

ผมไปเยี่ยมโรงเรียนเยอะ ไปสัมภาษณ์ก็จะเจอครูที่ขอบคุณเราว่าอักษรเจริญทัศน์ไปช่วยเยอะมาก ทำให้เรารู้สึกว่างานที่เราทำมีอิมแพ็ก มีรีวอร์ดกลับมา หรืออย่างมีครู เอาแพลตฟอร์มของเราไปทำการตัดวิดีโอคลิปส่งให้เด็กดู ครูเอาไปประยุกต์

 

ความตั้งใจหรือเป้าหมายของ Aksorn On-Learn เป็นอย่างไร

ในระยะสั้นเราต้องการสนองให้กระบวนการเรียนหยุดไม่ได้ โรงเรียนหยุดแต่กระบวนการเรียนรู้ต้องไม่หยุด ไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แล้วในระยะยาว เราทำมาเพื่ออะไร เราทำเพื่อให้ปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนในห้องเรียนเปลี่ยนไป เราต้องการให้มี Learning Design ที่ดี มีคอนเทนต์ที่ดี ให้อยู่ในจุดที่ครูดึงไปใช้ได้ ซึ่งเป็นตัวที่ Consolidate ทั้งหมดมากองอยู่ที่หน้าครู แล้วครูก็เลือกไปใช้ได้ง่าย สะดวก นักเรียนก็ได้ประสบการณ์

 

​การทรานส์ฟอร์มพวกนี้เป็นการที่เราคิดว่าเราจะช่วยครูอย่างไร จะสร้างพลังให้ครูอย่างไร เราคิดเสมอว่าสิ่งที่เราทำจะสร้างให้พฤติกรรมเขาเปลี่ยนไปโดยทำไม่ยาก ได้อย่างไร เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรม ทุกคนไม่อยากเปลี่ยนถ้ามันยาก

 

 

พอเกิดโควิด-19 ก็เกิดการปรับตัว เกิด New Normal ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษา มองว่าการปรับเปลี่ยนจะเกิดอะไรใหม่ๆ กับโลกของการศึกษาบ้าง

Education เป็นเรื่องที่ดูเหมือนปรับตัวช้าสุด ก่อนหน้าโควิด-19 อย่างฟินเทคก็มาแล้ว อีคอมเมิร์ซก็มานานแล้ว แต่ Edtech ไม่เคยงอกขึ้นมาเลย แต่พอมีโควิด-19  มา มันทำให้คนจำต้องลองโมเดลใหม่โดยไม่มีตัวเลือก มันจึงให้โอกาสสำหรับ Paradigm ใหม่ ที่คนเป็นแสนๆ คนต้องทดลองใช้มัน เพราะฉะนั้นเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดปกติ สิ่งที่จะมาคือ Mindset ใหม่ต่อกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ครูจะเปิดใจรับมากขึ้น นักเรียนก็จะได้ประสบการณ์ ทุกวันนี้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เราทำงานกันหนักเลย

 

 

การตัดสินใจมาทำงานด้านนี้ถึง 13 ปี มีอะไรเป็นคีย์สำคัญ

ง่ายๆ เลยผมคิดว่ามาทำทุกวันนี้เรากำลังสร้างอิมแพ็กบนคน 10 ล้านคนที่เป็น นักเรียนอยู่ทุกวันนี้ และอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะเป็นวัยทำงานที่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นคนที่ปลูกต้นกล้าที่แข็งแกร่งเพื่อประเทศไทยในวันหน้า และเด็กเหล่านี้ดีไม่ดีอยู่ในมือเราทั้งนั้น ถ้าเรา Enable ให้ครูสร้างห้องเรียนที่ดี เพื่อสร้างโอกาสให้เด็ก 10 ล้านคนนี้ มันชื่นใจ ทุกวันมาทำงานเรารู้สึกสนุก ผมไม่เคยรู้สึกว่าเรามาทำงานเพราะมาทำงาน ผมนึกหน้าเด็ก 13 ขวบที่เรียนในโรงเรียนมัธยมสักที่ในจังหวัดไกลๆ ถ้าเขาได้มีประสบการณ์ที่ดี เป็นผู้ใหญ่ที่ดี เราก็จะภูมิใจว่าเราได้มีส่วนทำให้เขามีชีวิตที่ดี ซึ่งเรามีปฏิสัมพันธ์กับโรงเรียนทั่วประเทศตลอดเวลา เรามีโรงเรียนที่เราเข้าไปช่วยเหลือเยอะมาก มีโรงเรียนมาขอสิ่งต่างๆ ที่ถ้าเราทำได้เราก็ช่วย ถ้าเรามีแรง เราทำ เราทำเพราะมันสนุก

 

คุณปู่ผมเคยถามผมตอนเด็กๆ ว่าโตขึ้นผมอยากทำอะไร ผมก็เล่าไป แล้วปู่ผมก็ถามอีกว่า แล้วตอนที่ผมไม่อยู่แล้ว ผมอยากให้คนพูดถึงผมว่าอะไร คำตอบที่ผมบอกปู่คือ อยากให้สมาชิกครอบครัวดีใจที่มีผมเป็นสมาชิก มีความอบอุ่น มีความรักจากผมอยู่ในครอบครัว ผมอยากให้เพื่อนๆ พูดถึงผมว่าเขาดีใจที่ผมได้เข้ามาปรากฏในชีวิตเขา ผมก็อยากให้สังคมวงกว้างมองว่าผมได้ทำให้สังคมดีขึ้นตลอดชีวิตที่ผมมีชีวิตอยู่

 

 

สิ่งที่อักษรเจริญทัศน์ทำอยู่ก็คือเป็นทั้งการมอบโอกาสและสร้างโอกาสพร้อมๆ กัน ขณะที่การศึกษาไทยเวลาคนพูดถึงตลอดคือความเหลื่อมล้ำ จะเป็นไปได้ไหมที่จะมีวันที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี

ภาพที่เราใช้ตลอดเวลาเราประชุมบริษัท เราจะพูดถึงโรงเรียนเล็กๆ ในจังหวัดห่างไกล ในที่ที่ไกลจากตัวเมือง Top of My Persona คือครูเหล่านั้น นักเรียนเหล่านั้น ครูที่ขี่จักรยานยนต์มาสอน นักเรียนที่เดินมาเรียน เราต้องการอุดช่องตรงนั้น โรงเรียนในกรุงเทพฯ มันดีเยอะ แต่ถ้าเราดึงโรงเรียนข้างล่างขึ้นมา ประเทศไทยก็จะดีมหาศาล อย่างคู่มือครูที่เราทำ ครูในโรงเรียนที่ดีที่สุดของประเทศไทยเขาไม่ต้องการหรอก เขารู้ว่าเขาต้องสอนอย่างไร แต่ครูที่อยู่ใน Persona เหล่านั้นเขาได้ประโยชน์จากไกด์ไลน์ที่เราทำให้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising